เมื่อ "มาม่า - ไวไว" ถือส่วนแบ่งตลาดร่วมกัน 70% จับมือเขย่า "บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป"
จะเกิดอะไรขึ้น! 2 ยักษ์ใหญ่อย่าง "มาม่า" และ "ไวไว" ผู้ถือส่วนแบ่งร่วมกันกว่า 70% จับมือเขย่าตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่มีมูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท
เรียกความสงสัยได้ทั้งโลกออนไลน์ หลังจาก “มาม่า” เปลี่ยนรูปโปรไฟล์ของตัวเองในเฟซบุ๊ก Mamalover กลายเป็นแบรนด์คู่แข่งอย่าง “ไวไว” พร้อมระบุข้อความชวนฉงน #แวะกินยี่ห้ออื่นบ้างนะงับ
เป็นจุดเริ่มต้นของไวรัลที่ไม่เพียงแต่ผู้บริโภคจะหาคำตอบกันอย่างกว้างขวาง และทำให้เพจเฟซบุ๊กแบรนด์ต่างๆ เข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นกันอย่างคึกคัก ซึ่งรวมถึง “ไวไว” ด้วยเช่นกัน ที่เข้ามาโพสต์ข้อความว่า “ว้าวมากฮะ ว้าวกว่านี้ ก็ต้องวันที่ 12 มิย.68 แล้ววว แล้วพบกันเร็ว ๆ นี้ค่ะ”

เมื่อส่องความเคลื่อนไหวอีกเพจ Waiwai ซึ่งเป็นของ “ไวไว” ก็อาจจะพบคำตอบว่า ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในไทยกำลังจะมีความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ และเป็นสิ่งที่ไม่เคยคาดถึงกำลังจะเกิดขึ้นกับปรากฎการณ์ “ไวไว x มาม่า”
ย้อนกลับไปไม่กี่วันก่อน “ไวไว” เพิ่งเปลี่ยนรูปโปรไฟล์ของตัวเองเป็น โลโก้ของ “ไวไว WOW” พร้อมติดแฮชแท็ก #ไวไวว้าว #ถึงเครื่องจนต้นตำรับต้องร้องว้าว ก่อนที่วันเดียวกันนี้จะปล่อยแคมเปญรัวๆ ทั้งภาพซองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ติดธงชาติเกาหลีใต้ และ ธงชาติญี่ปุ่น รวมไปถึงคลิปวิดีโอ “สูตรลับความว้าว”
ต่อมา ทุกอย่างจะถูกเฉลยผ่านเพจเฟซบุ๊กของ “ไวไว” ที่มีการโพสต์ภาพโลโก้ของ “ไวไว WOW” กับ “มาม่า OK” พร้อมข้อความ เตรียมพบกับความหลากหลายของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
บทวิเคราะห์โดยวิจัยกรุงศรี พบว่า ปี 2564 อุตสาหกรรมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมีมูลค่ามากถึง 20,000 ล้านบาท ซึ่งการแข่งขันภายในประเทศค่อนข้างรุนแรงจากกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ 3 ราย ที่มีส่วนแบ่งการตลาดรวมกันถึง 86.7% ของมูลค่าตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในไทย
- มาม่า - บมจ.ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ มีส่วนแบ่งตลาด 47.6%
- ไวไว - บจก.โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย มีส่วนแบ่งตลาด 23.7%
- ยำยำ - บจก.วันไทยอุตสาหกรรมอาหาร มีส่วนแบ่งตลาด 15.4%
หากอ้างอิงตามข้อมูลนี้ การเคลื่อนไหวของ “ไวไว x มาม่า” จะเป็นการขยับพร้อมกัน 2 ยักษ์ใหญ่ที่ถือส่วนแบ่งตลาดมากถึง 70% ของตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
บทวิเคราะห์โดยวิจัยกรุงศรี ระบุถึงข้อมูลปี 2565 พบว่า ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขยายตัวได้ดีในภาวะที่กำลังซื้อซบเซา เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีราคาถูก และใช้บริโภคทดแทนได้ในยามขาดแคลนอาหารสด อีกทั้งยังเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคทุกเพศทุกวัยจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีรสชาติที่หลากหลายและแปลกใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยมีการจำหน่ายในประเทศอยู่ที่ 142.2 พันตัน คิดเป็น 61.6% ของปริมาณจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั้งหมด
