เดือนมิถุนายน นอกเหนือจากจะเป็นเดือนแห่งความภาคภูมิใจในความหลากหลายทางเพศแล้ว ยังเป็นเดือนที่ลูกศิษย์ นักเรียน นักศึกษา จะได้มีโอกาสเข้าไปแสดงความเคารพรักและระลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ ที่ท่านคอยอบรมสั่งสอนให้เราเป็นคนดี เพราะทุกวันพฤหัสบดีที่สองของเดือนนี้ ถือเป็น “วันไหว้ครู” ซึ่งในปีนี้จะตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 8 มิถุนายน 2566
อย่างไรก็ตามถ้าโรงเรียนใด ไม่สามารถทำตามปฏิทินได้ สามารถเลื่อนออกไปเป็นวันพฤหัสบดี หรือวันอื่น ๆ ได้ตามความเหมาะสมของสถานศึกษา
ประวัติวันไหว้ครู
“ครู” มีความหมายว่า ผู้สั่งสอนศิษย์ หรือผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ ซึ่งมาจากคำว่า ครุ (คะ-รุ) ที่แปลว่า “หนัก” อันหมายถึงความรับผิดชอบในการอบรมสั่งสอนของครูนั้น นับเป็นภาระหน้าที่ที่หนักหนาสาหัสไม่น้อย เพราะกว่าคนๆ หนึ่งจะเติบโตมีวิชาความรู้ และเป็นคนดีของสังคม จะต้องทุ่มเทแรงกายและแรงใจไม่น้อยไปกว่าพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดเลยในชีวิตของคนๆ หนึ่ง
ดังนั้น ครู จึงเป็นบุคคลสำคัญเป็นที่สอง รองไปจากบิดามารดาที่เราทุกคน ควรจะได้แสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อท่าน
อาจไม่มีข้อมูลที่มาที่แน่ชัดว่า "วันไหว้ครู" เกิดขึ้นเมื่อใด แต่สันนิษฐานว่า เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในการประชุมผู้แทนคณะครูทั่วประเทศในคราวประชุมวิสามัญของคุรุสภา เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2499 ในสมัยของจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ ที่คราวนั้นที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้มี “วันครู” ขึ้น เพื่อประกอบพิธีระลึกถึงครูบูรพาจารย์ อันเป็นแนวคิดจุดเริ่มต้นของพิธีไหว้ครูนั่นเอง
ความสำคัญของพิธีไหว้ครู
การไหว้ครู นอกจากจะเป็นวันที่ให้ลูกศิษย์ได้แสดงความเคารพต่อบูรพาจารย์อย่างจริงใจแล้ว ว่าท่านเป็นผู้ที่เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมความรู้ ยังเป็นธรรมเนียมอันดีงามที่มีส่วนโน้มน้าวจิตใจคนให้รักษาคุณงามความดี และธำรงรักษาวิทยาการให้สืบเนื่องต่อไป
กิจกรรมในวันไหว้ครู
- พิธีกรรมทางศาสนา โดยเริ่มต้นจากการจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ต่อด้วยการรำลึกพระคุณบูรพาจารย์ กล่าวคำปฏิญาณตน และกล่าคำระลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์
- การแข่งขันประกวดพานไหว้ครู ให้นักเรียนได้แสดงความคิดสร้างสรรค์และใช้ดอกไม้ที่สัญลักษณ์ของวันไหว้ครูมาประดับตกแต่งให้เกิดความสวยตามสมัยนิยม
รวมดอกไม้ความหมายดี ประดับพานไหว้ครู
ก่อนจะถึงในวันสำคัญนี้ เชื่อว่าหลายคนคงค้นหาว่าจะต้องจัดพานไหว้ครูอย่างไร เราได้รวบรวมดอกไม้ความหมายดีมาฝากกัน เพื่อให้ทุกคนสามารถนำมาตกแต่งให้สวยงามและนำไปแข่งขันต่อกันได้ในวันไหว้ครูนี้
- หญ้าแพรก ตัวแทนของความเจริญงอกงาม เปรียบเสมือนปัญญาของนักเรียน
เนื่องจากหญ้าแพรก เป็นหญ้าที่เติบโตเร็วและทนต่อสภาพดินฟ้า อากาศ ทนต่อการเหยียบย่ำ ซึ่งเปรียบเสมือน คำดุด่าของครูบาอาจารย์ เมื่อได้รับการสั่งสอนก็พร้อมจะเรียนรู้ เหมือนดังหญ้าแพรกที่แม้บางครั้งจะเหี่ยวเฉาไป แต่เมื่อใดที่ได้รับน้ำก็พร้อมจะเติบโตทันที
- ดอกมะเขือ ตัวแทนความอ่อนน้อมถ่อมตน พร้อมที่จะเรียนวิชาความรู้ต่างๆ จากครู
เนื่องจากดอกมะเขือ จะคว่ำดอกลงเสมอเมื่อจะออกลูก แสดงถึงนักเรียนที่จะเรียนให้ได้ผลดีนั้นต้องรู้จักอ่อนน้อม ถ่อมตน เป็นคนสุภาพเรียบร้อย เหมือนมะเขือที่โน้มลง และดอกงอกงามได้อย่างรวดเร็ว
- ดอกเข็ม ตัวแทนของสติปัญญา เปรียบได้เหมือนกับสติปัญญาที่แหลมคม และยังหมายถึงวิชาความรู้มีประโยชน์ เหมือนรสหวานของดอกเข็ม
เนื่องจากชื่อของดอกเข็ม สื่อถึงสติปัญญาที่เฉียบแหลม จึงถูกใช้เป็นสัญลักษณ์หนึ่งในการไหว้ครูนั่นเอง
- ข้าวตอก ตัวแทนของความมีระเบียบวินัย รู้จักควบคุมตัวเอง เพราะถ้าไม่รู้จักควบคุมตัวเอง จะเป็นเพียงข้าวเปลือกที่ถูกคั่ว แต่ไม่สามารถเป็นข้าวตอกได้
เนื่องจากข้าวตอก มีลักษณะของข้าวสารที่เมื่อถูกคั่วแล้ว สามารถแตกออกมาได้ เหมือนกับการที่ครูคั่วนักเรียน กล่าวคือเคี่ยวเข็ญ ว่ากล่าวตักเตือนนักเรียน จนนักเรียนสามารถแตกฉาน นำวิชาความรู้มาใช้ในชีวิตประจำวันได้
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงเรียนรามราชพิทยาคม และ โรงเรียนศรีสุวิช