"ยานอนหลับ" อาจไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด แนะหัวใจสำคัญควรทำคู่การรักษา
โรคนอนไม่หลับ การกินยาเป็นตัวช่วยยอดฮิต แต่ยังมีทางออกอื่นๆ อีกที่หมอแนะนำช่วยให้การนอนหลับของคุณดีขึ้น
ถ้าพูดถึงปัญหา “โรคนอนไม่หลับ” หรือ “Insomnia” หลายคนน่าจะพุ่งเป้าการรักษาไปที่การทานยานอนหลับ แต่จริงๆ แล้ว “ยานอนหลับ” อาจไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด ยังมีตัวเลือกอื่นๆ ที่จะช่วยให้การนอนหลับมีคุณภาพที่ดีขึ้นโดยไม่ต้องพึ่งยา
โรคนอนไม่หลับคืออะไร...หลับยากมานานแค่ไหนถึงควรพบแพทย์
โรคนอนไม่หลับ (Insomnia) จะแบ่งเป็น 2 แบบใหญ่ๆ คือ Acute และ Chronic
7 เคล็ดลับสำหรับคนหลับยาก คุณภาพการนอนดีได้โดยไม่ต้องพึ่งยา
นอนไม่มีคุณภาพเสี่ยง "หัวใจโต" อันตรายถึงชีวิตหากไม่รีบตรวจเช็ก
- Acute เป็นการนอนไม่หลับในช่วงระยะสั้นๆ เกิดขึ้นประมาณ 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ ติดต่อกันไม่เกิน 3 เดือน
- Chronic จะเป็นการนอนไม่หลับแบบเรื้อรัง คือ เกิดขึ้นมากกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ขึ้นไป และต่อเนื่องมากกว่า 3 เดือนขึ้นไป
โดยส่วนใหญ่ในช่วงแรก หลายคนจะเริ่มจากขั้น Acute ก่อน ซึ่งถ้ารู้สึกว่ายังควบคุมได้ ไม่กระทบชีวิตประจำวัน ก็ยังไม่จําเป็นต้องไปพบแพทย์ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่การนอนไม่หลับเริ่มส่งผลกับชีวิตประจําวัน ไม่ว่าจะเป็น การปวดศีรษะ หงุดหงิดง่าย ไม่มีสมาธิ ทํางานไม่มีประสิทธิภาพ แบบนี้ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและแก้ไขตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะถ้าปล่อยให้เวลาเรื้อรังจนถึงขั้น Chronic ปัญหาการนอนไม่หลับจะส่งผลกระทบต่อทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตได้
SLEEP TEST ตรวจประสิทธิภาพการนอน ลดอันตรายจากความผิดปกติที่ถึงชีวิต
เพราะสาเหตุอะไรที่ทำให้เกิดปัญหา “นอนไม่หลับ”
อาการนอนไม่หลับอาจมีสาเหตุมาจากโรคอื่นๆ ได้เหมือนกัน เช่น โรคที่ส่งผลให้หายใจไม่สะดวกอย่างโรคปอด หรือโรคกรดไหลย้อนที่ทําให้ไม่สบายท้องเวลานอน รวมถึงภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea) ที่ผู้ป่วยมักจะสะดุ้งตื่นขึ้นมาในเวลากลางคืน
แต่สำหรับอาการนอนไม่หลับที่เกิดจาก “โรคนอนไม่หลับ” โดยตรง มักมีสาเหตุมาจาก 3 ปัจจัยหลักๆ คือ
- สภาวะทางอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็น ความเครียด วิตกกังวล หรือซึมเศร้า
- ความสมดุลของฮอร์โมน เนื่องจากร่างกายมีความผิดปกติ อาจจะมีการผลิตฮอร์โมนบางชนิดมากหรือน้อยกว่าปกติ และส่งผลต่อการนอนหลับ เช่น มี DHEA หรือฮอร์โมนความสุขต่ำเกินไป, มี Cortisol หรือฮอร์โมนความเครียดสูงเกินไป
- สภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็น สภาพแวดล้อมภายในห้องนอน หรือพฤติกรรมต่างๆ อย่างการชอบเล่นมือถือก่อนนอน ที่อาจจะทําให้แสงสีฟ้าเข้าไปยับยั้งการหลั่ง Melatonin ในร่างกาย ส่งผลให้เรานอนหลับได้ยากขึ้น
5 เรื่องต้องห้ามก่อนเข้านอน ช่วยให้หลับลึก ไม่ตื่นกลางดึก
ตรวจให้ชัวร์...เช็กให้ละเอียด ด้วยวิธีการเหล่านี้
