จับตาหลังสิ้นสุดอีโคคาร์ 2 ฐานการผลิต 'มิตซูบิชิ' ในไทยจะเป็นอย่างไร ?
สัมภาษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) ถึงทิศทางการพัฒนารถยนต์ในกลุ่มรถยนต์นั่ง และ เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า มีแนวทางอย่างไร
นายเออิอิชิ โคอิโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวภายหลังเปิดตัว ออล-นิว มิตซูบิชิ ไทรทัน (The All-New Mitsubishi Triton) ว่า ทิศทางการพัฒนารถกระบะดัดแปลง (พีพีวี) ของบริษัทหลังจากนี้จะมีการเปลี่ยนกระบวนการด้านแนวคิดในการผลิตซึ่งจะไม่อ้างอิงกับรถกระบะเป็นหลัก แม้ว่าจะใช้แพลตฟอร์ดในการพัฒนาเดียวกัน เพื่อให้ได้ผลลัพท์ที่แตกต่างกัน ซึ่งแพลตฟอร์มใหม่ของ มิตซูบิชิ ไทรทัน เป็นแพลตฟอร์มที่มีการคิดค้นและพัฒนาขึ้นมาใหม่การพัฒนาต่อยอดจึงสามารถทำได้ง่าย
เปิดครั้งแรกในโลก ! Mitsubishi Triton ใหม่ ราคา 6.99 แสน - 1 ล้านบาท
เทียบความต่าง 2 รุ่นย่อย Mitsubishi Xpander GT และ Xpander Cross
ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนแนวคิดในการพัฒนาดังกล่าวส่งผลให้หลังจากนี้รถยนต์ในกลุ่ม พีพีวี ของ มิตซูบิชิ จึงอาจจะต้องใช้ระยะเวลาการพัฒนามายิ่งขึ้นจากเดิม เพราะมีความแตกต่างจากการที่เอารถกระบะมาเติมทางด้านหลัง
สำหรับทิศทางการพัฒนารถยนต์ในกลุ่มรถยนต์นั่งภายหลังสิ้นสุดมาตรการส่งเสริมรถยนต์ประหยัดพลังงานระยะที่ 2 (อีโคคาร์ เฟส 2) บริษัทได้มีการขอรับการส่งเสริมการผลิตรถยนต์ในกลุ่มพลังงานไฟฟ้า xEV ในส่วนของเทคโนโลยีไฮบริด ซึ่งจะเริ่มดำเนินการต่อเนื่องหลังสิ้นสุดมาตรการอีโคคาร์ เฟส 2 ในทันที ซึ่งจะส่งผลให้ในปี 2567 ประเทศไทยจะเป็นฐานการผลิตรถยนต์ในกลุ่มพลังงานไฟฟ้า (xEV) เพื่อส่งออกไปยังตลาดในภูมิภาคอาเซียน
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป จะมีการเปิดตัวและผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ ในกลุ่มรถยนต์อเนกประสงค์ขนาดเล็ก (มินิเอสยูวี) และ มิตซูบิชิ เอ็กซ์แพนเดอร์ (Mitsubishi Xpander) ที่ประเทศอินโดนีเซีย และหลังจากนั้นจะมีการพิจารณารถยนต์ในกลุ่มรถยนต์นั่งในอนาคต โดยการเปิดตัว The All-New Mitsubishi Triton ในประเทศไทย ซึ่งเป็นฐานการผลิตรถกระบะซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพสอดคล้องกับโมเดลยุทธศาสตร์อย่าง ออล-นิว มิตซูบิชิ ไทรทัน ซึ่งมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 20% และ ผลิตเพื่อการส่งออก 80%
ฐานการผลิตในประเทศไทยรองรับการพัฒนาเทคโนโลยีในกลุ่มพลังงานไฟฟ้าสำหรับรถกระบะ ซึ่งยอมรับว่าได้มีการพัฒนารถกระบะที่มีเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า โดยมีความเป็นไปได้ในทุกเทคโนโลยี อาทิ ไฮบริด, ปลั๊ก-อินไฮบริด และ แบตเตอรี่ไฟฟ้า 100% เพื่อรองรับความต้องการในอนาคต
ขณะที่ ภาพรวมตลาดรถยนต์ในประเทศไทยในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมามียอดขายอยู่ที่ไม่ถึง 2 แสนคัน ต่ำกว่าเมื่อเทียบปีก่อนหน้า ซึ่งมาจากหลากหลายสาเหตุ หนึ่งในนั้นคือ ประเด็นทางการเมือง ที่ส่งผลให้ผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจซื้อ แต่เชื่อว่าจะเป็นเหตุการณ์ระยะสั้น หลังจากนี้จะปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติ โดยหากเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นในช่วงเวลาเดียวกันนั้น อุตสาหกรรมอื่น ๆ มีอัตราการเติบโตค่อนข้างดีกว่าตลาดรถยนต์ดังนั้นจึงมองว่าภาพรวมตลาดรถยนต์ในปีนี้ จะอยู่ในระดับกว่าต้นปีที่มองไว้ว่าจะอยู่ที่ 8.7 แสนคันจากปัจจัยดังกล่าวข้างต้น ซึ่งยังคงมองว่าไม่ใช่วิกฤติหรือสถานการณ์ที่รุนแรงแต่อย่างใดเป็นเพียงการปรับตัวของตลาด