เปิดพฤติกรรมคนไทยลงทุนคริปโท "รู้น้อย-อยากรวยเร็ว"
เปิดพฤติกรรม คนรุ่นใหม่ลงทุนคริปโทเคอร์เรนซี พบว่ามีความรู้น้อย แต่อยากรวยเร็ว อีกทั้งเพื่อความสนุก-เข้าสังคม และใช้แพลตฟอร์มต่างประเทศ เจ๊งไม่รู้ตัว
สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงาน "พฤติกรรมการลงทุนของคนรุ่นใหม่ในตลาด Cryptocurrency " ระบุว่า สกุลเงินดิจิทัลได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากโอกาสในการทำกำไรจากการลงทุนที่มีอัตราผลตอบแทนสูง
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนไทยโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ยังมีพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดความสูญเสียอย่างไม่ทันตั้งตัว เนื่องจากตลาดคริปโตฯ เป็นสิ่งใหม่ที่ยังมีความเสี่ยงในหลายด้าน ผู้ลงทุนจึงต้องทำความเข้าใจ และศึกษาอย่างรอบคอบเพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุน
ทำไมบิตคอยน์วิ่ง "ขึ้น-ลง" ตามตลาดหุ้น เมื่อนักลงทุนสถาบันร่วมวงคริปโท
บทเรียนนักลงทุนคริปโท ตั้งหลักอย่างไรดี เมื่อตลาดปั่นป่วน
บิตคอยน์ฟื้น แต่ไม่มั่นคง เมื่อกองทุนกลับมาซื้อสินทรัพย์เสี่ยงตามหุ้น
คริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency หรือสกุลเงินดิจิทัล เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลชนิดหนึ่งที่พัฒนาบนระบบเทคโนโลยี blockchain ซึ่งมีความน่าเชื่อถือ ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมโยงให้คนทั่วโลกเข้าถึงได้
ปัจจุบัน ถือเป็นสินทรัพย์ที่ผู้คนทั่วโลกให้ความสนใจในการเข้ามาลงทุน และหาผลตอบแทนจากการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก โดย ณ สิ้นปี 2564 คริปโตฯ มีมูลค่าตลาดถึง 2.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากต้นปี 2563 ที่มีมูลค่าเพียง 1.9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นกว่า 12.4 เท่าตัว และทำให้ในปี 2564 เพียงปีเดียวมีผู้ครอบครองคริปโตฯ เพิ่มขึ้นจาก 106 ล้านคนทั่วโลกในเดือนมกราคม เป็น 295 ล้านคน ณ สิ้นปี
เช่นเดียวกับประเทศไทย จากข้อมูลของศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล พบว่า ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2565 มีจำนวนบัญชีซื้อขายคริปโตฯ ถึง 2.5 ล้านบัญชีเพิ่มขึ้น 10 เท่าจากปี 2563 ที่มีจำนวนเพียง 1.7 แสนบัญชีเท่านั้น
จากรายงานของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พบว่า ในปี 2564 ไทยมีมูลค่าการซื้อขายคริปโตฯ เฉลี่ยประมาณ 1.4 แสนล้านบาทต่อเดือน โดยการเพิ่มขึ้นดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าคนไทยให้ความสนใจในคริปโตฯ มากขึ้น
