ประวัติ “TikTok” เติบโตด้วยความเร็วของปีศาจ บนเส้นทางที่เต็มไปด้วยข้อกังขา
เปิดเส้นทางความสำเร็จของ “TikTok” แพลตฟอร์มซึ่งกลายเป็นที่นิยมไปทั่วโลกในเวลาอันรวดเร็ว แต่ในขณะเดียวกันก็ถูกข้อครหาว่าเป็นภัยความมั่นคง
ตั้งแต่ยุคการระบาดของโควิด-19 เป็นต้นมา หนึ่งในแอปพลิเคชันที่ต้องมีติดมือถือของใครหลายคนคือ “TikTok” หรือที่คนไทยเรียกกันเล่น ๆ ว่า “ต๊อกต๊อก” ในฐานะเพื่อนช่วยคลายเหงาและช่องทางสร้างเงินสร้างอาชีพในช่วงเวลาวิกฤต
โดย TikTok เป็นแพลตฟอร์มวิดีโอสั้นที่ยังมีอายุไม่ถึง 10 ปีด้วยซ้ำ แต่กลับประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม ใช้เวลาเพียงประมาณ 3 ปีเท่านั้นในการมียอดดาวน์โหลดมากกว่า 2 พันล้านครั้งทั่วโลก ซึ่งเร็วกว่าเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมที่ต้องใช้เวลาเป็นสิบปี

นั่นแสดงให้เห็นถึงการเติบโตด้วยความเร็วระดับปีศาจของ TikTok ได้เป็นอย่างดี
Business of Apps ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์อุตสาหกรรมแอปพลิเคชัน ระบุว่า TikTok สร้างรายได้มากกว่า 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5.4 แสนล้านบาท) ในปี 2023 โดยประมาณ 80% มาจากโฆษณา ส่วนที่เหลือมาจากการซื้อขายบน TikTok Shop และ “การส่งของขวัญ”
TikTok มีผู้ใช้งานรายเดือนประมาณ 1.5 พันล้านคนในปี 2023 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.8 พันล้านคนภายในสิ้นปี 2024 ส่วนยอดการดาวน์โหลดสะสมอยู่ที่มากกว่า 4 พันล้านครั้งแล้ว
อย่างไรก็ตาม แอปฯ โปรดของคนไทยและอีกหลายคนทั่วโลกนี้กลับเป็นที่ครหาอย่างมากในต่างประเทศ ทั้งอินเดียที่สั่งแบน หรือในสหรัฐฯ ที่มีความพยายามในการสั่งปิดแอปฯ เช่นกัน จากความกังวลว่าข้อมูลผู้ใช้อาจรั่วไหลไป “จีน”
PPTV Wealth ชวนทำความรู้จักและเรื่องราวตั้งแต่จุดเริ่มต้นของแพลตฟอร์มยอดนิยมรายนี้
ต้นกำเนิด TikTok
ต้นกำเนิดของ TikTok นั้นต้องพูดถึง “ByteDance” (ไบต์แดนซ์) บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จากจีน ซึ่งก่อตั้งในปี 2012 และได้เปิดตัว “โถวเถียว” (Toutiao) แพลตฟอร์มข้อมูลข่าวสารจีน เนื่องจากมองว่า ประชาชนในจีนเสพข่าวจากมาร์ตโฟนเพิ่มขึ้น
ต่อมาบริษัทยังเล็งเห็นว่า ผู้คนเริ่มมีความนิยมเสพวิดีโอขนาดสั้นกันมากขึ้น จึงเปิดตัวแพลตฟอร์ม A.me ขึ้นมาในเดือน ก.ย. 2016 เพื่อนำเสนอคอนเทนต์ที่เป็นวิดีโอสั้นโดยเฉพาะ ก่อนที่ในเดือน ธ.ค. จะเปลี่ยนชื่อเป็น “โต่วอิน” (Douyin) ซึ่งในภาษาจีนแปลว่า “เสียงสั่น”
