ร้องเอาผิดกองทุนฯ STARK ซื้อหุ้นยอดดอย ขายยอดหญ้า คาดสูญเงิน 3,500 ล้านบาท
ผู้ถือหน่วยลงทุน ร้องสำนักงาน ก.ล.ต.ดำเนินคดีกองทุนแห่งหนึ่ง ซื้อหุ้น STARK กว่า 900 ล้านหุ้น แต่ไม่ปรับพอร์ตลดความเสี่ยง กลับขายทิ้งตอนราคาหุ้นเหลือ 0.01- 0.04 บาท คาดขาดทุนราว 3,500 ล้านบาท พร้อมแฉมีพฤติการณ์ส่อทุจริต มักซื้อหุ้นตัวอื่นในราคาสูง และตัดขายในราคาต่ำ
เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2566 ดร.ณัฐวุฒิ รุ่งวงษ์ ประธาน บริษัทหลักทรัพย์ที่ปรึกษาการลงทุน ต้นธารคอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า ได้รับการร้องเรียนจากกลุ่มผู้ถือหน่วยลงทุนของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมต่าง ๆ ที่เข้าไปลงทุนในหุ้นของบริษัท สตาร์คคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK และหุ้นตัวอื่น จนสร้างผลเสียหายให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนอย่างมาก
โดย บลจ.หรือ กองทุนดังกล่าวบางแห่ง อาจจะกระทำผิดกฎหมาย พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ มาตรา 124/1
ไม่ได้จัดการกองทุนรวมด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและระมัดระวังรักษาประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุน ใช้ความรู้ความสามารถเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ มีการกระทำผิดในด้านความขัดแย้งทางผลประโยชน์ต่อผู้ถือหน่วยลงทุน อาจทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนเสียผลประโยชน์อันพึงได้รับ ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกิน2ปี และโทษปรับไม่เกิน5แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ขณะที่ตอนนี้ เจ้าหนี้หุ้นกู้ และผู้ถือหุ้นสามัญ ผู้ถือหุ้นรายย่อยต่างก็มีหน่วยงานต่าง ๆ ยื่นมือเข้าช่วยเหลือแล้ว แต่ผู้ถือหน่วยลงทุนผ่านกองทุน โดยเฉพาะผู้ลงทุนในกองทุนเพื่อประหยัดภาษีทั้ง LTF RMF เป็นมนุษย์เงินเดือน และออมการลงทุนวัยเกษียณ ซึ่งได้รับความเสียหายนั้น กลับยังไม่มีหน่วยงานใดยื่นมือมาช่วยเหลือ
ทั้งนี้กลุ่มผู้ลงทุนในกองทุน จึงได้ร้องเรียนผ่าน ดร.ณัฐวุฒิ ให้ช่วยประสานงานกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้เป็นตัวแทนนักลงทุนกล่าวทุกข์ดำเนินคดีต่อกองทุนและผู้บริหารกองทุนดังกล่าวตามกฎหมาย และเยียวยาชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นในทางแพ่งอีกทางด้วย
กองทุนฯซื้อ STARK กว่า 900 หุ้น ตัดขายราคา 1-4 สต. ทำลูกค้าขาดทุนยับ
ด้านคุณธนวัฒน์ ตัวแทนกลุ่มผู้ได้รับความเสียหายได้ เปิดเผยว่า ได้ลงทุนกองทุนเพื่อประหยัดภาษีกับกองทุนเพื่อการลงทุนระยะยาวกับกองทุนในเครือธนาคารใหญ่แห่งหนึ่ง เพื่อสิทธิประโยชน์ทางภาษี แต่เกิดความเสียหายขาดทุน ผลงานการลงทุนต่ำกว่ากองทุนประเภทเดียวกันอย่างชัดเจน
