คนไทย "หนี้" ท่วมหัว ตลอดชีวิตก็ยังใช้ไม่หมด
Money Trick เกาะติดเรื่องหนี้มาตลอด และทุกครั้งที่มีข้อมูลอัปเดตก็เป็นข้อมูลที่น่าตกใจทุกครั้ง เมื่อยอดหนี้ครัวเรือนของไทยไม่เคยลดลงเลย ขณะที่พฤติกรรมการเป็นหนี้ก็น่าเป็นห่วง ครั้งนี้ก็เช่นกันมีตัวเลขหนี้หลายตัวที่น่ากังวล Money Trick กับอิ๊งค์ กชพรรณ จะมาเล่าให้ฟังค่ะ
ครั้งนี้เป็นข้อมูลของ ttb analytics และเป็นมุมมองจาก เครดิตบูโร ซึ่งบอกว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเริ่มส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นวงกว้าง
สะท้อนจากตัวเลขยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไทย ณ ไตรมาส 3 ของปี 2567 ยังคงอยู่ในระดับสูงราว 16.3 ล้านล้านบาท คิดเป็น 89% ของจีดีพี แม้จะชะลอจากที่เคยพีคสุดช่วงปี 2566 แต่มาจากการที่ธนาคารปล่อยสินเชื่อน้อยลง หรือ ยากขึ้น เป็นหลักมากกว่า

ttb analytics ได้วิเคราะห์ข้อมูลบัญชีลูกหนี้ที่ไม่สามารถระบุตัวตันได้ มากกว่า 84 ล้านบัญชี ซึ่งมียอดหนี้คงค้างอย่างที่เราบอกไปคือ 13.6 ล้านล้านบาท ซึ่งข้อมูลจากเครดิตแห่งชาติ จำกัด (NCB) พบ 5 เรื่องที่เป็นน่าห่วง เกี่ยวกับหนี้ก้อนยักษ์ก้อนนี้ค่ะ
ประเด็นที่ 1 เกือบ 40% ของคนไทยเป็นหนี้ในระบบ ต่อคนเฉลี่ย เกิน 1 แสนบาท สัดส่วนคนไทยมีหนี้่ระบบเพิ่มขึ้นจาก 31% ของจำนวนประชากรทั้งหมดในปี 2561 เพิ่มเป็น 38% ในปี 2567 สะท้อนถึงการเข้าถึงสินเชื่อที่ง่าย ช่วงโควิดมาตรการทางการเงินผ่อนคลาย แต่... สัดส่วนของหนี้เสียมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นนับตั้งแต่ผ่านพ้นช่วงโควิดมา คือ เพิ่มขึ้นจาก 17% ในปี 2561 เป็น 22% ในปี 2567 แม้ว่ายอดหนี้สินเฉลี่ย (Median) ต่อผู้กู้ตลอดทุกช่วงอายุลดลงเล็กน้อยจาก 148,000 บาท เป็น 118,000 บาทต่อคน
ประเด็นที่ 2 : เดอะแบก ทั้งหลายฟังทางนี้ ข้อมูลบอกว่า วัยสร้างครอบครัวเป็นกลุ่มที่แบกหนี้มากที่สุด
คิดเป็น 62% ของประชากร คือที่มีอายุตั้งแต่ 35-50 ปี เป็นวัยที่มีภาระหนี้ที่ต้องแบกรับสูงตั้งแต่วัยเริ่มทำงาน มีภาระรุมเร้ารอบด้านทั้งเพื่อการใช้จ่ายส่วนตัว สร้างครอบครัว ชำระหนี้เดิม รับผิดชอบพ่อแม่ ดูแลลูก ซึ่งมักจะเห็นกลุ่มนี้มีแนวโน้มก่อหนี้ในระดับสูงมากที่สุด เรียกได้ว่าเป็นกลุ่ม “ชนกำแพงรายจ่าย” อย่างแท้จริง
ส่วนใหญ่เป็นหนี้ส่วนบุคคล 43% รองลงมาคือหนี้เช่าซื้อรถ 23% และหนี้บัตรเครดิต 17% นอกจากนี้ กลุ่มวัยสร้างครอบครัวมักมีหนี้บ้านเพิ่มเติมขึ้นมาเพื่อสร้างหลักปักฐาน ซึ่งหนี้บ้านเป็นหนี้ที่กินระยะเวลาผ่อนค่อนข้างนาน จึงทำให้กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ต้องแบกรับภาระหนี้เฉลี่ยสูงถึง 154,000 บาทต่อคน