โต่วอินมีผู้ใช้มากถึง 100 ล้านคนในประเทศจีนด้วยระยะเวลาเพียง 1 ปีเท่านั้น ทำให้ “จาง อี้หมิง” ผู้ก่อตั้งไบต์แดนซ์มองเห็นว่า โต่วอินมีโอกาสประสบความสำเร็จไม่ใช่แค่ในจีน แต่ในตลาดโลกด้วย
จาง อี้หมิง เคยบอกว่า “ประเทศจีนมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพียง 1 ใน 5 ของทั่วโลก หากเราไม่ขยายธุรกิจในระดับโลก เราคงจะต้องสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดให้กับคู่แข่งที่มีส่วนแบ่งถึง 4 ใน 5 ดังนั้น การขยายธุรกิจในระดับโลกจึงเป็นสิ่งจำเป็น”
เขาจึงเปิดแพลตฟอร์มหน้าตาเหมือนกันแต่ใช้ชื่อว่า “TikTok” ขึ้นมา เป็นโต่วอินเวอร์ชันสำหรับผู้ใช้ในต่างประเทศ โดยแยกการบริหารออกจากโต่วอิน
ย้อนเวลาไปเล็กน้อยก่อนโต่วอินจะถือกำเนิด ได้มีแอปฯ Musical.ly เปิดตัวขึ้นในปี 2014 ที่เซี่ยงไฮ้ และมีออฟฟิศรวมถึงความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่แข็งแกร่งอยู่ในสหรัฐฯ
Musical.ly นั้น ผู้ใช้จะสามารถสร้างและแชร์วิดีโอลิปซิงก์สั้น ๆ ความยาว 15 วินาทีถึง 1 นาทีได้ และเลือกแทร็กเสียงประกอบ ใช้ตัวเลือกความเร็วต่าง ๆ และใส่ฟิลเตอร์และเอฟเฟกต์ได้
ด้วยคอนเทนต์ที่เบา สบาย เกี่ยวกับเพลง ทำให้มีฐานผู้ใช้ค่อนข้างมาก เคยขึ้นอันดับ 1 บนแอปเปิลสโตร์ และ ณ เดือน พ.ค. 2017 มีผู้ใช้แตะ 200 ล้านคน
ไบต์แดนซ์ที่ต้องการขยายโต่วอินไปในระดับโลก เล็งเห็นฐานผู้ใช้งานของ Musical.ly จึงเข้าซื้อกิจการในปี 2017 ด้วยมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำโครงสร้างรวมถึงฟังก์ชันต่าง ๆ ไปรวมเข้ากับ TikTok
จากนั้นมา TikTok ได้เริ่มตีตลาดโลก และขยายฐานผู้ใช้ไปทั่วทุกสารทิศ

“อัลกอริทึม” สูตรลับความสำเร็จ
ความลับของ TikTok อยู่ที่การใช้ดนตรีและอัลกอริทึมอันทรงพลังซึ่งสามารถเรียนรู้ว่าผู้ใช้ชอบดูเนื้อหาใดได้เร็วกว่าแอปอื่น ๆ มาก
ผู้ใช้หลายคนมักใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับหน้า For You ซึ่งเป็นจุดที่อัลกอริทึมจะแสดงเนื้อหาต่อผู้ใช้ โดยคาดการณ์ว่าผู้ใช้จะชอบเนื้อหาใดโดยอิงจากเนื้อหาที่พวกเขาเคยดูไปแล้ว
นอกจากนี้ TikTok ยังใช้อัลกอริทึมแสดงเนื้อหาที่คิดว่าอาจกลายเป็นไวรัลได้ แนวคิดคือหากเนื้อหานั้นดี เนื้อหานั้นจะเผยแพร่ต่อไป ไม่ว่าผู้สร้างจะมีผู้ติดตามกี่คนก็ตาม
เนื้อหาที่ได้รับความนิยมบน TikTok เป็นพิเศษคือเพลง, คลิปเต้น, ตอนเทนต์อาหาร และ “ชาเลนจ์” ต่าง ๆ