การตรวจคัดกรองนั้น เริ่มตั้งแต่การพูดคุยสอบถามอาการเบื้องต้น ไปจนถึงการตรวจเลือดและตรวจปัสสาวะเพื่อเช็กระดับฮอร์โมนและค่าต่างๆ ซึ่งในขั้นตอนแรกนั้น ต้องวินิจฉัยก่อนว่า “โรคนอนไม่หลับ” ที่เราเป็น มีสาเหตุมาจากตัวโรคเอง หรือมีสาเหตุมาจากโรคอื่นๆ ซึ่งถ้าไม่ได้มีสาเหตุมาจากโรคอื่นๆ ก็เป็นการตรวจดูในเรื่องสภาวะทางอารมณ์, ความสมดุลของฮอร์โมน รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น อาหารการกิน การออกกําลังกาย และพฤติกรรมที่มักทำบ่อยๆ ก่อนเข้านอน
เป็น “ตะคริว” ตอนกลางคืนบ่อยๆ สัญญาณความผิดปกติที่ไม่ควรมองข้าม
เช็กต้นเหตุนอนไม่หลับ...ต้องตรวจฮอร์โมนอะไรบ้าง
ในการตรวจระดับฮอร์โมนนั้น หลักๆ แพทย์จะทําการเจาะเลือดเพื่อตรวจฮอร์โมน DHEA และ Cortisol ซึ่งเป็นฮอร์โมนเกี่ยวกับด้านอารมณ์ รวมไปถึง Growth Hormone ซึ่งหากอยู่ในระดับปริมาณที่ไม่พอดี ก็สามารถส่งผลต่อการนอนได้เช่นกัน
ไม่เพียงตรวจฮอร์โมน แต่แพทย์ยังทำการตรวจระดับวิตามินในร่างกาย โดยการตรวจปัสสาวะซึ่งถ้าพบว่าอยู่ในระดับที่มากหรือน้อยจนเกินไป ก็อาจจะต้องมีการให้วิตามินหรืออาหารเสริมบางประเภท เช่น Magnesium, GABA, Vitamin B6, L-Tryptophan หรือ Melatonin ที่เป็นสารตั้งต้นตัวสําคัญที่จะช่วยให้การนอนหลับของเราดีขึ้น
ใช้ยานอนหลับเป็นตัวช่วย...ดีหรือไม่ดีกันแน่
การรักษาอาการนอนไม่หลับโดยการใช้ยานอนหลับ...อาจไม่ใช่เรื่องต้องห้ามซะทีเดียว เพียงแต่ไม่ควรใช้ยานอนหลับติดต่อกันเกิน 1-3 เดือน เพราะเมื่อหยุดยาจะทำให้การนอนหลับยากยิ่งขึ้น หากต้องการหยุดหรือปรับยานอนหลับ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้ง และสิ่งที่สำคัญกว่า...คือการตรวจหาสาเหตุของการนอนไม่หลับ เพื่อนำไปสู่แนวทางการรักษาที่ตรงจุด
ทานยาแก้แพ้ในกลุ่มรุ่นเก่า เสี่ยงโรคสมองเสื่อม!!
ปรับพฤติกรรมหัวใจสำคัญที่ควรทำควบคู่การรักษา
ในการรักษาอาการนอนไม่หลับนั้น มักเน้นไปที่การปรับพฤติกรรมควบคู่ไปกับการปรับเรื่องฮอร์โมนในรายที่มีความผิดปกติ เช่น ระดับฮอร์โมนขาดความสมดุลเพราะเกิดจากความอ้วน ก็ต้องมาดูเรื่องการคุมน้ำหนัก เรื่องอินซูลิน เรื่องการคุมอาหาร ซึ่งในเรื่องของอาหารนั้นถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ เพราะสามารถส่งผลต่อคุณภาพการนอนได้ค่อนข้างมากเลยทีเดียว
โดยพฤติกรรมที่ต้องปรับเพื่อรักษาโรคนอนไม่หลับ คือ ควรเว้นการทานอาหารอย่างน้อย 3 ชั่วโมง งดชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน อย่างน้อย 6 ชั่วโมง ก่อนเข้านอน และควรงดอาหารรสจัด เพราะจะกระตุ้นการหลั่งของสารสื่อประสาทที่ทําให้เราตื่นตัว และนอนหลับยากมากขึ้น
สำหรับการออกกำลังกายที่หลายคนเข้าใจว่าการออกกำลังกายหนักๆ จะทำให้หลับสบายขึ้นนั้น ก็อาจไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะหลังออกกำลังกาย...สมองจะอยู่ในภาวะตื่นตัว มีการหลั่งอะดรีนาลีน ส่งผลให้หลับยากขึ้น จึงควรงดออกกำลังกายอย่างน้อย 3 ชั่วโมงก่อนเข้านอน หรือปรับเวลาไปออกกำลังกายในตอนเช้าจะดีที่สุด
ป้องกันโรคนอนไม่หลับ
การป้องกันตนเองจากโรคนอนไม่หลับนั้น เริ่มจากการปรับพฤติกรรม เช่น การรักษาสมดุลฮอร์โมน DHEA ที่ร่างกายสามารถสร้างขึ้นได้เองจากการใช้สมาธิ อย่าง การสวดมนต์ อ่านหนังสือ หรือฟังเพลงเบาๆ นอกจากนี้ ก่อนนอนควรปรับไฟ ปรับอุณหภูมิในห้องให้เหมาะกับการนอน คือ ไม่เกิน 27 องศาเซลเซียส รวมทั้งการใช้กลิ่นสารสกัดจากธรรมชาติมาเป็นตัวช่วยให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย และที่สำคัญคือไม่ควรปล่อยให้สมองอยู่ในภาวะเครียดช่วงก่อนเข้านอน
ขอบคุณข้อมูลสุขภาพจาก โรงพยาบาลพญาไท 2