ประเด็นที่ 3 : วัย First Jobber น้องๆจบใหม่ เริ่มทำงาน หรือเรียกว่า กลุ่ม “ชนกำแพงรายได้” กลุ่มนี้เป็นกลุ่ม Gen Z (อายุระหว่าง 20-30 ปี) ก่อหนี้โดยขาดวินัยทางการเงินที่ดี ทำให้รายได้ที่เพิ่มขึ้นไม่เพียงพอกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ส่วนใหญ่เริ่มต้นจากการเป็นหนี้มอเตอร์ไซค์และหนี้ส่วนบุคคล ซึ่งพบว่า คนเป็นหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย กลุ่มที่เพิ่งเข้าสู่วัยทำงานหรือ First Jobber อายุ 25-29 ปี ซึ่งมีอยู่ประมาณ 4.6 ล้านคน แต่ 57% ของคนกลุ่มนี้เริ่มเข้าสู่วงจรหนี้ และบัญชีลูกหนี้ที่มีหนี้มอเตอร์ไซค์ในกลุ่มอายุนี้กว่า 20-30% ของทั้งหมดเป็นหนี้เสีย
ประเด็นที่ 4 : ลูกหนี้มักก่อหนี้ส่วนบุคคลไปตลอดชีวิต
ระยะหลังพบว่าพฤติกรรมของลูกหนี้หันไปก่อหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลเพื่อหมุนใช้ในการบริโภคมากขึ้น โดยสัดส่วนจำนวนบัญชีสินเชื่อต่อจำนวนบัญชีทั้งหมดของลูกหนี้ ตั้งแต่อายุ 20-80 ปี พบว่า ลูกหนี้ตลอดทุกช่วงอายุมีหนี้ส่วนบุคคลมากกว่า 40% ของบัญชีทั้งหมด ซึ่งทั้งหนี้ส่วนบุคคล หนี้บัตรเครดิต อยู่ในกลุ่มคนที่ยังไม่มีภาระสินเชื่อบ้านหรือรถยนต์สูงถึง 12.1 ล้านบัญชี ส่วนคนที่มีทั้งหนี้ส่วนบุคคล หนี้บัตรเครดิต หนี้บ้าน มีทั้งหมด 6.6 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้นจาก 26.2% จากปี 2561 สวนทางกับสัดส่วนหนี้บ้านหรือหนี้รถที่มักจะเพิ่มขึ้นในช่วงของลูกหนี้ในวัยทำงานเป็นหลัก
ประเด็นที่ 5 : 1 ใน 3 ของประชากรหลังวัยเกษียณยังคงเป็นหนี้ และมากกว่า 10% เป็นหนี้เสีย น่าห่วงกลุ่มนี้เพราะเป็นวัยที่รายรับน้อย แต่รายจ่ายยังมีอยู่ จึงต้องหันมาพึ่งพาเงินออม รวมถึงสวัสดิการอื่น ๆ หลังเกษียณ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มที่ “ชนกำแพงอายุ” แต่กลับยังต้องแบกภาระหนี้เรื้อรังที่สะสมมาตั้งแต่วัยทำงาน
จากข้อมูล NCB พบว่า ในปี 2567 กว่า 29% ของประชากรที่มีอายุระหว่าง 60-80 ปียังคงมีหนี้ในระบบ ปริมาณหนี้ก็ยังค่อนข้างสูงเฉลี่ยราวกว่า 100,000 บาทต่อคน และสัดส่วนหนี้เสียที่เกิดขึ้นจากบัญชีลูกหนี้ในช่วงอายุ 60-70 ปี ยังค่อนข้างสูงถึง 14% ของบัญชีหนี้ในระบบ ซึ่งกลุ่มนี้กำลังกลายเป็นปัญหาเรื้อรังจากความสามารถในการหารายได้ในช่วงบั้นปลายชีวิตค่อนข้างต่ำ สวนทางกับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่นับวันจะเพิ่มขึ้นตามอายุ
ttb analytics มองว่าประเด็นเรื่องหนี้ครัวเรือนไทยที่กล่าวมาข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยทุกช่วงวัยกำลังประสบปัญหา “รายได้โตไม่ทันรายจ่าย” กระทบต่อความสามารถชำระหนี้ ก่อหนี้วนลูป จนกลายเป็นหนี้พอกเรื้อรัง