อัลกอริทึมนี้ยังทำให้เกิดชุมชน TikTok จำนวนมาก โดยผู้ใช้รวมตัวกันตามประเภทของเนื้อหาที่พวกเขาชอบหรือความรู้สึกในตัวตนของพวกเขา
ชุมชนอย่าง “Alt” หรือ “Deep” มักมีผู้สร้างที่ไม่ได้ต้องการเงินเพื่อเติมกระเป๋าเงิน แต่เพียงเข้ามาบนแพลตฟอร์มเพื่อสร้างเนื้อหาที่ตลกหรือให้ข้อมูล สำหรับพวกเขา ไม่ใช่เรื่องการดึงดูดความสนใจจากแบรนด์ใหญ่ แต่เป็นการค้นหาผู้ที่มีความคิดเหมือนกัน
ด้วยพลังของอัลกอริทึมทำให้ทุกวันนี้ แพลตฟอร์ม TikTok เติยโตอย่างมาก รองรับถึง 40 ภาษา และ ณ ปี 2024 มีผู้ใช้งานเฉลี่ยเดือนละมากกว่า 1 พันล้านคนทั่วโลก เป็นรองเพียงเฟซบุ๊ก (2.9 พันล้านคน), ยูทูบ (2.2 พันล้านคน) และอินสตาแกรม (1.4 พันล้านคน)

เมื่อ TikTok ถูกมองเป็นภัยความมั่นคง
การเติบโตอย่างรวดเร็วของแอปฯ ทำให้ TikTok กลายมาเป็นที่สนใจของนักการเมืองในหลายรัฐบาลทั่วโลก เนื่องจากมันขยายอิทธิพลในสังคมได้รวดเร็วจนน่ากลัว
โดยในเดือน ต.ค. 2019 นักการเมืองสหรัฐฯ เริ่มส่งสัญญาณเตือนเกี่ยวกับอิทธิพลของ TikTok โดยเรียกร้องให้มีการสอบสวนระดับรัฐบาลกลางกรณีการเข้าซื้อ Musical.ly และการสอบสวนด้านความมั่นคงแห่งชาติเกี่ยวกับ TikTok และแอปอื่น ๆ ที่เป็นของจีน
3 เดือนต่อมา กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ สั่งให้บุคลากรทางทหารทุกคนลบ TikTok ออกจากโทรศัพท์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ส่วนตัวหรือโทรศัพท์ที่รัฐบาลมอบให้
ขณะเดียวกัน อินเดียสั่งแบน TikTok ครั้งแรกในเดือน เม.ย. 2019 หลังจากศาลสั่งให้ถอดแอปฯ ดังกล่าวออกจากร้านค้า ท่ามกลางข้อกล่าวหาว่าแอปฯ ดังกล่าวถูกใช้เพื่อเผยแพร่สื่อลามก แต่การตัดสินดังกล่าวถูกยกเลิกหลังจากมีการยื่นอุทธรณ์
ต่อมารัฐบาลอินเดียสั่งแบน TikTok อีกครั้งในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. 2020 พร้อมกับแอปอื่น ๆ ของจีนอีกหลายสิบแอป โดยรัฐบาลอินเดียกล่าวว่า ได้รับข้อร้องเรียนว่ามีการ “ขโมยและส่งข้อมูลของผู้ใช้อย่างลับ ๆ”
อย่างไรก็ตาม ในเวลานั้นความเคลื่อนไหวของอินเดียถูกมองว่าเป็นการกระทำเชิงสัญลักษณ์เพื่อตอบโต้กรณีเกิดการยิงปืนปะทะกันที่ชายแดนกับจีน
ด้านประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้นอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ ออกมากล่าวว่า เขากำลังพิจารณาแบน TikTok โดนออกคำสั่งฝ่ายบริหารฉบับกว้าง ๆ แต่คลุมเครือ ระบุว่า ห้ามบริษัทอเมริกันทำธุรกรรมใด ๆ กับไบต์แดนซ์และบริษัทในเครือ รวมถึง TikTok
ไม่กี่วันต่อมา ทรัมป์ยังออกคำสั่งที่สองเรียกร้องให้ไบต์แดนซ์ถอนตัวจากการดำเนินงาน TikTok ในสหรัฐฯ ภายใน 90 วัน
