ทำ ‘บอลลูน’ รักษาหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคคร่าชีวิตคนไทยอันดับต้น ๆ
รู้จัก ‘การสวนหัวใจด้วยบอลลูน’ วิธีรักษาหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคคร่าชีวิตคนไทยอันดับต้น ๆ ที่แพทย์มักแนะนำให้ทันทีเมื่อตรวจพบอาการ
ในแต่ละปีมีอัตราการตายที่เกิดจากโรคหัวใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ที่พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกปีอย่างน่าตกใจ สืบเนื่องมาจากไลฟ์สไตล์ของคนในปัจจุบันที่เปลี่ยนไปจากในอดีต โดยเฉพาะผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองใหญ่ที่เคร่งเครียดกับการทำงาน ไม่มีเวลาออกกำลังกาย สูบบุหรี่ รับประทานอาหารจานด่วน หรืออาหารประเภทไขมันอิ่มตัวสูง
เช็ก 5 สัญญาณเตือนที่บ่งบอกอาการเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ
และเมื่อแพทย์วินิจฉัยจากการฉีดสีแล้วว่า ผู้ป่วยมีภาวะหลอดเลือดตีบแคบ โดยส่วนใหญ่แล้วสิ่งที่ผู้ป่วยจะถูกแนะนำให้ทำทันที คือ “การขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน”
ดังนั้นแล้วการการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนคืออะไร ใครที่ควรจะทำ และวิธีการนี้ดีอย่างไร ทีมข่าวพีพีทีวีนิวมีเดียได้รวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
ความสำคัญของหัวใจ ที่ต้องดูแล
หัวใจมีขนาดเท่ากำปั้นของเรา มีทั้งหมด 4 ห้อง ทำหน้าที่ในการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย โดยห้องซ้ายบนทำหน้าที่รับเลือดจากปอดและส่งมาห้องซ้ายล่างเพื่อส่งเลือดไปเลี้ยงตามร่างกาย ส่วนห้องขวาบนรับเลือดจากร่างกาย และส่งไปห้องขวาล่างเพื่อไปฟอกเลือดที่ปอด
เพราะฉะนั้น หัวใจจึงเปรียบเสมือนศูนย์กลางการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงตามร่างกาย ถ้าหัวใจไม่แข็งแรง ส่วนอื่นจะอ่อนแอตามไปด้วย เนื่องจากอาจได้รับเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอ
แต่นอกจากหัวใจจะส่งเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกายแล้ว ตัวหัวใจเองก็ต้องการเลือดมาหล่อเลี้ยงด้วยเช่นกัน หัวใจจะมีหลอดเลือดมาเลี้ยงอยู่ 3 เส้น ด้านขวา 1 เส้น และด้านซ้าย 2 เส้น หลอดเลือดทั้งสามเส้นนี้จะทำหน้าที่ในการส่งเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจทุกส่วน
จึงมีความสำคัญมาก ถ้าหลอดเลือดหัวใจเกิดความผิดปกติ เช่น ตีบ อุดตัน ก็จะเป็นอุปสรรคต่อการไหลเวียนเลือด ส่งผลต่อหัวใจและอวัยวะอื่นๆ ได้ ซึ่งภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ ถือเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตเป็นอันดับต้น ๆ ในประเทศไทย
รู้จักโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน เกิดจากการมีไขมันและหินปูนไปพอกอยู่ภายในหลอดเลือดแดง จนเกิดการอุดตันหรือเส้นเลือดเกิดการปริแตกขึ้น ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยง โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคนี้ แบ่งออกเป็น
1.) ปัจจัยที่ควบคุมได้
- กินอาหารไม่มีประโยชน์
- ความเครียด
- ไม่ออกกำลังกาย
- น้ำหนักมาก
- การสูบบุหรี่
- โรคประจำตัว ได้แก่ เบาหวาน ความดัน และไขมันในเลือดสูง
2.) ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้
- อายุที่มากขึ้นมีโอกาสเป็นเพิ่มขึ้น
- เพศชายเป็นได้มากกว่าเพศหญิง แต่หากในวัยหมดประจำเดือนเพศหญิงมีโอกาสเป็นเท่ากับเพศชาย
- ประวัติครอบครัว
การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
- หากหลอดเลือดตีบตันเพียงบางส่วน รักษาด้วยยา
- หากหลอดเลือดตันมาก รักษาด้วยการทำบอลลูนหัวใจ
- หากไม่สามารถทำบอลลูนหัวใจได้ รักษาด้วยการผ่าตัดทำบายพาสหัวใจ (การผ่าตัดหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ)
อาการบ่งชี้ที่ควรขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน
- แน่นหน้าอกรุนแรง เหมือนมีของหนักกดทับ
- หายใจหอบเหนื่อย เหงื่อท่วม หมดแรง ใจสั่น หน้ามืด คล้ายจะเป็นลม
- อาจมีอาการปวดร้าว หรือชา ไปที่แขน ไหล่ กราม
- มีประวัติหรือความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือด เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหัวใจขาดเลือด ภาวะอ้วน สูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกาย
- เคยตรวจพบความผิดปกติจากการตรวจคัดกรองอื่น ๆ เช่น กราฟไฟฟ้าหัวใจ คลื่นเสียงสะท้อน กราฟหัวใจขณะเดินสายพานผิดปกติ
สวนหัวใจด้วยบอลลูนดีอย่างไร
ข้อดีของการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบแคบตัน ด้วยวิธีบอลลูน คือ สามารถช่วยลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนในการผ่าตัดบายพาสได้ เพราะไม่ต้องดมยาสลบ ซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงแก่ผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยสามารถรู้สึกตัวพูดคุยกับแพทย์ได้
นอกจากนี้การรักษาด้วยวิธีนี้ จะใช้เวลาเฉลี่ย 1-2 วัน ก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้เป็นปกติ โดยไม่ต้องกังวลกับอาการภาวะหัวใจขาดเลือด อีกทั้งสามารถทำซ้ำได้หลายครั้ง ในกรณีที่หลอดเลือดตีบตันมากขึ้นในอนาคต
วิธีการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน
- แพทย์จะนำสายสวนหัวใจชนิดบอลลูนสอดผ่านเส้นเลือดเข้าไปยังหลอดเลือดหัวใจตำแหน่งที่ตีบ
- บอลลูนจะถูกขยายให้พองตัวขึ้น โดยขยายตัวแนบไปกับผนังหลอดเลือดและกดทับพลัค (plaque)
- บอลลูนจะถูกทำให้แฟบลงและสายสวนจะถูกนำออกไปจากหลอดเลือดหัวใจ ทำให้บริเวณด้านในของหลอดเลือดกว้างขึ้นและเลือดไหลไปสู่กล้ามเนื้อหัวใจดีขึ้น
อย่างไรก็ตามการป้องกันนั้นย่อมดีกว่าการแก้ไข การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสามารถลดปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ได้ เพียงหมั่นออกกำลังกาย บริโภคอาหารที่มีประโยชน์ ไม่สูบบุหรี่ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และควรหาโอกาสตรวจสุขภาพหัวใจเป็นประจำทุกปี
"กัญชา - คาเฟอีน" ใช้ไม่ถูกวิธีเสี่ยงหัวใจเต้นผิดจังหวะ
กินแบบไหน ได้แบบนั้น "หัวใจ" จะแข็งแรงแค่ไหนดูที่นิสัยการกิน
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลสมิติเวช, โรงพยาบาลกรุงเทพ, โรงพยาบาลเปาโล และโรงพยาบาลพญาไท