มะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคที่ผู้ชายวัย 50+ เสี่ยงมากกว่าใคร
มะเร็งลำไส้ใหญ่ภัยร้ายอันดับต้นๆ ของผู้ชาย เช็กความเสี่ยง อาการของโรค เพื่อป้องกันและรับมือได้อย่างถูกต้อง
ปัจจุบันมะเร็งลำไส้ใหญ่พบมากเป็นอันดับ 3 ของโลก โดย เอ๊ดสัน อรันเตส โด นาสซิเมนโต้ หรือที่รู้จักในนาม "เปเล่" ตำนานลูกหนังโลกเอง ก็เสียชีวิตจากโรคนี้ด้วยเช่นกัน
และจากสถิติล่าสุดพบว่า ทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีผู้ป่วยด้วยโรคนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในประเทศไทยพบมากขึ้นทั้งในผู้ชายและผู้หญิง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนส่วนใหญ่ละเลยการตรวจเช็กโรคนี้ ทำให้มักพบเมื่อป่วยเข้าสู่ระยะท้าย ๆ แล้ว
เปิดประวัติ "เปเล่" ตำนานลูกหนังโลก
แสบ ขัด ปัสสาวะไม่สุด ระวังโรค "มะเร็งต่อมลูกหมาก"
จับตา 5 มะเร็งยอดฮิต ก่อนคุกคามชีวิต "ผู้ชาย" ใกล้ตัว
ดังนั้นการรู้เท่าทันมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยการดูแลใส่ใจ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และหมั่นตรวจเช็กตั้งแต่เนิ่น ๆ คือหนทางการป้องกันโรคได้ในระยะยาว
ปัจจัยเสี่ยงมะเร็งลำไส้
เพราะสาเหตุของมะเร็งลำไส้ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เป็นมะเร็งลำไส้ ได้แก่
- ทานเนื้อสัตว์ติดมันและเนื้อแดงในปริมาณมาก
- ทานเนื้อสัตว์ที่ผ่านขบวนการปรุงแต่ง (ไส้กรอก เบคอน แฮม เป็นต้น) ในปริมาณมาก ๆ
- ทานผักผลไม้น้อยหรือไม่ทานเลย
- ขาดการออกกำลังกาย
- โรคอ้วน
- สูบบุหรี่จัด
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
- พันธุกรรม หากเป็นผู้ที่มีประวัติครอบครัวมีมะเร็งลำไส้ใหญ่ ติ่งเนื้อลำไส้ใหญ่ รวมทั้งมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมบางชนิดจะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคนี
อายุมากขึ้น..ระบบในร่างกายก็เสื่อมลง
นี่คือเหตุผลหลักๆ ว่าทำไมผู้ชายวัย 50 ปีขึ้นไปถึงเสี่ยงเป็นมะเร็งลำไส้มากกว่าวัยอื่น เพราะเป็นช่วงวัยที่ระบบทางเดินอาหารและระบบย่อยอาหารเริ่มเสื่อมประสิทธิภาพลงนั่นเอง
ยิ่งถ้าเป็นคนที่ชอบทานอาหารย่อยยาก เช่น เนื้อสัตว์และอาหารที่มีไขมันสูง ทั้งที่รับประทานวันละเพียงเล็กน้อยก็ตาม แต่เพราะการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายที่เสื่อมลงจากปกติ ทำให้ต้องใช้ระยะเวลาในการทำงานของระบบทางเดินอาหารและระบบย่อยมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งทำให้มีอาหารไปค้างอยู่ในระบบย่อยนานเกินไป เกิดการบูด เน่า เสีย ค้างอยู่ในลำไส้
ไขข้อสงสัยควร “ประคบร้อน-เย็น” ตอนไหน ไม่หายใช้สิทธิประกันสังคมอย่างไร
อาการเตือนบอกโรค
ในระยะแรกอาจจะไม่มีอาการแสดงที่จำเพาะ โดยอาการที่บ่งบอกว่าอาจจะเป็นมะเร็งลำไส้ ได้แก่
- ขับถ่ายผิดปกติ ท้องผูกสลับท้องเสีย
- อุจจาระมีลักษณะเปลี่ยนไปเป็นเส้นเล็กลง
- มีเลือดออกทางทวาร อุจจาระปนเลือด
- ปวดท้อง โดยลักษณะการปวดขึ้นอยู่กับขนาดของก้อนและตำแหน่งที่พบ เช่น ถ้าก้อนโตด้านหน้าจะปวดเจ็บคล้ายคนเป็นไส้ติ่ง ถ้ามีก้อนบริเวณลำไส้ใหญ่ด้านซ้ายจะมีอาการลำไส้อุดตัน ปวดท้องคล้ายลำไส้ถูกบิด เป็นต้น
ตรวจวินิจฉัยให้ถูกจุด