แม้ว่าข้อกล่าวหาจะมีความคลุมเครือและไม่มีหลักฐาน แต่ทั้งอินเดียและสหรัฐฯ ต่างมีความกังวลว่า TikTok กำลังรวบรวมข้อมูลที่ละเอียดอ่อนจากผู้ใช้ ซึ่งรัฐบาลจีนอาจนำไปใช้ในการสอดส่องได้
ด้าน TikTok เองชี้แจงว่า จากนโยบายความเป็นส่วนตัว มีการรวบรวมข้อมูลดังต่อไปนี้
- วิดีโอที่ได้รับการรับชมและแสดงความคิดเห็น
- ข้อมูลตำแหน่ง
- รุ่นโทรศัพท์และระบบปฏิบัติการ
- จังหวะการกดแป้นพิมพ์
นอกจากนี้ยังเปิดเผยด้วยว่า สามารถอ่านคลิปบอร์ดที่คัดลอกและวางของผู้ใช้ได้ แต่แอปอื่น ๆ อีกหลายสิบแอปฯ ก็ทำเช่นเดียวกัน รวมถึง Reddit, LinkedIn และแอปฯ BBC News และไม่พบสิ่งผิดปกติใด ๆ
หลักฐานส่วนใหญ่ชี้ว่าการรวบรวมข้อมูลของ TikTok นั้นเหมือนกันกับโซเชียลมีเดียอื่น ๆ ที่ต้องการข้อมูลมาก เช่น เฟซบุ๊ก
อย่างไรก็ตาม TikTok ระบุว่า ยินดีที่จะแสดงความโปร่งใสในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน เพื่อลดความกังวลเกี่ยวกับการเก็บข้อมูลและการรั่วไหลของข้อมูล โดยจะอนุญาตให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบโค้ดเบื้องหลังอัลกอริทึม ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมที่ข้อมูลและโค้ดมักได้รับการปกป้องอย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ตาม ความกังวลไม่ได้เกี่ยวกับข้อมูลที่รวบรวมเท่านั้น แต่ยังเป็นเชิงทฤษฎีมากกว่าด้วยว่า รัฐบาลจีนจะบังคับให้ไบต์แดนซ์ส่งมอบข้อมูลได้หรือไม่
กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติปี 2017 ของจีนบังคับให้องค์กรหรือพลเมืองทุกคน “ต้องสนับสนุน ช่วยเหลือ และให้ความร่วมมือกับงานข่าวกรองของรัฐ”
อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารของ TikTok ได้กล่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า หากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริง “เราจะปฏิเสธคำขอข้อมูลใดๆ อย่างแน่นอน”
TikTok ยังประกาศด้วยว่า ได้ย้ายข้อมูลผู้ใช้ไปยังเซิร์ฟเวอร์ในสหรัฐฯ ที่จัดการโดยบริษัทเทคโนโลยี Oracle ของสหรัฐฯ แต่เรื่องนี้ไม่ได้ป้องกันความกังวลใหม่ในหมู่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เกี่ยวกับความเสี่ยงที่ทางการจีนจะเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้ในสหรัฐฯ
ในเดือน ก.พ. 2023 ทำเนียบขาวประกาศให้เวลาหน่วยงานของรัฐบาลกลาง 30 วันเพื่อให้แน่ใจว่า TikTok จะถูกลบออกจากอุปกรณ์มือถือที่ของรัฐบาลทั้งหมด ทั้งเอฟบีไอและคณะกรรมการการสื่อสารกลางเตือนว่าไบต์แดนซ์อาจแบ่งปันข้อมูลผู้ใช้ TikTok กับรัฐบาลจีน
