เอาจริง! ชง แก้กฎหมายเพิ่มอำนาจ "ก.ล.ต." ดำเนินคดีอาญาผู้กระทำความผิด
คลัง" เอาจริง! ชง แก้กฎหมายเพิ่มอำนาจ "ก.ล.ต." ดำเนินคดีอาญาผู้กระทำความผิด เพื่อลดความเสียหายและลดระยะเวลา คาดเริ่มใช้ ก.พ. 68
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายในงานสัมมนาแถลงแผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. ปี 2568 ว่าจากที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาตลาดทุนไทย เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศ ภาครัฐจึง ต้องการ แก้ไขกระบวนการบังคับใช้กฎหมายในการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดให้รวดเร็ว และจริงจังมากยิ่งขึ้น เพื่อลดความเสียหาย ด้วยวิธีการเพิ่มอำนาจกฎหมาย ให้กับ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ในการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด ได้ในขอบเขตที่กำหนด

ซึ่งขณะนี้ กระทรวงการคลัง กำลังอยู่ระหว่างการร่างกฎหมาย ดังกล่าว และได้มีการเตรียมเสนอเรื่อง ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว และอยู่ในขั้นตอนพูดคุยรายละเอียดเพิ่มเติม ของหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มอำนาจให้ ก.ล.ต. สามารถสั่งฟ้องได้ เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดได้เพิ่มเติม จากขอบเขตอำนาจในปัจจุบัน
ก.ล.ต. จะมีอำนาจในการดำเนินคดีอาญาที่สามารถทำสำนวน และสามารถดำเนินคดีเองได้โดยตรง ซึ่งก็จะลดเวลาการดำเนิคดีได้ค่อนข้างเยอะ โดย ก.ล.ต.จะทำสำนวนเอง แต่การส่งฟ้องยังคงต้องส่งให้อัยการตามเดิม ซึ่งก็จะลดขั้นตอนการสอบสวน เพราะ ก.ล.ต. จะสอบสวน และเตรียมดำเนินคดีเอง ส่งผลให้การดำเนินคดี จะไปสู่ขั้นตอนในชั้นศาลได้ไวขึ้นด้วย
ส่วนการแก้กฎหมายในครั้งนี้ จะช่วยให้ความเชื่อมั่นด้านการลงทุนกลับมาหรือไม่นั้น รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า เรื่องการแก้กฎหมาย เป็นเพียงแค่ปัจจัยส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่เชื่อว่าจะสามารถทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุน กลับมาได้อย่างแน่นอน แต่มากน้อยเพียงใดต้องรอหลังการบังคับใช้กฎหมาย และอาจต้องใช้เวลาอีกสักระยะ
นอกจากนี้ ก.ล.ต. จำเป็นที่จะต้องยกระดับความรับผิดชอบในเชิงสำนักงานโดยจะต้องมีความเข้มงวด ในการตรวจสอบบัญชีควบคุมและกำกับ รวมถึงการให้ความสำคัญกับการพัฒนาและปรับใช้ Digital Asset เพื่อให้เกิดการคุ้มครองทรัพสินของนักลงทุนที่ได้มาตรฐาน ซึ่งเชื่อว่า สิ่งเหล่านี้ จะนำไปสู่การดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้มากขึ้น นายพิชัย กล่าว
สำหรับขั้นตอนของการปรับแก้กฎหมายเพื่อเพิ่มอำนาจ ให้กับ ก.ล.ต. นั้น คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ และจะเสนอต่อ ครม. ได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ที่จะถึงนี้ ซึ่งเชื่อว่า หากมีผลประกาศบังคับใช้แล้ว จะทำให้ขั้นตอนการดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำความผิดรวดเร็วมากยิ่งขึ้น และการดำเนินคดี ก็จะกระชับลดระยะเวลาได้มากยิ่งขึ้นส่งผลให้ความเสียหายในตลาดทุนไทยก็จะลดน้อยลง ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งในปัจจัยที่จะทำให้ความความเชื่อมั่นด้านการลงทุน กลับมา

สำหรับ แผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. ปี 2568 – 2570 ศาสตราจารย์ ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ ก.ล.ต. ได้ให้ความสำคัญกับยกระดับความเชื่อมั่นของตลาดทุนไทยอย่างต่อเนื่อง พร้อมสนับสนุนการสร้างคุณค่า และความโดดเด่นให้บริษัทจดทะเบียนไทย มุ่งมั่นพัฒนาตลาดทุนไทยให้รองรับความต้องการของธุรกิจที่ หลากหลายและเป็นตลาดทุนที่ประชาชนทุกภาคส่วนเข้าถึงได้ ตลอดจนรองรับการปรับตัวสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและ เศรษฐกิจสีเขียว โดยมีเป้าหมายหลัก 5 ด้าน ได้แก่
1. ตลาดทุนได้รับความเชื่อมั่น (Trust & Confidence)
2. ตลาดทุนเป็นแรงขับเคลื่อนสู่เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Technology)
3. ตลาดทุนเป็นกลไกสู่ความยั่งยืน (Sustainable Capital Market)
4. ผู้ลงทุนมีสุขภาพทางการเงินที่ดี (Long-term Investment)
5. ศักยภาพในการดำเนินการตามพันธกิจ (SEC Excellence)