ประเทศไทยพบผู้ป่วย ”โรคเบาหวาน” ไม่ต่ำกว่า 4 ล้านคน
โรคเบาหวานเป็นโรคไม่ติดต่อที่พบได้บ่อยที่สุดและคนไทยเป็นโรคนี้เพิ่มสูงขึ้นทุกปี ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยเบาหวานไม่น้อยกว่า 4 ล้านคน
การสำรวจสุขภาพประชากรไทยโดยการตรวจร่างกายพบว่า ความชุกของโรคเบาหวานในประชากรไทยอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6.9 ในปีพ.ศ. 2547 เป็น ร้อยละ 8.8 ในปีพ.ศ. 2557 และพบว่าผู้หญิงเป็นโรคเบาหวานร้อยละ 9.8 ในขณะที่ผู้ช้ายเป็นโรคเบาหวานร้อยละ 7.8 กลุ่มอายุ 60-69 ปี พบว่ามีความชุกของโรคเบาหวานสูงที่สุด (ร้อยละ 15.9 ในผู้ชาย และร้อยละ 21.9 ในผู้หญิง)
เตือน! หาก “เบาหวานขึ้นตา” รักษาช้า เสี่ยงตาบอดถาวร
10 เข้าใจ และ ความเชื่อแบบ ผิดๆ เกี่ยวกับคนเป็นโรคเบาหวาน
ในปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยเบาหวานไม่น้อยกว่า 4 ล้านคน ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงจากการเป็นเบาหวานก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในหลายระบบของร่างกาย ได้แก่ จอประสาทตาผิดปกติจากเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง โรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง และภาวะแทรกซ้อนที่เท้าและขา ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว
ขณะที่อาการของโรคเบาหวานมีหลายรูปแบบ ตั้งแต่ไม่มีอาการเลย จนถึงมีอาการผิดปกติเช่น หิวน้ำบ่อยมาก ปัสสาวะบ่อยและปริมาณมาก ปัสสาวะมีมดตอม กินเก่งมากอย่างผิดปกติ น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ แผลหายยาก อ่อนเพลียผิดปกติ คันตามตัว เป็นฝีบ่อย ปวดแสบปวดร้อนหรือชาปลายมือปลายเท้า ตามัวลง ปวดขาหรือเป็นตะคริวเมื่อเดินไกลๆ ในผู้หญิงอาจมีตกขาวหรือคันช่องคลอดเรื้อรัง
อย่างไรก็ตามผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ จะทราบว่าเป็นโรคเบาหวานหรือไม่จากการตรวจสุขภาพเท่านั้น ดังนั้นผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเบาหวานควรเข้ารับการตรวจคัดกรองหาโรคเบาหวานตั้งแต่ระยะแรกๆ
โรคเบาหวานแบ่งเป็นชนิดที่พบบ่อย 4 ชนิด
เบาหวานชนิดต้องพึ่งพาอินซูลิน
เบาหวานชนิดนี้เกิดจากการที่ตับอ่อนไม่สามารถสร้างฮอร์โมนที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้จำนวนเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย โดยเกิดจากการมีภูมิคุ้มกันต่อต้านตนเอง ภูมิคุ้มกันนี้จะไปทำลายเซลล์ในตับอ่อนที่สร้างฮอร์โมน “อินซูลิน” ที่ทำหน้าที่ลดระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ เบาหวานชนิดนี้อาจพบได้ในผู้ป่วยทุกช่วงอายุ แต่พบได้มากในช่วงเด็กและวัยรุ่น ประวัติการมีผู้ป่วยโรคนี้ในครอบครัวจะเพิ่มความเสี่ยงของโรคนี้มากขึ้น
เบาหวานชนิดไม่ต้องพึ่งพาอินซูลิน