สำหรับกองทุนนี้มีผลดำเนินงานงวด 6 เดือน ติดลบ 12.33% (เปรียบเทียบกับกองทุนประเภทเดียวกันโดยเฉลี่ย-7.24%) ผลดำเนินงานรอบ 1 ปี ติดลบ 7.10% (ค่าเฉลี่ยของกลุ่มลบเพียง 0.49%) และในรอบ 5 ปี ติดลบ 3% (ค่าเฉลี่ยในกลุ่ม-0.16%) เป็นต้น
เนื่องจากกองทุนดังกล่าวไปลงทุนในหุ้น STARK ไว้มาก และมีพฤติการณ์ส่อไปในทางไม่ได้จัดการกองทุนรวมด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและระมัดระวังรักษาประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุน โดยใช้ความรู้ความสามารถเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ มีการกระทำผิดในด้านความขัดแย้งทางผลประโยชน์ต่อผู้ถือหน่วยลงทุน และมีพฤติการณ์ให้ข้อมูลอันเป็นเท็จต่อผู้ถือหน่วยลงทุนด้วย
STARK อ่วม! ผู้ถือหุ้นกู้ 3 ชุด เรียกชำระหนี้ทันที 6.9 พันล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย
ก.ล.ต.สั่งอายัดทรัพย์คนทำผิด 10 ราย แต่งงบ STARK พร้อมห้ามออกนอกประเทศ
ดีเอสไอ บุกค้น 15 จุด โกงหุ้น STARK ยึดทรัพย์ 100 ล้านบาท อดีตซีอีโอหลบหนีต่างประเทศ
โดยกองทุนนี้ได้เข้าไปลงทุนหุ้น STARK จำนวน 916 ล้านหุ้น ณ วันที่ 10 ต.ค. 65 ที่ราคาต้นทุน 3.72 - 5 บาท ต่อมา STARK ยกเลิกดีลการซื้อกิจการบริษัท LEONI ในประเทศเยอรมัน กองทุนต่าง ๆ พากันเทขายหุ้น STARK ออก เพราะมองว่าไม่เป็นไปตามแผนงาน และอาจกระทบต่อผลดำเนินงานได้ แต่กองทุนนี้กลับถือครองหุ้นเอาไว้จำนวนมาก
จนกระทั่งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้พักการซื้อขายชั่วคราว และมาเปิดให้ซื้อขายวันที่ 1-30 มิ.ย. 66 กองทุนดังกล่าวก็ให้ข้อมูลอันเป็นเท็จต่อผู้ถือหน่วยลงทุนว่าเหลือหุ้นในมือเพียง 290 ล้านหุ้น เป็นเพียงสัดส่วนเล็กน้อย
แต่ต่อมาได้แจ้งต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ว่ายังคงถือครองหุ้นไว้มากถึง 670 ล้านหุ้น และได้ขายออกไปหมด ก่อนจะถึงวันสุดท้ายที่ ตลท.เปิดให้ซื้อขายได้ถึงวันที่ 30 มิ.ย. ซึ่งช่วงดังกล่าวราคาหุ้นเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับราคา 1 ถึง 4 สตางค์ จึงน่าจะเหลือมูลค่าที่ขายได้ไม่เกิน 20 ล้านบาท จากต้นทุนที่มีอยู่ราว 3,850 ล้านบาท คาดว่าคงจะขาดทุนสุทธิมากกว่า 3,500 ล้านบาท หรืออย่างต่ำก็ไม่น่าจะน้อยกว่า 2,600 ล้านบาท
“กองทุนดังกล่าวนี้ มีพฤติการณ์ที่ส่อให้เห็นว่าอาจจะมีการทุจริต โดยทำการซื้อขายหุ้นที่ไม่โปร่งใส ผิดจากวิสัยของการบริหารกองทุนโดยทั่วไป โดยทำการไล่ซื้อราคา STARK ในราคาสูง ปริมาณมาก กระจุกตัว และยังซื้อกระจุกตัวในหุ้นเครือ STARK อีกหลายตัว ซึ่งผิดจากปกติวิสัยของการลงทุน และไม่ได้มีการทำการลดความเสี่ยงใดๆ แต่พอเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญด้วยการยกเลิกดีลเทกโอเวอร์ LEONI แทนที่จะขายหุ้นออกลดความเสี่ยง ก็กลับถือหุ้นไว้ไม่มีการปรับพอร์ต จนต้องมาขายหุ้นทิ้งช่วงราคาเหลือแค่ 1 ถึง 4 สตางค์ ทำให้กระทบต่อผลดำเนินงานของกองทุนที่ลูกค้าผู้ถือหน่วยลงทุนอยู่ต้องรับผลขาดทุนย่อยยับ” ผู้แทนของกลุ่มผู้เสียหายกล่าว