ความเคลื่อนไหวสำคัญเกิดขึ้นในเดือน มี.ค. 2024 เมื่อมีการเสนอร่างกฎหมายแบน TikTok หรือบังคับให้ขายหุ้นให้กับบริษัทในสหรัฐฯ ต่อสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีมติผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว และประธานาธิบดีในขณะนั้นคือ โจ ไบเดน ได้ลงนามรับรอง
2 เดือนต่อมา TikTok และบริษัทแม่ในจีนอย่างไบต์แดนซ์ได้ยื่นฟ้องรัฐบาลกลางของสหรัฐฯ โดยอ้างว่าร่างกฎหมายดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ
แต่ในการพิจารณาคดีในเดือน ธ.ค. 2024 โดยคณะลูกขุนศาลอุทธรณ์ของรัฐบาลกลาง ลงมติเอกฉันท์รับรองกฎหมายที่อาจนำไปสู่การแบน TikTok ส่งผลให้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียยอดนิยมต้องพ่ายแพ้อย่างยับเยิน และคำสั่งแบนจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 19 ม.ค. 2025
เมื่อดูแล้วน่าจะไม่สามารถดำเนินการในสหรัฐฯ ที่มีผู้ใช้งานกว่า 170 ล้านคนต่อไปได้ TikTok จึงปิดแอปฯ ตั้งแต่คืนวันที่ 18 ม.ค.
แต่ความหวังยังอยู่ เมื่อประธานาธิบดีคนใหม่ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่เข้ารับตำแหน่งสมัยที่ 2 ได้ลงนามชะลอการแบนแอปฯ ออกไป 75 วันเพื่อหาทางออกสำหรับทุกฝ่าย TikTok จึงกลับมาเปิดให้บริการชั่วคราวอีกครั้งในสหรัฐฯ

สรุป TikTok เป็นของ “จีน” หรือไม่?
จากข้อครหาเรื่องข้อมูลรั่วไหลไปจีน ทำให้มีความสงสัยว่า TikTok เป็นของจีนจริงหรือ?
หากดูเผิน ๆ คำตอบก็น่าจะเป็น “ไม่” เพราะตามเอกสารศาลสหรัฐฯ TikTok จดทะเบียนครั้งแรกในแคลิฟอร์เนีย และมีฐานอยู่ในลอสแอนเจลิสและสิงคโปร์
TikTok ไม่เคยมีอยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่ (เพราะในจีนมีแต่โต่วอิน) ซึ่งในเดือน มี.ค. 2023 ซีอีโอของ TikTok “โจว โซ่วจือ” (Shou Zi Chew) ได้ถูกสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ กดดันซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า TikTok เป็นของจีนหรือไม่ และตัวเขาเป็นคนจีนหรือไม่
โจวบอกว่าเขาเป็นคนสิงคโปร์ ส่วนเรื่อง TikTok เป็นของจีนหรือไม่นั้น เขาไม่ได้ตอบคำถามโดยตรง โดยบอกเพียงว่า แอปฯ นี้ไม่มีให้บริการในจีนและมีสำนักงานใหญ่ในลอสแอนเจลิสและสิงคโปร์

อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่า TikTok ยังคงเป็นเจ้าของโดยไบต์แดนซ์ ผ่านโครงสร้างองค์กรที่ซับซ้อนหลายชั้น