อย่างไรก็ดี ในช่วงปี 2564 – 2565 มูลค่าของคริปโตฯ ในตลาดปรับตัวลดลงอย่างมาก จากมูลค่าสูงที่สุด 2.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 เหลือเพียง 8.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงเดือนมิถุนายน 2565 สาเหตุมาจากความไม่มีเสถียรภาพของเศรษฐกิจและการเมืองในระดับโลก และความไม่เชื่อมั่นในตลาดคริปโทฯ จากเหตุการณ์การล่มสลายของเหรียญ LUNA – UST และแพลตฟอร์มการซื้อคริปโตฯ ซึ่งส่งผลกระทบต่อนักลงทุน อาทิ กองทุนที่ลงทุนในคริปโตฯ ถูกคำสั่งศาลให้ล้มเลิกกิจการ หลายบริษัทเสี่ยงล้มละลาย การฆ่าตัวตายของนักลงทุนที่สูญเสียจากการลงทุน
ทั้งนี้ แม้ว่าผลกระทบต่อไทยจะไม่ชัดเจนดังเช่นกรณีของต่างประเทศ แต่เมื่อพิจารณาพฤติกรรมการลงทุนในตลาดคริปโตฯ ของคนไทย อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายจากการลงทุนดังกล่าว ดังนี้
ผู้ลงทุนในคริปโทฯ ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ที่ต้องการสร้างผลกำไรที่สูงในเวลาที่รวดเร็ว โดย พบว่า บัญชีของผู้ลงทุนในคริปโทฯ กว่าครึ่งเป็นผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี โดยร้อยละ 3 เป็นเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า20 ปี และร้อยละ 47 เป็นบัญชีลงทุนของผู้ที่มีอายุ 21 - 30 ปี ซึ่งการศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU พบว่า สาเหตุที่คน Gen Z สนใจลงทุนในคริปโตฯ เพราะต้องการรวยเร็ว
ทั้งนี้ แม้ว่าทัศนคติความต้องการผลตอบแทนสูงในระยะเวลาอันสั้นอาจทำให้หลายคนกลายเป็นเศรษฐีในระยะเวลาอันรวดเร็ว แต่อีกด้านหนึ่งผู้ลงทุนในคริปโทฯ อาจเกิดความสูญเสียมูลค่าของทรัพย์สินทั้งหมดได้ในระยะเวลาอันสั้นเช่นกัน
1 ใน 5 ของผู้ลงทุนในคริปโทฯ ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับคริปโทฯ อยู่ในระดับน้อย และร้อยละ 25 ใช้สัญชาตญาณในการตัดสินใจลงทุน จากรายงานการศึกษาพฤติกรรมการลงทุนใน Bitcoin พบว่า ผู้ลงทุนที่ศึกษาความเสี่ยงและผลตอบแทนก่อนการลงทุนอย่างละเอียดมีเพียงร้อยละ 25.45 เท่านั้น และนอกจากนี้มีนักลงทุนที่มีการศึกษาเกี่ยวกับคริปโทฯ ค่อนข้างน้อยและไม่มีการศึกษาเลย มีสัดส่วนร้อยละ 19.59 และร้อยละ 6.43 ตามลำดับ
สอดคล้องกับงานวิจัยเรื่อง “ถอดรหัสความคิดพิชิตใจคนชอบเสี่ยง Marketing to Risk lover” ที่พบว่า ผู้ลงทุนในตลาดคริปโทฯ มากกว่าร้อยละ 44.8 ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจในการลงทุนประเภทนี้อย่างเพียงพอโดยเฉพาะในกลุ่มคนอายุน้อย ซึ่งส่งผลให้ผู้ลงทุนมีโอกาสตัดสินใจผิดพลาดได้สูง
นอกจากนี้ ข้อมูลผลสำรวจความสนใจสินทรัพย์ดิจิทัลของ ก.ล.ต. พบว่าแม้นักลงทุนส่วนใหญ่ใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิค เช่น วิเคราะห์กราฟ (ร้อยละ 41) ติดตามข่าวสารจากช่องทางต่าง ๆ (ร้อยละ 26) แต่ยังมีนักลงทุนอีกร้อยละ 25 ที่ใช้สัญชาตญาณในการลงทุน ซึ่งจากงานวิจัยที่ศึกษาจิตวิทยาของการซื้อขายคริปโทฯ ปัจจัยเสี่ยง และการป้องกัน พบว่า การใช้สัญชาตญาณทำให้ผู้ลงทุนรู้สึกเหมือนเล่นการพนันออนไลน์ และคิดไปเองได้ว่าสามารถควบคุมผลตอบแทนจากการลงทุนได้เพราะความสามารถและกลยุทธ์ของตนเอง อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดความเสียหายในการตัดสินใจลงทุนได้เช่นกัน
