รู้จักก่อนถูกหลอก “ระดมทุนในตลาดทุน-แชร์ลูกโซ่” แตกต่างกันอย่างไร?
ในยุคปัจจุบันการระดมเงินทุนมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบถูกกฎหมายภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ และแบบผิดกฎหมายที่เป็นแชร์ลูกโซ่ ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับนักลงทุนจำนวนมหาศาล มาดูกันว่าแตกต่างกันอย่างไร
ชักชวนซื้อหุ้นแบบนี้ "ฉุกคิดให้ดี" ระวังถูกหลอก
ก.ล.ต.เตือน ก่อนตัดสินใจลงทุนหุ้นกู้ "ศึกษา ติดตาม ใช้สิทธิ"
การระดมทุน คือ การหาเงินสนับสนุนจากแหล่งต่าง ๆ มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินที่ได้ไปใช้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการสาธารณะ การกุศล หรือการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจของบุคคล หรือบริษัท
แต่มีการระดมทุนเพียงบางกรณีที่อยู่ในตลาดทุน และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต) โดยมีพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 เป็นกฎหมายหลักที่ใช้กำกับดูแลการระดมทุนในตลาดทุนผ่านการออกและเสนอขายหลักทรัพย์
ทั้งนี้การระดมทุนภายใต้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ จะมีคำว่า “หลักทรัพย์” เป็นองค์ประกอบสำคัญ เพราะหากไม่มีหลักทรัพย์เป็นส่วนประกอบ การระดมทุนนั้นจะไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต.
ตามนิยามคำว่า “หลักทรัพย์” ของพ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ จะเป็นลักษณะบัญชีรายชื่อตราสารที่เป็นหลักทรัพย์ โดยตราสารที่ถือเป็น “หลักทรัพย์” ในปัจจุบัน ได้แก่ ตั๋วเงินคลัง พันธบัตร ตั๋วเงิน หุ้น เงินกู้ หน่วยลงทุน ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซ้อหุ้น ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นกู้ ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุน
ผู้ระดมทุนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ ต้องเป็น “บริษัท” ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ
นอกจากนี้ คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนดตราสารที่เป็นหลักทรัพย์เพิ่มเติม ได้แก่ ใบแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิได้ ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ ใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงใบทรัสต์ ตราสารแสดงสิทธิของผู้ฝากทรัพย์สิน และตราสาร หรือหลักฐานแสดงสิทธิในโครงการจัดการลงทุนในต่างประเทศ
ขณะที่ กิจกรรมระดมทุนบางประเภทจึงไม่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ เช่น การระดมทุนผ่านการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตรา การระดมทุนผ่านการกู้ยืมเงินในรูปแบบของสัญญาเงินกู้ ซึ่งไม่ได้มีการแบ่งเป็นหน่วยแต่ละหน่วยมีมูลค่าเท่ากัน และกำหนดประโยชน์ตอบแทนไว้เป็นการล่วงหน้าในอัตราเท่ากันทุกหน่วย หรือการระดมทุนผ่านการขายสินค้า
สำหรับการระดมทุนภายใต้ พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ จะกำกับดูแลการระดมทุนโดยการเสนอขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่เป็นโทเคนดิจิทัลเท่ากัน ไม่รวมคริปโทเคอร์เรนซี
โดยโทเคนดิจิทัล คือ หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกสร้างบนระบบ หรือ เครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ มีวัตถุประสงค์เพื่อ
1.กำหนดสิทธิของบุคคลในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการ หรือ กิจการใด ๆ เรียกว่า “investment token”
2.กำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้า หรือบริการ หรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง เรียกว่า “utility token” และเป็นไปตามข้อตกลงระหว่างผู้ออกถือ
ปัจจุบันโทเคนดิจิทัล ที่ต้องขออนุญาตการเสนอขายจากสำนักงาน ก.ล.ต. ประกอบด้วย investment token และ utility token ที่ยังไม่สามารถแลกสิทธิได้ทันทีในวันเสนอขาย
การหลอกลวงระดมเงิน หรือ แชร์ลูกโซ่ โดยมักสัญญาว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนในรูปแบบต่าง ๆ ในระยะเวลาอันสั้น และมักอ้างว่าจะนำเงินไปลงทุน จนมีรายได้สูงเพียงพอที่จะปันรายได้แจกจ่ายสมาชิกได้อย่างทั่วถึง ซึ่งจะมีการให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้ร่วมลงทุนในระยะแรก เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และกระตุ้นให้เกิดการชักจูงให้เข้าร่วมลงทุน
แต่ความเป็นจริงไม่ได้มีการประกอบธุรกิจใด ๆ ที่จะให้ผลตอบแทนตามที่กล่าวอ้างกับผู้ร่วมลงทุน และจะใช้วิธีการนำเงินลงทุนของสมาชิกใหม่หมุนเวียนมาจ่ายให้สมาชิกเก่า และหากไม่สามารถหาสมาชิกใหม่มาลงทุนเพิ่มได้ ก็จะไม่มีเงินมาจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนตามที่สัญญาไว้ จนในที่สุดต้องปิดกิจการหนี
ดังนั้น แชร์ลูกโซ่ จึงมีลักษณะไม่ได้ประกอบธุรกิจ หรือลงทุนใด ๆ และใช้วิธีหมุนเงินลงทุนของสมาชิกอื่นมาจ่ายเงินต่อ ๆ ไป แม้อาจหลอกลวงอ้างถึงการร่วมลงมุนเก็งกำไรในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงเก็งกำไรจากการขึ้นลงของราคาหลักทรัพย์ เช่น หุ้น หุ้นกู้ และหน่วยลงมุน หรือสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น โทเคนดิจิทัล หรือคริปโทเคอร์เรนซี
โดย แชร์ลูกโซ่ จึงไม่อยู่ภายในขอบเขตการกำกับดูแล ป้องกัน หรือปราบปรามการหลอกลวงของ ก.ล.ต. และต้องใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องป้องกันและปราบปรามการหลอกลวง เช่น พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 และประมวลกฎหมายอาญาในฐานความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน
ข้อมูล : สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)