เบาหวานชนิดนี้เป็นเบาหวานที่พบบ่อยมากที่สุด โรคนี้ในระยะแรกเกิดจากภาวะดื้อต่อฮอร์โมน “อินซูลิน” โดยร่างกายสามารถผลิตฮอร์โมนนี้เพื่อลดระดับน้ำตาลได้ แต่ฮอร์โมนนี้ไปทำงานได้ไม่ดี ร่างกายต้องการระดับฮอร์โมนที่อินซูลินสูงมากขึ้น เพิ่มลดระดับน้ำตาล โดยภาวะดื้อต่ออินซูลินนี้เกิดจากความอ้วน ภาวะน้ำหนักเกิน แต่ก็พบภาวะดื้อต่ออินซูลินนี้ได้ในผู้ป่วยที่น้ำหนักตัวปกติ และในระยะยาวผู้ป่วยจะเกิดการเสื่อมของเซลล์ในตับอ่อนที่สร้างฮอร์โมน “อินซูลิน” ทำให้ผลิตอินซูลินได้ลดลง ช่วยส่งเสริมให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอีก ประวัติการมีผู้ป่วยโรคนี้ในครอบครัวจะเพิ่มความเสี่ยงของโรคนี้มากขึ้น
เบาหวานขณะตั้งครรภ์
รกในระหว่างตั้งครรภ์จะสร้างสารภาวะดื้อต่อฮอร์โมน “อินซูลิน” ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น เมื่อคลอดรกแล้วสภาวะนี้จะหายไป โดยผู้ป่วยที่ประวัติเคยเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์มาก่อน หรือมีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นมาก่อนจะเพิ่มความเสี่ยงของโรคนี้ และผู้ป่วยถ้าเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ จะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 เมื่ออายุมากขึ้นด้วย
เบาหวานชนิดอื่นๆ เช่น เบาหวานจากการใช้ยาบางชนิด เบาหวานจากโรคตับอ่อนอักเสบ
เบาหวานในกลุ่มนี้จะมีสาเหตุจำเฉพาะเป็นรายกรณีไป เป็นสภาวะที่พบไม่บ่อย เช่น เบาหวานจากโรคตับอ่อนอักเสบจากการดื่มแอลกอฮอล์ทำให้ตับอ่อนอักเสบ จนทำลายเซลล์ในตับอ่อนที่สร้างฮอร์โมน “อินซูลิน” หรือยาสเตียรอยด์ที่ทำให้เกิดภาวะดื้อต่อฮอร์โมน “อินซูลิน” เป็นต้น
ใครบ้างที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน
1. ผู้ที่อายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป
2. คนอ้วน หรือผู้ที่มีดัชนีมวลกาย (BMI) ตั้งแต่ 25 กิโลกรัมต่อตารางเมตร (กก./ม.2) และ/หรือ ผู้ชายที่มีรอบเอวตั้งแต่ 90 เซนติเมตร หรือผู้หญิงที่มีรอบเอวตั้งแต่ 80 เซนติเมตร ดัชนีมวลกาย หรือ Body mass index (BMI) คำนวณจาก น้ำหนักตัว (หน่วยเป็นกิโลกรัม) หารด้วย ส่วนสูง (หน่วยเป็นเมตร) ยกกำลังสอง เช่น น้ำหนัก 100 กิโลกรัม สูง 180 เซนติเมตร เมื่อคำนวณค่าดัชนีมวลกายคือ 100 หาร (1.80)2 จะได้ค่าดัชนีมวลกายเท่ากับ 30.86 กก./ม.2 ซึ่งมีค่ามากกว่า 25 กก./ม.2 ถือว่าอ้วนและมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน
3. ผู้ที่มีญาติสายตรง เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง คนใดคนหนึ่งป่วยเป็นโรคเบาหวาน
4. ผู้เป็นโรคความดันโลหิตสูง หรือกินยาควบคุมความดันอยู่
5. ผู้ที่มีระดับไขมันในเลือดผิดปกติ โดยที่ค่าไตรกลีเซอไรด์สูงกว่า 250 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (มก./ดล.) หรือค่าไขมันโคเลสเตอรอล ชนิดเอชดีแอล (HDL-cholesterol) น้อยกว่า 35 มก./ดล.