มากกว่า 1 ใน 4 ของคนรุ่นใหม่ที่ลงทุนในคริปโทฯ ลงทุนเพื่อความสนุก บันเทิง และเข้าสังคมการลงทุนเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญต่อการวางแผนการเงินส่วนบุคคล ซึ่งการลงทุนจะประสบความสำเร็จได้ต้องเริ่มจากการมีเป้าหมายในการลงทุนและวางแผนอย่างรอบคอบ
อย่างไรก็ตาม จากผลการศึกษา เรื่อง การจัดกลุ่มผู้ลงทุนไทยตามพฤติกรรมการลงทุนใน Bitcoin ในปี 2562 พบว่า คนรุ่นใหม่ที่ลงทุนใน Bitcoin ถึงร้อยละ 25.6 มีวัตถุประสงค์เพื่อความสนุก บันเทิง และเพื่อเข้าสังคม/แลกเปลี่ยนข่าวสาร Bitcoin
นักลงทุนคริปโทฯ มากกว่าครึ่งหนึ่งใช้แพลตฟอร์มต่างประเทศ จากงานวิจัยของ CMMU ชี้ให้เห็นว่า นักลงทุนในตลาดคริปโทฯ ร้อยละ 64.8 ซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มต่างประเทศ เนื่องจากมีความกังวลว่าจะต้องเสียภาษี แม้พฤติกรรมดังกล่าวสามารถทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย และนักลงทุนบางส่วนมองว่า
แพลตฟอร์มของต่างประเทศมีรูปแบบการลงทุนที่หลากหลายกว่า อีกทั้งยังมีปริมาณการซื้อขายที่สูงกว่าตลาดในประเทศ
แต่อย่างไรก็ตาม การเลือกใช้แพลตฟอร์มต่างประเทศที่ไม่น่าเชื่อถืออาจมีความเสี่ยงของการสูญเสียข้อมูลส่วนบุคคล และไม่สามารถตรวจสอบ และติดตามเช่นเดียวกับแพลตฟอร์มในประเทศซึ่งได้รับการรับรองจาก ก.ล.ต.
ข้อมูลข้างต้นชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรมการลงทุนของคนไทยโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ในตลาดคริปโทฯ ที่มีความเสี่ยงในหลายด้าน อย่างไรก็ตาม การลงทุนตั้งแต่อายุน้อยเป็นเรื่องที่ควรส่งเสริม โดยผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจและทราบถึงความเสี่ยงที่มีอยู่ของการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนั้น ๆ รวมทั้งควรศึกษาข้อมูล
ให้เพียงพอก่อนตัดสินใจลงทุนเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายหรือความสูญเสียที่ไม่พึงประสงค์ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่
ทั้งนี้ สำหรับการลงทุนในคริปโทฯ ผู้ลงทุนควรเข้าใจความเสี่ยงของตลาดคริปโทฯ ที่สำคัญ ดังนี้
- ตลาดคริปโตฯ ไม่มีการกำกับดูแลตามกฎหมาย ตลาดของคริปโตฯ เป็นการซื้อ/ขาย ในระดับโลก ที่สามารถทำธุรกรรมผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ของประเทศใด ๆ ก็ได้ และตลาดเปิดให้บริการตลอดเวลา แม้ว่าประเทศไทยจะมี ก.ล.ต. ทำหน้าที่กำกับดูแลในส่วนของผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวกับคริปโตฯ ที่ครอบคลุมถึง 5 ประเภท ได้แก่ (1) ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (exchange (2) นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (broker) (3) ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (dealer (4) ที่ปรึกษาสินทรัพย์ ดิจิทัล (investment advisor) และ (5) ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล (fund manager) แต่การกำกับดูแลเป็นเพียงบางส่วนของธุรกรรมในตลาดคริปโทฯ เท่านั้น ไม่สามารถกำกับดูแลการออกเสนอขายคริปโตฯ และคุ้มครองผู้ลงทุนในคริปโตฯ ที่ทำการซื้อ/ขาย ผ่านแพลตฟอร์มที่ไม่ได้ดำเนินการจดทะเบียนในประเทศไทยได้
