ดอลลาร์พุ่ง บาทอ่อน ดอกเบี้ยกลับมาหลอกหลอน จับตากระทบหุ้นไทย
ตลาดการจ้างงานของสหรัฐฯ ตัวเลขออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่งผลให้ความกังวลการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด กลับมาอีกครั้ง หนุนให้ดอลลาร์แข็งค่ามากสุดในรอบ 3 สัปดาห์ และกดดันเงินบาทอ่อนค่า จับตาต่างชาติเทขายทำกำไร คาดกระทบตลาดหุ้นไทยระยะสั้น
ตราสารหนี้ยังเป็นสินทรัพย์ที่สดใส ทิศทางการลงทุนโลกปี 2566
ค่าเงินบาทเปิดตลาด "อ่อนค่า" ผวาเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย จับตาเงินไหลออก
กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เผยข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (3 ม.ค.66) ซึ่งออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยการจ้างงานนอกภาคเกษตร (Nonfarm Payrolls) เดือน ม.ค.66 เพิ่มขึ้นถึง 517,000 ตำแหน่ง สูงสุดในรอบ 6 เดือน และสูงกว่าตลาดคาดไว้ที่ 185,000 ตำแหน่ง โดยการจ้างงานรายอุตสาหกรรมเทียบกับช่วงเดียวกัน ก่อนเกิดโควิด-19 ในปี 2562 ส่วนใหญ่ทยอยฟื้นกลับมาดีขึ้น นับตั้งแต่เดือน พ.ค. 63 เฉพาะอย่างยิ่งในภาคบริการ
ขณะที่อัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) เดือน ม.ค.66 ลดลงสู่ระดับ 3.4% ต่ำกว่าตลาดคาดที่ 3.6% เป็นระดับต่ำสุดในรอบ 53 ปี
ฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส (ASPS) เปิดเผยผ่านบาทวิเคราะห์ว่า ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนถึงภาคแรงงานสหรัฐที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง ทำให้ความกังวลการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด (Fed) เริ่มกลับมาอีกครั้ง
โดยจากข้อมูล Fed Watch Tool บ่งชี้มีโอกาสที่ เฟด จะปรับขึ้นดอกเบี้ยที่ระดับ 25 bps. ในการประชุมอีก 2 ครั้งของปี 66 โดยมีเพดานอยู่ที่ 5.25% จึงกดดันให้เงินทุนไหลออกจากสินทรัพย์เสี่ยงระยะสั้น โดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดตลาดปรับตัวลงราว -0.4% ถึง -1.6% ขณะที่เม็ดเงินได้ย้ายไปสู่สินทรัพย์ปลอดภัยอย่างเงินดอลลาร์ ที่แข็งค่าขึ้นกว่า 1.2% มากสุดในรอบ 3 สัปดาห์
ทั้งนี้ การที่เงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่ายนั้น ได้ไปกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าด้วย โดย บล.เอเซียพลัส มองว่าจะเกิดขึ้นเพียงระยะสั้น ซึ่งจะทำให้เห็นแรงขายทำกำไรในระยะสั้นของนักลงทุนต่างชาติ ดังนั้นจึงน่าจะกระทบตลาดหุ้นไทย (SET Index) อย่างจำกัด
อย่างไรก็ตาม บล.เอเซียพลัส ประเมินว่า SET Index น่าจะผันผวนในกรอบแคบ ช่วง 1,675 – 1,695 จุด หุ้น Top Pick ให้น้ำหนักในหุ้นที่ได้ประโยชน์จาก ภาคการท่องเที่ยว และการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ เลือก BEM, CPN และ CRC