“โรคหลอดเลือดสมอง” รู้เร็ว รักษาไว ห่างไกลความพิการ
พบทุก10 นาทีจะมีคนไทยเสียชีวิตด้วย “โรคหลอดเลือดสมอง” แนะสังเกตอาการ หากรู้เร็วรักษาไวจะห่างไกลความพิการ
จากสถิติพบว่าคนไทยป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองถึงปีละ 150,000 คน หรือกล่าวได้ว่าคนไทยป่วยเป็นโรคนี้ 1 รายในทุกๆ 4 นาที และทุกๆ 10 นาทีจะมีคนเสียชีวิตจากโรคดังกล่าว หากมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมองก็จะช่วยให้รับมือและป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังช่วยลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นตามมาในอนาคต ขณะที่ต้นเหตุของโรคหลอดเลือดสมองหรือ Stroke นั้น เกิดจากการที่หลอดเลือดไปเลี้ยงสมองมีความผิดปกติ ซึ่งมี 2 ชนิด
อย่าชะล่าใจ ! โรคหลอดเลือดสมองไม่ว่าวัยใดก็เป็นได้
แพทย์เตือน การฝังทรายบำบัดผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาตเสี่ยงอันตรายอาจช็อกได้
หลอดเลือดสมองอุดตันและหลอดเลือดสมองแตก ส่งผลให้สมองหยุดทำงานไปอย่างเฉียบพลันจากการที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยงหรือมีเลือดออกแทรกทับในเนื้อสมอง 70% ของโรคหลอดเลือดสมองเกิดจากการที่เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ ซึ่งมีสาเหตุสำคัญ 3 ข้อคือ
การอุดตันของหลอดเลือดจากการเสื่อมหรือการแข็งตัวของหลอดเลือด
ก้อนเลือดจากหัวใจหรือตะกอนเลือดจากผนังหลอดเลือดแดงที่คอด้านหน้าหลุดเข้าไปอุดตันหลอดเลือดในสมอง
ความดันเลือดลดลงมากจนไปเลี้ยงไม่พออีก ส่วนอีก 30% เกิดจากหลอดเลือดในสมองแตก ซึ่งแบ่งย่อยออกเป็น 2 ชนิด คือ เลือดออกในเนื้อสมอง (Intracerebral Hemorrhage หรือ ICH) และเลือดออกที่ผิวสมอง (Subarachnoid Hemorrhage หรือ SAH)
ปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง
การสูบบุหรี่
การขาดการออกกำลังกาย
ความอ้วน
รับประทานยาคุมกำเนิด
ความเครียด
ผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือหลอดเลือดปลายขาตีบ
คนสูงอายุ
ผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง
คนที่มีอัตราการเต้นของหัวใจไม่สม่ำเสมอ
อาการและความรุนแรงโรคหลอดเลือดสมอง
อาการและความรุนแรงของโรคหลอดเลือดสมอง
กลุ่มที่มีอาการน้อย คนไข้จะพูดไม่ชัด มุมปากตก แขนขาไม่มีแรง แต่พอเดินได้ มักไม่มีอาการปวดศีรษะร่วมด้วย
กลุ่มที่มีอาการปานกลาง คนไข้จะมีอาการเปลี่ยนแปลงเร็ว เช่น อ่อนแรงมากจนขยับไม่ได้หรือพูดไม่ได้เลย ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน เพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ การฟื้นตัวในกลุ่มนี้จะเริ่มเห็นชัดประมาณสัปดาห์ที่ 3 และมักไม่กลับมาเป็นปกติ
กลุ่มที่มีอาการหนัก มักไม่รู้สึกตัวตั้งแต่ต้นหรืออาการซึมลงเร็วมากภายใน 24 ชั่วโมง ส่วนใหญ่เกิดในผู้ป่วยที่หลอดเลือดสมองตีบตันขนาดใหญ่ในผู้สูงอายุที่มักมีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน หรือเคยเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตมาก่อน และมักจะเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย
ขั้นตอนในการประเมินผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตามหลัก FAST เน้นให้จดจำอาการเตือน 3 อย่าง
หน้าเบี้ยวหรือปากเบี้ยว (Face)
แขนขาอ่อนแรง (Arm)
พูดไม่ชัด พูดอ้อแอ้ หรือพูดไม่ออก (Speech)
โดยอาการทั้งหมด ทั้งปากเบี้ยว แขนขาอ่อนแรง พูดไม่ชัดจะเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ดังนั้นจึงต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที
