ประเมินผลกระทบแบงก์ หลัง ธปท.คุมธุรกิจเช่าซื้อรถ คาดดีเดย์ 1 พ.ย.66
นักวิเคราะห์ประเมินผลกระทบกลุ่มธนาคารพาณิชย์ หลัง ธปท.เตรียมพร้อมควบคุมธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์ คาดกฎหมายจะเริ่มบังคับใช้ 1 พ.ย. 2566
จากกรณีมีกระแสข่าวว่า สมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย ได้มีการประชุมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อเตรียมความพร้อมกำกับดูแลธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ โดยแบ่งเป็นบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์ ที่ไม่รวมถึงสัญญาเช่าซื้อที่ทำกับธนาคาร และผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (นอนแบงก์) และกลุ่มที่สอง คือ แคปทีฟ ไฟแนนซ์(Captive Finance) captive finance หรือ ลีสซิ่งของค่ายรถยนต์ และนอนแบงก์อื่น ๆ ซึ่งคาดว่าพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำกับธุรกิจเช่าซื้อรถและลีสซิ่ง จะมีผลบังคับใช้ 1 พ.ย. 2566
ฝ่ายวิจัย บล.เอเซียพลัส ประเมินว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นไปตามแผนของ ธปท. ที่ต้องการควบคุมธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ – รถจักรยานยนต์ ผ่าน พ.ร.ฎ. โดยในส่วนรายละเอียดและวิธีการในการกำกับดูแลยังต้องติดตามประกาศของ ธปท. อย่างเป็นทางการอีกครั้ง
ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวไม่รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจที่มีหน่วยงานและกฎหมายกำกับดูแลเป็นการเฉพาะ เช่น ธนาคารพาณิชย์ หรือสถาบันการเงินเฉพาะกิจ แต่บังคับใช้กับบริษัทย่อยของธนาคารพาณิชย์ที่ทำธุรกิจเช่าซื้อ
ครม.ไฟเขียว คุม เช่าซื้อ-ลีสซิ่ง รถยนต์-รถจักรยานยนต์
หนี้ครัวเรือนไทยพุ่ง เครดิต บูโร เปิดตัวเลขหนี้เสีย 9.8 แสนล้านบาท
เครดิต บูโร เตือนหนี้เสียรถยนต์พุ่ง เสี่ยงถูกยึดรถ 1 ล้านคัน
อีกทั้ง ฝ่ายวิจัยฯ คาดว่าการกำกับดูแลในครั้งนี้ จะเน้นที่การให้บริการลูกค้าอย่างเป็นธรรม อาทิ การเปิดเผยข้อมูลให้กับลูกค้าชัดเจนขึ้น, ค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับสัญญาเช่าซื้อ, LTV และการตรวจสอบกิจการสินทรัพย์ และหนี้สินของผู้ประกอบธุรกิจ
สำหรับในด้านอัตราดอกเบี้ย น่าจะยังไม่ถูกกำกับเพิ่มเติมในรอบนี้ เหตุเพราะสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้มีการกำกับแล้วช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งตามประกาศ สคบ. แบ่งอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง ดังนี้ รถยนต์ใหม่ไม่เกิน 10% ต่อปี (ดอกเบี้ยคงที่ ประมาณ 5.5%), รถยนต์มือสอง (ดอกเบี้ยคงที่ ประมาณ 8.5%) และ รถจักรยานยนต์ ไม่เกิน 23% ต่อปี (ดอกเบี้ยคงที่ประมาณ 12.5% ต่อปี)
ขณะที่กฎหมายใหม่ดังกล่าว ฝ่ายวิจัยฯ ประเมินว่า จะส่งผลต่อสัญญาที่ปล่อยใหม่หลังจากฎหมายเริ่มมีผลบังคับใช้เท่านั้น ซึ่งผลกระทบต่อธนาคารพาณิชย์ที่มีพอร์ตเช่าซื้อรถยนต์นั้นจะมีจำกัด ทั้งจาก ธ.พ. อย่าง TISCO, KKP, SCB เป็นการปล่อยผ่านธนาคาร
นอกจากนี้ธนาคารพาณิชย์ ที่มีการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ผ่านบริษัทย่อย อย่าง KBANK, BAY รูปแบบการดำเนินธุรกิจ และการคิดค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ไม่น่าแตกต่างอย่างมีนัยฯ จากประกาศ ธปท. ได้มีการกำกับดูแลในช่วงที่ผ่านมา
ด้าน TISCO มีการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ ผ่านบริษัทย่อย อย่าง บจก.ไฮเวย์ แต่สัดส่วนอยู่ที่ 2% ของพอร์ตสินเชื่อ จึงมองไม่ได้มีนัยฯ
ส่วน SCB มีการเริ่มต้นทำสินเชื่อรถยนต์หรู เรือ ผ่านบริษัทย่อย Alpha โดย ณ สิ้นงวดไตรมาส 1 ปี 66 มีขนาดสินเชื่อราว 5.1 พันล้านบาท เทียบเท่าสัดส่วน 0.21% ของพอร์ตสินเชื่อ SCB ณ สิ้นงวดไตรมาส 1 ปี66
สรุปฝ่ายวิจัย มองว่า กฎหมายควบคุมธุรกิจเช่าซื้อรถและลีสซิ่ง มีผลต่อกลุ่มธนาคารค่อนข้างจำกัด ทั้งนี้ ในกรณีที่มีการควบคุม LTV อาจส่งผลต่อกลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ มากกว่ารถยนต์ เนื่องจากมีการให้ LTV ค่อนข้างสูง เช่น ดาวน์0% ดังนั้นผลกระทบต่อ Non –bank ที่มีพอร์ตเช่าซื้อรถจักรยานยน จะมีมากกว่าผลกระทบกลุ่มธนาคารพาณิชย์