- คริปโทฯ ส่วนใหญ่ไม่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน การลงทุนในตลาดคริปโทฯ มีความแตกต่างกับการลงทุนประเภทอื่น ๆ ในเรื่องการไม่มีทรัพย์สินค้าประกัน (ยกเว้น Stablecoin บางชนิด) ทำให้เมื่อเกิดการด้อยค่า ผู้ที่เป็นเจ้าของจะไม่มีหลักประกันใด ๆ เลย อาทิ กรณีเหรียญ Terra Classic ที่เคยมีมูลค่าสูงถึง 3,903 บาท/เหรียญ ในเดือนเมษายน 2565 และตกลงมาเหลือเพียง 0.003 บาท/เหรียญ ในเดือนถัดมา
- ตลาดคริปโทฯ ถูกชี้นำได้ง่าย โดยการเปลี่ยนแปลงของราคา คริปโทฯ เกิดขึ้นจากความต้องการและสามารถถูกชี้นำจากข่าวสาร แทนการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยพื้นฐาน (งบการเงิน ผลประกอบการ) ดังเช่นการลงทุนในหุ้น รวมทั้งตลาดคริปโทฯ ยังสามารถปั่นราคาสินทรัพย์ (Pump and Dump) ได้ง่าย และควบคุมได้ยาก โดยนักลงทุนรายใหญ่ปล่อยข่าวเท็จหรือปั่นให้ราคาเหรียญขึ้นไปสูงๆ (Pump) และเพื่อดึงให้รายย่อยเข้ามาซื้อ จนสุดท้ายเจ้ามือก็ทำการเทขายเหรียญออกมาจำนวนมาก (Dump) เช่นเดียวกับการปั่นหุ้น
- ตลาดคริปโทฯ มีการหลอกลวง และการโกงหลายรูปแบบ การหลอกลวง อาทิ การส่งลิงก์เว็บไซต์หรือการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันปลอมผ่านอีเมล์ เพื่อหลอกให้ผู้ใช้ทำการล็อกอินเข้าใช้งานด้วยความเคยชิน หรืออาจมาในรูปแบบของการบริการช่วยเหลือ (Technical Support ที่หลอกให้ผู้ใช้กรอกรหัสผ่านลงในเว็บไซต์ปลอมและขโมยบัญชีผู้ใช้ไปใช้งาน หรือเพื่อขโมยเหรียญคริปโทฯ
การชักชวนลงทุนจูงใจว่าสามารถทำกำไรได้แบบเกินจริง การหลอกว่าจะแจกเงินหรือ token ขณะที่การโกงหรือที่เรียกว่าการ rug pull เกิดจากการที่นักต้มตุ๋นทำทีว่ามีการพัฒนาโครงการเหรียญคริปโทฯ ใหม่ ๆ เข้ามาในตลาดเพื่อต้องการหลอกล่อให้นักลงทุนเข้ามาซื้อขายก่อนที่จะเทขายทิ้ง หรือฉ้อโกงเงินในระบบ และส่งผลให้เหรียญนั้น ไร้มูลค่า ซึ่ง rug pull มีรูปแบบการโกง อาทิ การขโมยสภาพคล่องออกจากระบบ การล็อกคำสั่งขายเหรียญ เช่น กรณีเหรียญ $SQUID ซึ่งอ้างอิงกระแสจากซีรีส์ชื่อดังของเกาหลีใต้ เรื่อง Squid Game ที่ถูกปั่นราคาขึ้นไปจนมีมูลค่ากว่า 3,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ และผู้สร้างทำการเทขายเหรียญออกไปเป็นเงินสดและปิดระบบ ซึ่งทำให้มูลค่าเหรียญลดลงเหลือ 0 ดอลลาร์สหรัฐฯ สร้างความเสียหายเป็นมูลค่ากว่า 400 ล้านบาท
เทคโนโลยีได้ก่อให้เกิดการลงทุนในรูปแบบใหม่ที่แตกต่างจากการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่น แม้ว่าจะเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูง แต่ก็มีความเสี่ยงสูงด้วยเช่นกัน ประกอบกับการไม่มีกฎหมายดูแล ทำให้ผู้ลงทุนไม่ได้รับการคุ้มครองเท่าที่ควรและมีโอกาสสูงที่สูญเสียเงินลงทุนทั้งหมด