ขณะที่นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่าโรคหลอดเลือดสมอง เป็นโรคที่พบบ่อยที่สุดโรคหนึ่งของโรคทางระบบประสาท และเป็นสาเหตุการตายที่สำคัญในอันดับต้นๆ ของประเทศ โรคนี้ถ้าหากได้รับการรักษาไม่ทันท่วงทีส่วนใหญ่ จะมีความพิการหลงเหลือตามมา ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง มีญาติสายตรงป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ขาดการออกกำลังกาย น้ำหนักเกิน สูบบุหรี่ เป็นต้น
ทั้งนี้ผู้ป่วยจะมีอาการเตือนสำคัญ คือ แขน ขาอ่อนแรงซีกเดียวของร่างกาย สับสน พูดลำบาก พูดไม่รู้เรื่อง ตามองเห็นลดลง 1 หรือทั้ง 2 ข้าง มีปัญหาการเดิน มึนงง ซึ่งอาการเหล่านี้มักเกิดฉับพลันให้รีบมาพบแพทย์ด่วนที่สุด ในระบบการแพทย์ STROKE FAST TRACK จะรักษาชีวิตและฟื้นฟูให้กลับมาเป็นปกติหรือใกล้เคียงได้มากที่สุด
การรักษาโรคหลอดเลือดสมองอย่างทันท่วงทีด้วยวิธีการที่ถูกต้องจะช่วยป้องกันการเป็นซ้ำและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งแพทย์จะเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับความรุนแรงและอาการ
-
การถ่างขยายหลอดเลือด โดยแพทย์จะสอดเครื่องมือเข้าทางหลอดเลือดใหญ่บริเวณขาแล้วถ่างขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนที่ทำหน้าที่เหมือนการขูดตระกรันในท่อน้ำ หรือใส่อุปกรณ์ถ่างขยายที่ทำจากขดลวด (Stent) เหมือนตะแกรงที่ช่วยป้องกันไม่ให้หลอดเลือดตีบซ้ำในตำแหน่งที่หลอดเลือดตีบ ช่วยลดระยะเวลาในการพักฟื้น
-
การผ่าตัด การผ่าตัดแบบแผลเล็ก Minimal Invasive โดยใส่สายสวนที่ขาหนีบเพื่อเปิดหลอดเลือดสมองที่อุดตัน ช่วยให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองที่ยังไม่ตายได้ทัน โดยมี Biplane DSA (Biplane Digital Subtraction Angiography) เครื่องเอกซเรย์ตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคหลอดเลือดชนิดสองระนาบที่สามารถถ่ายภาพหลอดเลือดทั้งด้านหน้าและด้านข้างในเวลาเดียวกัน ช่วยให้แพทย์ใส่สายสวนหลอดเลือดขนาดเล็กได้ตรงตามตำแหน่งที่ต้องการในเวลาอันรวดเร็ว หากลิ่มเลือดมีขนาดเล็กสามารถฉีดยาละลายลิ่มเลือดเพื่อละลายลิ่มเลือดอุดตันได้โดยตรง หรือหากลิ่มเลือดมีขนาดใหญ่ แพทย์สามารถใช้เครื่องมือเกี่ยวดึงลิ่มเลือดออกจากจุดที่อุดตัน ทำให้เลือดเลี้ยงสมองได้ทันเวลา นอกจากช่วยลดสารทึบรังสีที่ผู้ป่วยต้องได้รับยังช่วยลดระยะเวลาที่ใช้ในการผ่าตัด
-
การใช้ยา ได้แก่
-
ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulants) ลดความหนืดของเลือดและป้องกันการเกิดลิ่มเลือด
-
ยาต้านเกล็ดเลือด (Antiplatelets) ป้องกันการจับตัวของเกล็ดเลือดที่ทำให้เกิดลิ่มเลือด
-
ยาปิดกั้นตัวรับแคลเซียม (Calcium Channel Blockers) อาจป้องกันการทำลายระบบประสาทที่เกิดหลังจากเลือดออกใต้กะโหลกศีรษะ (Subarachnoid Hemorrhage)
-
ยาละลายลิ่มเลือด (Thrombolytics) ใช้ในกรณีฉุกเฉินเพื่อละลายลิ่มเลือดที่อุดตันหลอดเลือดสมองอย่างเฉียบพลัน
-
อย่างไรก็ตามประชาชนควรมีความรู้เบื้องต้นในการป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมองและต้องทราบถึงอาการเบื้องต้นเพื่อการส่งผู้ป่วยเข้ารับการรักษาได้ทันเวลา หากมีอาการสงสัยให้มาโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด จะลดการตายและพิการได้ รวมทั้งจะมีโอกาสสูงมากในการเยียวยาอาการให้ดีขึ้น
ขอขอบคุณข้อมูลสุขภาพจาก : โรงพยาบาลกรุงเทพ ,กรมการแพทย์