ค่าเงินบาทเช้านี้เปิด 33.55 บาท/ดอลลาร์ "แข็งค่า" เทียบกับปิดวันศุกร์
ค่าเงินบาทเช้านี้เปิดตลาด 33.55 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าเมื่อเทียบกับราคาปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาที่ระดับ 33.63 บาท/ดอลลาร์
ฝ่ายธุรกิจตลาดเงินและธุรกรรมระหว่างประเทศ ทีเอ็มบีธนชาต (ttb) เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเช้านี้เปิดตลาด 33.55 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าเมื่อเทียบกับราคาปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาที่ระดับ 33.63 บาท/ดอลลาร์ ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงหลังจากข้อมูลความเชื่อมั่นผู้บริโภคและยอดขายบ้านมือสองในสหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าคาด อีกทั้งมีรายงานกิจกรรมทางธุรกิจในสหรัฐฯ ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 17 เดือน นอกจากนี้ข้อมูลจาก LSEG ยังบ่งชี้ว่าเฟด อาจลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.44% ในปีนี้

อย่างไรก็ตาม แม้เฟดยังไม่มีแนวโน้มลดดอกเบี้ยในอีกหลายเดือนข้างหน้า แต่ตลาดยังคงคาดการณ์ว่า เฟดอาจเริ่มลดดอกเบี้ยในเดือน ก.ย.หรือ ต.ค.
สัปดาห์นี้นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีค่าใช้จ่ายด้านการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เพื่อติดตามแนวโน้มการดำเนินนโยบายของเฟด รวมถึงข่าวเกี่ยวกับนโยบายภาษีของสหรัฐฯ
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดพันธบัตรไทย 3,299 ล้านบาท และขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย 689 ล้านบาท
กรอบค่าเงินวันนี้และกลยุทธ์แนะนำ
USD/THB 33.40- 33.70
*แนะนำ ซื้อ 33.40 / ขาย 33.70
EUR/THB 34.80 - 35.30
* แนะนำ ซื้อ 34.80 / ขาย 35.30
JPY/THB 0.2225 - 0.2265
* แนะนำ ซื้อ 0.2225 / ขาย 0.2265
GBP/THB 42.15 - 42.55
AUD/THB 21.10 - 21.50

ด้าน นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.55 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 33.61 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในลักษณะ Sideways Down (แกว่งตัวในกรอบ 33.52-33.64 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทได้แรงหนุนอยู่บ้าง ตามการจังหวะการย่อตัวลงบ้างของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังผู้เล่นในตลาดเพิ่มโอกาสเฟดเดินหน้าลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง หรือ 50bps ในปีนี้ เป็นราว 80% จากรายงานดัชนี PMI ภาคการบริการของสหรัฐฯ ที่สำรวจโดย S&P Global ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งปรับตัวลดลงสู่ระดับ 49.7 จุด (ดัชนีต่ำกว่า 50 จุด สะท้อนถึงภาวะหดตัว) แย่กว่าที่ตลาดคาดไว้ว่าจะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 53 จุด พอสมควร อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง จากความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย หลังตลาดการเงินสหรัฐฯ อยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) นอกจากนี้ เงินบาทยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง ตามการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ (XAUUSD)
สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลงต่อเนื่อง หลังผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ลงบ้าง อีกทั้งบรรดาสกุลเงินหลัก อย่าง เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ก็แข็งค่าขึ้นชัดเจน ตามความหวังว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะเดินหน้าทยอยขึ้นดอกเบี้ยได้เพิ่มเติมในปีนี้
สำหรับในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรติดตามแนวโน้มการเจรจาสันติภาพเพื่อยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน สถานการณ์การเมืองเยอรมนี หลังรับรู้ผลการเลือกตั้ง และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อย่าง อัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ รวมถึงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทย
แนวโน้มของค่าเงินบาท
เรามองว่า โมเมนตัมการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาอาจชะลอลงบ้าง และโดยรวมเงินบาทอาจแกว่งตัว Sideways โดยต้องจับตาทิศทางเงินดอลลาร์ รวมถึงราคาทองคำ (ที่เสี่ยงย่อตัวลง หรืออย่างน้อยก็แกว่งตัว Sideways) ส่วนฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติในตลาดทุนไทย อาจยังมีความผันผวนอยู่พอสมควร และมีโอกาสเห็นแรงขายทำกำไรสถานะถือครองบอนด์ไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติได้บ้าง
ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า แม้เงินดอลลาร์จะอยู่ในแนวโน้มอ่อนค่า ทว่าการอ่อนค่าก็อาจชะลอลงบ้าง โดยเงินดอลลาร์อาจพอได้แรงหนุนอยู่ หากบรรยากาศในตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) หรือในกรณีที่อัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ ออกมาสูงกว่าคาด นอกจากนี้ ควรติดตามพัฒนาการสถานการณ์การเมืองเยอรมนี หลังรับรู้ผลการเลือกตั้งและแนวโน้มการเจรจาเพื่อยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่จะกระทบต่อทิศทางบรรดาสกุลเงินฝั่งยุโรป โดยเฉพาะเงินยูโร (EUR)
แนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward
มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 33.30-33.85 บาท/ดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วงโมงข้างหน้า คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.45-33.70 บาท/ดอลลาร์