การตรวจวินิจฉัยมะเร็งลำไส้ใหญ่ สามารถทำได้โดย
- ส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ทวารหนัก (Colonoscopy)
- เอกซเรย์คอมพิวเตอร์โดยการสวนแป้งแบเรี่ยม
- ตรวจเลือดเพื่อค้นหามะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยวัดระดับ Carcinoembryonic Antigen (CEA)
- ตรวจเพิ่มเติมอื่น ๆ เช่น เอกซเรย์ทรวงอก, CT Scan, MRI หรือส่องกล้องคลื่นความถี่สูง (EUS)
รักษาตามระยะ
การรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่นั้นขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรคเป็นสำคัญ ได้แก่
- ระยะที่ 0 (Stage 0) ระยะก่อนมะเร็ง เซลล์มะเร็งจะอยู่บริเวณผนังลำไส้ สามารถรักษาได้โดยการส่องกล้องเพื่อเข้าไปตัดชิ้นเนื้อออก
- ระยะที่ 1 (Stage I) – ระยะที่ 2 (Stage II) เซลล์มะเร็งลุกลามเข้าไปบริเวณผนังกล้ามเนื้อของลำไส้ใหญ่ แต่ยังไม่แพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลือง สามารถรักษาได้โดยผ่าตัดตามตำแหน่งที่พบในลำไส้ ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่ตรวจพบในระยะที่ 2 จะมีการตรวจยีน (Genome Testing) เพิ่มเติม เพื่อพิจารณาว่าจำเป็นต้องให้ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) ร่วมด้วยหรือไม่ เพราะการรักษาด้วยเคมีบำบัดช่วยลดโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้
- ระยะที่ 3 (Stage III) เซลล์มะเร็งลุกลามไปยังบริเวณต่อมน้ำเหลือง ต้องมีการตรวจยีน (Genome Testing) ร่วมด้วย สามารถรักษาโดยการให้เคมีบำบัด (Chemotherapy) หรือยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) แต่จะมีการฉายรังสี (Radiotherapy) ร่วมด้วยในกรณีที่พบบริเวณลำไส้และทวารหนัก
- ระยะที่ 4 (Stage IV) เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปทั่วทั้งต่อมน้ำเหลืองและอวัยวะต่าง ๆ เช่น ตับ ปอด กระเพาะอาหาร รังไข่ ต้องรักษาเริ่มต้นโดยการให้เคมีบำบัด (Chemotherapy) ร่วมกับการฉายรังสี (Radiotherapy) แล้วตามด้วยการผ่าตัดก้อนมะเร็งในตำแหน่งที่พบรวมถึงตำแหน่งที่ลุกลามไปยังอวัยวะใกล้เคียง
ตรวจเช็กป้องกันโรค
สัญญาณเตือนของมะเร็งลำไส้ คือ ติ่งเนื้อหรือก้อนเนื้อ เพราะฉะนั้นการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ทวารหนัก (Colonoscopy) แนะนำให้ตรวจเป็นประจำทุก ๆ 5 – 10 ปี ตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป จะช่วยให้สามารถรับมือได้ทันท่วงที แต่ถ้าหากมีคนในครอบครัวเคยป่วยด้วยโรคนี้ แนะนำให้มาตรวจตั้งแต่อายุ 45 ปีขึ้นไปจะดีที่สุด
นอกจากการตรวจเช็กร่างกายและใส่ใจความผิดปกติที่เกิดขึ้น สิ่งที่สำคัญคือการเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะผักและผลไม้ควรทานเป็นประจำ ที่สำคัญคือต้องออกกำลังกายสม่ำเสมอและควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เพียงเท่านี้ก็ช่วยให้สุขภาพแข็งแรงห่างไกลมะเร็งลำไส้อย่างแน่นอน
ขอบคุณข้อมูลสุขภาพจาก โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ, โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน
กินป้องกัน "กระดูกพรุน" ด้วยอาหาร 4 ประเภทที่จำเป็นต่อร่างกาย
8 ข้อดีเมื่อ "บริจาคโลหิต" มากกว่าการให้ผู้อื่นคือสุขภาพดีของตนเอง