แฉกองทุนฯชอบไล่ซื้อหุ้นราคาสูง ตัดขายราคาต่ำ ส่อผิดกฎหมาย พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ
คุณธนวัฒน์ กล่าวต่อว่า กองทุนดังกล่าวมีพฤติการณ์ที่ส่อไปในทางไม่สุจริตและมีความขัดแย้งทางผลประโยนชน์ต่อผู้ถือหน่วยลงทุนหลายกรณี เช่น การเข้าไปลงทุนหุ้น SKY แบบซื้อบิ๊กล็อตราคา 30.25 บาท ตอนที่มีการไล่ราคาหุ้นขึ้นไปเพียงแค่ 2เดือน ทั้งที่ราคาทรงตัวอยู่เขต 10บาท นานเป็นปี แต่ไม่ยอมลงทุนซื้อตอนราคาหุ้นถูก ๆ หรือซื้อบิ๊กล็อตหุ้น ADD ตอนมีการไล่ราคาขึ้นไป 30 บาท แล้วมาตัดขายขาดทุนที่ 10 บาท หรือ พฤติกรรมไล่ราคาซื้อหุ้น SAMART SAMTEL ในราคา 30 ถึง 45 บาท
ทั้งนี้เมื่อปัจจัยพื้นฐานเปลี่ยนแปลงไปทางลบอย่างมีนัยยะสำคัญ ก็ไม่ปรับพอร์ตใด ๆ เพิ่งจะมาขายตัดขาดทุนแถวราคา 3-5 บาทในต้นปีนี้ ทั้งที่กิจการกำลังฟื้นตัว อันเป็นพฤติการณ์ที่น่าสงสัยว่าอาจจะทำผิดกฎหมาย พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ มาตรา124/1
ผู้เสียหายโอดพอร์ตติดลบ 18% สูญเงินเก็บไว้ใช้ในวัยเกษียณ
ด้านศศินันท์ หนึ่งในผู้ร้องทุกข์ ระบุว่า ได้รับความเสียหายจากการซื้อกองทุนดังกล่าว ตอนนี้ติดลบ 18% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกองทุนประเภทเดียวกันมาก เนื่องจากผู้จัดการและผู้บริหารกองทุนมีพฤติการณ์กระทำผิดกฎหมายด้วยเจตนาไม่สุจริต มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ เข้าซื้อหุ้นลงในพอร์ตที่ไม่โปร่งใส และทำให้ไม่เกิดความเป็นธรรมต่อลูกค้าผู้ถือหน่วยลงทุน
โดยขอให้ ก.ล.ต.เป็นตัวแทนให้ลูกค้าผู้ถือหน่วยลงทุนดังกล่าวดำเนินคดีกล่าวโทษต่อกองทุนและผู้บริหารกองทุนดังกล่าว เนื่องจาก ผู้จัดการกองทุนมีพฤติกรรมการลงทุนด้วยเจตนาไม่สุจริต มีผลประโยชน์เคลือบแฝงในการลงทุนหุ้นบางตัวที่มากเกินไป และยังมีพฤติการณ์ให้ข้อมูลเท็จต่อลูกค้าผู้ถือหน่วยลงทุน ส่งผลให้ผู้ถือหน่วยลงทุนที่หวังมีเงินเก็บไว้ใช้ในวัยเกษียณทุนหาย กำไรไม่ต้องหวังโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า เพื่อให้ผู้ถือกองทุนได้หาทางหนีทีไล่ เช่น รีบขาย LTF ที่ครบระยะเวลาออกมาก่อนที่จะขาดทุนมากแบบที่ปรากฏ
ซึ่งเหตุการณ์นี้ทำให้ความน่าเชื่อถือเครดิตของกองทุนในเครือธนาคารใหญ่ในสายตาลูกค้าติดลบในภาพรวมทุกช่องทางทั้งการลงทุน กองทุนต่าง ๆ และการฝากเงินทันที ถ้ายังคงนิ่ง และใส่เกียร์ว่างในปัจจุบัน ก็จะเสี่ยงกับอนาคตของธุรกิจธนาคารแห่งนี้เป็นแน่ ที่ปล่อยปละละเลย ไม่ช่วยจัดการ จัดทำระบบ เพื่อตรวจสอบผู้จัดการกองทุนต่างๆว่ามีสิ่งผิดปกติอะไรหรือไม่ ตามความชำนาญด้านวิชาชีพที่มากกว่าผู้ถือกองทุน แต่กลับเพิกเฉยด้วยการลงท้ายว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรใช้วิจารณญาณ” ซึ่งเหตุการณ์นี้ผู้ถือกองทุนเกิดความเสี่ยงแรกจากความไม่ชอบมาพากลนี้ จึงขอเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้ถือกองทุนอย่างรวดเร็วที่สุด