แอปฯ นี้เป็นของ TikTok LLC ซึ่งเป็นบริษัทจำกัดที่จัดตั้งขึ้นในเดลาแวร์และมีสำนักงานใหญ่ในคัลเวอร์ซิตี รัฐแคลิฟอร์เนีย โดยบริษัท TikTok LLC อยู่ภายใต้การควบคุมของ TikTok Ltd ซึ่งจดทะเบียนในหมู่เกาะเคย์แมนและมีสำนักงานใหญ่ในเซี่ยงไฮ้ บริษัทดังกล่าวเป็นเจ้าของโดย ByteDance Ltd ซึ่งจดทะเบียนในหมู่เกาะเคย์แมนและมีสำนักงานใหญ่ในปักกิ่งเช่นกัน
แถลงการณ์ในหน้าเว็บของ TikTok ระบุว่า บริษัทแม่ของ TikTok ชื่อ ByteDance Ltd. ก่อตั้งโดยผู้ประกอบการชาวจีน แต่ปัจจุบัน นักลงทุนสถาบันระดับโลก เช่น Carlyle Group, General Atlantic และ Susquehanna International Group ถือหุ้นในบริษัทอยู่ประมาณ 60%, พนักงานของ ByteDance ทั่วโลก รวมถึงชาวออสเตรเลีย ถือหุ้นในบริษัทอีก 20%, ส่วนที่เหลืออีก 20% เป็นของผู้ก่อตั้งบริษัท ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาและไม่ได้สังกัดรัฐหรือหน่วยงานรัฐบาลใด ๆ
ส่วนที่มีข้อกล่าวหาว่า มีสมาชิกของรัฐบาลจีนอยู่ในคณะกรรมการบริหารของไบต์แดนซ์นั้น บริษัทชี้แจงว่า คณะกรรมการบริหารประกอบด้วยบุคคล 5 คน ซึ่งไม่มีใครเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐ และ 3 ใน 5 คนเป็นคนอเมริกัน
อย่างไรก็ตาม แม้จะพยายามเคลียร์ตัวเองอย่างหนัก แต่รัฐบาลหลายประเทศยังคงเลือกที่จะแบนหรือจำกัดการใช้งาน TikTok อยู่ดี
โดยมี 9 ประเทศ/เขตปกครองที่สั่งห้ามการติดตั้งแอปฯ TikTok ในอุปกรณ์ของรัฐ ได้แก่ ออสเตรเลีย เอสโตเนีย สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ เดนมาร์ก แคนาดา และไต้หวัน
ส่วนนิวซีแลนด์นั้น สั่งห้ามติดตั้ง TikTok เฉพาะในอุปกรณ์ของสมาชิกรัฐสภาเท่านั้น ไม่ได้ครอบคลุมไปที่อุปกรณ์ของรัฐทั้งหมด
ขณะที่แอลเบเนียสั่งบล็อก TikTok ชั่วคราว 1 ปีโดยจะเริ่มช่วงต้นปี 2025 โดยโทษว่าแอปฯ ทำให้เกิดความรุนแรงและการกลั่นแกล้งในหมู่วัยรุ่นเพิ่มขึ้น
ด้านอัฟกานิสถาน สั่งแบน TikTok ในปี 2022 โดยให้เหตุผลว่าเพื่อปกป้องเยาวชนจากการถูกชักนำให้หลงผิด
ปัจจุบันมีเพียงอินเดียที่ออกคำสั่งให้แบนแอปฯ TikTok แบบเต็มตัว ส่วนสหรัฐฯ อยู่ระหว่างการหาทางออกตามที่ได้ระบุไว้ก่อนหน้านี้
นี่คือเส้นทางของแพลตฟอร์มยอดนิยมที่เติบโตอย่างรวดเร็วในเวลาอันสั้น แต่ขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยข้อกังขาและอุปสรรคในการดำเนินธุรกจในบางประเทศ ท่ามกลางสายตาที่จับจ้องจากหลายฝ่ายว่า TikTok จะไปต่อได้ถึงขั้นไหน

เรียบเรียงจาก (1) (2) (3) (4) (5) (6) (7) (8)