6. ผู้หญิงที่มีประวัติเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือเคยคลอดบุตรน้ำหนักแรกเกิดเกิน 4 กิโลกรัม
7. ผู้ที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด
ทั้งนี้ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้อย่างน้อยหนึ่งข้อ ควรได้รับการตรวจคัดกรองเบาหวานตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน
การวินิจฉัย
โรคเบาหวานสามารถวินิจฉัยได้โดยการตรวจเลือด โดยตรวจได้ 3 รูปแบบ ได้แก่ แบบที่ 1 ตรวจน้ำตาลช่วงอดอาหาร ซึ่งเป็นวิธีที่ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดโดยมีค่าปกติคือไม่เกิน 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ค่าระหว่าง 100 ถึง 125 เป็นภาวะก่อนเป็นเบาหวานหรือ pre diabetic และตั้งแต่ 126 เป็นโรคเบาหวาน การตรวจแบบที่สองคือการตรวจค่าน้ำตาลเฉลี่ยสะสม หรือเรียกว่า Hemoglobin A1c โดยค่าปกติคือน้อยกว่า 5.7๔ ค่าระหว่าง 5.7 ถึง 6.4% เป็นภาวะก่อนเป็นเบาหวานหรือ pre diabetic และตั้งแต่ 6.5% คือเป็นโรคเบาหวาน และแบบที่สาม ซึ่งเป็นการตรวจที่ซับซ้อนที่สุด แต่สามารถวินิจฉัยเบาหวานได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น คือการดื่มน้ำหวานแล้วเจาะเลือดที่ 2 ชั่วโมงให้หลัง ถ้าค่าน้ำตาลหลังดื่มน้ำหวานอยู่ระหว่าง 140 ถึง 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ถือว่าเป็นภาวะก่อนเป็นเบาหวานหรือ pre diabetic และมากกว่า 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร เป็นโรคเบาหวาน
การรักษา
เป้าหมายการรักษาเบาหวาน หลักๆมีสองอย่าง อย่างแรกคือควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ปกติ โดยเราจะตรวจเลือดติดตามทั้งระดับน้ำตาลรายวัน ช่วงอดอาหาร น้ำตาลช่วงหลังอาหาร และน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในช่วง 3 เดือน การรักษาให้ระดับน้ำตาลอยู่ในช่วงปกติ ไม่ต่ำเกินไป ทำให้ไม่มีอาการหน้ามืด ใจสั่น วินเวียนคล้ายจะเป็นลม และไม่ให้ระดับน้ำตาลสูงเกินไป ซึ่งจะทำให้เกิดอาการวินเวียน มึนงง หรือหอบเหนื่อย และอาจร้ายแรงถึงขึ้นซึม หมดสติหรือชักได้ เป้าหมายอย่างที่สองคือรักษาเบาหวานคุมน้ำตาลเพื่อป้องกันโรคและภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานที่จะตามมาใน 10-20 ปีถัดไป เช่น ตาบอดจากเบาหวานขึ้นจอประสาทตา ไตวายต้องล้างไตจากเบาหวานลงไต หัวใจวาย เส้นเลือดหัวใจตีบ หลอดเลือดสมองตีบหรืออัมพาต แผลติดเชื้อที่เท้า เส้นเลือดไปเลี้ยงที่ขาขาดเลือด
การรักษาเบาหวานสามารถใช้ทั้งยารับประทาน ยาฉีดรายสัปดาห์ หรือยาฉีดอินซูลิน เพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาล โดยในช่วงที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูง อาจต้องใช้ยาร่วมกันหลายชนิด เมื่อใช้ยารักษาไปแล้วระยะเวลาหนึ่ง ร่วมกับการปรับเปลี่ยนอาหารและเพิ่มการออกกำลังกาย ผู้ป่วยบางรายที่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น สามารถลดชนิดและปริมาณยารักษาเบาหวานลงได้ โดยสามารถใช้จำนวนน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น และในบางรายก็สามารถหยุดยาเบาหวานได้
ยารักษาเบาหวานทุกชนิด ไม่มีผลทำลายตับหรือไตในระยะยาว ตรงกันข้ามยาบางชนิดสามารถช่วยลดโอกาสเกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไตวาย หรือเส้นเลือดที่ขาขาดเลือดได้ด้วย
การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันโรคเบาหวาน
1. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
3. ไม่สูบบุหรี่
4. หลีกเลี่ยงดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
5. ไม่เครียด หรือวิตกกังวลมากจนเกินไป
6. หมั่นไปตรวจระดับน้ำตาลในเลือด และปัสสาวะเป็นประจำ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตสามารถทำได้ทุกคน โดยเฉพาะการควบคุมปริมาณน้ำตาลคือเรื่องที่ไม่ควรละเลย ในแต่ละวันไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกิน 6 ช้อนชา รวมทั้งการควบคุมน้ำหนักและออกกำลังกายอย่างเหมาะสม เพราะไม่เพียงแต่จะป้องกันโรคเบาหวานเท่านั้น ยังสามารถป้องกันการเกิดโรคเรื้อรังไม่ติดต่อต่าง ๆ ได้ด้วย
21 ก.พ. นี้ ฉีดวัคซีนเข็ม 3 เข็ม 4 ระบบ "นนท์พร้อม" เปิด walk in "ไฟเซอร์" ไม่จำกัดพื้นที่
แนะอาหารสมอง...ต้องเลือกให้เป็นป้องกันการเสื่อมได้
ขอขอบคุณข้อมูลสุขภาพจาก : โรงพยาบาลกรุงเทพ และ สถิติโรคเบาหวานในประเทศไทย