สอดคล้องกับการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทยที่มีปริมาณเป็นอันดับ 9 ของโลกด้วยจำนวน 3.87 พันล้านหน่วยบริโภค และมีอัตราการบริโภค 54.0 หน่วยบริโภคต่อคนต่อปี อยู่อันดับ 3 ของโลกร่วมกับเนปาล รองจากเวียดนาม เกาหลีใต้ และเทียบกับการบริโภคเฉลี่ยทั้งโลกอยู่ที่ 15.2 หน่วยบริโภคต่อคนต่อปี
ส่วนการแข่งขันด้านราคาและปริมาณในประเทศค่อนข้างรุนแรง โดยเฉพาะกลุ่มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบซองเนื่องจากเป็นสินค้าจานด่วนที่เน้นการใช้กลยุทธ์ด้านราคา และแข่งขันพัฒนาสินค้ารูปแบบใหม่ๆ เพื่อจูงใจผู้บริโภค โดยเน้นกลุ่มระดับรายได้ปานกลางถึงล่าง ซึ่งกำลังซื้อยังไม่สูง โดยปัจจุบันผู้ผลิตมุ่งเป้าไปที่กลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ที่กำลังซื้อสูงขึ้น โดยการออกสินค้ารสชาติใหม่ที่เน้นคุณภาพของวัตถุดิบ (Premium Instant Noodles) พร้อมการพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อให้สามารถขายได้ในราคาที่สูงขึ้น
ทั้งนี้ เมื่อดูในมุมของยอดขายของ 2 ยักษ์ใหญ่ จากภาพรวมผลประกอบการเมื่อปี 2567 พบว่า
“มาม่า” ที่อยู่ในร่มของ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) แจ้งผลการดำเนินงานปี 2567 ในหมวดของบะหมี่และอาหารกึ่งสำเร็จรูป มีรายได้จากการขายทั้งในและนอกประเทศ รวม 18,940.93 ล้านบาท
แบ่งเป็น รายได้จากการขายในประเทศ 12,487.96 ล้านบาท โดยมีการเติบโตของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 7.71% ส่วนหนึ่งมาจากการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ “มาม่า OK” ประกอบกับการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มรสชาติดั้งเดิมมียอดขายเพิ่มขึ้นได้
ส่วนการส่งออกต่างประเทศ ทำรายได้ 6,452.97 ล้านบาท เป็นการเติบโตในกลุ่มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสูงถึง 24.65% โดยได้รับแรงหนุนสำคัญจากการเริ่มดำเนินการผลิตและจำหน่ายของบริษัทย่อยในประเทศเมียนมา
ส่งผลให้ในปี 2567 ภาพรวมบริษัทที่มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย มีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้น 4,481.71 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 704.17 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 18.64% เมื่อเทียบกับปี 2566
ด้าน “ไวไว” ของ บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด มีผลิตภัณฑ์เรือธง คือ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และ เส้นหมี่อบแห้ง ซึ่งในปี 2567 แจ้งมีรายได้รวม 8,834 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 12.53% โดยในส่วนนี้ แจ้งเป็นกำไรสุทธิ 1,114.79 ล้านบาท
ทั้งหมดเป็นภาพรวมของตลาดที่ฉายสะท้อนให้เห็นความยิ่งใหญ่ของ 2 ยักษ์ในตลาดบะหมึ่กึ่งสำเร็จรูปอย่าง “ไวไว – มาม่า” ที่ครองส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 70%
การเคลื่อนไหวร่วมกันครั้งนี้ จึงเป็นที่น่าจับดูตาว่าจะสร้างความตื่นตาตื่นใจให้ผู้บริโภคอย่างไร และสร้างแรงสั่นสะเทือนทั้งตลาดได้มากน้อยแค่ไหน