สังคม Toxic จึงต้องฮีลใจด้วยอะไรที่ไม่ใช่คน
ทำไมผู้บริโภคหันมาเป็นแฟนคลับอินฟลูที่ไม่ใช่คน อย่างมาสคอต หรือสัตว์เลี้ยง ขณะที่โมเดลฟิกเกอร์ อาร์ตทอย ที่เคยเป็นของสะสมเฉพาะกลุ่มกลับแมสทั่วบ้านทั่วเมือง
เรื่องนี้มีความเห็นจาก ผศ.ดร.บุปผา ลาภะวัฒนาพันธ์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างแบรนด์และสื่อสารการตลาด ให้สัมภาษณ์กับ PPTV Wealth ว่าช่วงที่ผ่านมาเราจะเห็นอินฟลูเอนเซอร์ที่ไม่ใช่คนได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นน้องหมา จุ๊มเหม่ง หรือล่าสุด มาสคอตสุดคิ้วท์อย่างน้องหมีเนย Butterbear
ซึ่งนอกจากความน่ารักของน้องที่สามารถตกแฟน ๆ ได้ ส่วนหนึ่งก็มาจากสิ่งเหล่านี้ช่วยเติมเต็มความรู้สึกที่หายไป ช่วยฮีลใจในสังคม Toxic เติมเต็มความรู้สึกที่มนุษย์ไม่สามารถทำได้
รวมถึงการที่สัตว์เลี้ยงหรือตุ๊กตาพูดได้ แสดงท่าทีเหมือนคน ยังสามารถตอบสนองจินตนาการของผู้บริโภค นอกจากนี้เป็นการเล่นกับกระแสบนโซเชียลมีเดีย ทำให้เกิด Fast Marketing เพราะยุคนี้เป็นยุคของการบอกต่อแบบออนไลน์ เช่นเดียวกับ ฟิกเกอร์ อาร์ตทอย จากของเล่นสะสมเฉพาะกลุ่มกลายมาเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องมี ไม่มีเดี๋ยวตกเทรนด์
เครื่องมือหลัก ๆ ที่ทำให้อินฟลูที่ไม่ใช่คนเหล่านี้ได้รับความนิยมมาก คือ
1.จับกลุ่มเป้าหมายตรงจุด
โดยเฉพาะการตลาดที่เล่นกับเจน Z เพราะเจนเนอเรชั่นนี้ มีความต้องการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม อยากสร้างตัวตน ตกเทรนด์ไม่ได้ เป็นเจนที่จะนำไปสู่การบอกต่อโดยมีอาวุธในมือคือโซเชียลมีเดียทำให้กระแสยิ่งไปไว
แบรนด์จำนวนมากจึงพยายามสร้างกลยุทธ์การตลาด โดยเอาไลฟ์สไตล์ของเจนเนอเรชั่นมาเป็นส่วนหนึ่งของการดีไซน์ Identity หรือ Character อย่างเช่น น้องหมีเนย เห็นได้ชัดเลยว่าตั้งใจเจาะกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ผู้หญิง
2.เล่นกับโซเชียลมีเดีย ทำให้กระแสยิ่งไปไกลและไว
3.เติมเต็มความรู้สึกที่มนุษย์ทำไม่ได้ การได้พูดคุยกับตุ๊กตา ของเล่น หรือสัตว์ ช่วยเติมเต็มความสุขในแบบที่มนุษย์ไม่สามารถทำได้ หรือเติมเต็มความรู้สึกโหยหาอดีต (Nostalgia)
สำหรับภาคธุรกิจมีข้อดีคือสามารถคุม Budget ได้ และใส่ identity ของ brand เข้าไปได้ 100%
ผศ.ดร.บุปผา กล่าวด้วยว่า ต้องยอมรับว่าธุรกิจทุกวันนี้ทำการบ้านเก่งขึ้น จนสามารถดีไซน์ Character เข้าไปใส่ในสิ่งที่ไม่ใช่คนจนออกมาประสบความสำเร็จ ได้ใจผู้บริโภคไปเต็ม ๆ นี่คือ Customer Experience Management หรือการตลาดเชิงประสบการณ์ ให้ความสำคัญกับการสร้างประสบการณ์ร่วมที่ดีของผู้บริโภค
ธุรกิจได้มูลค่าที่เป็นตัวเงิน แต่ผู้บริโภคยอมจ่ายเงินเพราะคุณค่าทางความรู้สึกที่ได้รับการเติมเต็ม แลกกันแบบ win-win : ผศ.ดร.บุปผา