อาหารแช่ฟอร์มาลิน สารก่อมะเร็ง-พิษถึงชีวิต แนะวิธีเลือกซื้ออาหารสด
รู้จัก“ฟอร์มาลิน” สารพิษอันตรายทั้งเฉียบพลันและเรื้อรังถึงขั้นเสียชีวิตหลังเจ้าหน้าที่ทลายแหล่งขายส่งหมูกะทะเจือปนสารพิษ แนะวิธีเลี่ยง-เลือกซื้ออาหารสดให้ปลอดภัย
จากกรณีที่เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์ ส่งเจ้าหน้าที่ด่านกักกันสัตว์ชลบุรี บุกตรวจสอบสถานประกอบกิจการผลิตแปรรูปวัตถุดิบเนื้อและเครื่องในสัตว์รายใหญ่แห่งหนึ่ง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี และพบว่ามีการลักลอบผลิตวัตถุดิบชิ้นส่วนเนื้อสัตว์ แช่ในถังน้ำผสมฟอร์มาลินรายใหญ่ ส่งขายร้านหมูกะทะ และร้านอาหารอีสาน กว่า 66 แห่งในพื้นที่ใกล้เคียง ปริมาณน้ำหนักรวม 25,000 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 5 ล้านบาท
ชำแหละโรงงานหมูฟอร์มาลีน เริ่มกิจการได้เพียง 6 เดือน
"อ.อ๊อด" แนะวิธีสังเกต เนื้อสัตว์-อาหารทะเล หลังบุกยืดเนื้อสัตว์แช่ฟอร์มาลีน ส่งร้านหมูกระทะ
ทำให้หลายคนกังวลถึงการบริโภคหมูกะทะที่ถือว่าเป็นเมนูยอตฮิตสุดโปรดของใครหลายคน เพราะทั้งง่ายและสะดวก แถมอร่อย ซึ่งนิยมทั้งแบบนั่งที่ร้านและซื้อแบบชั่งดิโลตามตลาดสด งั้นเรามาทำความรู้จักกับฟอร์มาลินสารเคมีสุดอันตรายกันค่ะ
สารฟอร์มาลิน(Formalin) สารเคมีมีพิษประกอบด้วยก๊าซฟอร์มาลดีไฮด์ (formaldehyde) ละลายน้ำด้วยความเข้มข้น และมีเมทิลแอลกอฮอล์ (methyl alcohol) มีลักษณะเป็นน้ำใส มีกลิ่นฉุน แสบจมูกและตา คุ้นเคยและรู้จักกันว่าสารดังกล่าว แพทย์จะใช้ในทางการแพทย์เพื่อใช้เป็นน้ำยาดองศพไม่ให้เน่าเปื่อย ช่วยดับกลิ่นฆ่าเชื้อโรคเพราะทำให้โปรตีนแข็งตัว ขณะที่ทางด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอจะใช้เป็นน้ำยาอาบผ้าไม่ให้ย่น นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติฆ่าเชื้อโรคและเชื้อราในการเก็บรักษาธัญพืชหลังการ เก็บเกี่ยว และใช้เพื่อป้องกันแมลง แต่ไม่อนุญาตให้ใช้ในอาหารตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 151 (พ.ศ.2536) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 และหากฝ่าฝืน มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
แม้ว่าจะมีโทษแต่ด้วยคุณสมบัติเด่นที่ทำให้ไม่ให้ศพเน่าเปื่อยข้อนี้ ทำให้พ่อค้าแม่ค้าหัวใสแอบนำไปใช้ในทางที่ผิด โดยใช้กับอาหารเพื่อให้สดและน่ากินอาหารที่พบว่ามีการปนเปื้อนบ่อย ได้แก่
- เนื้อสัตว์ต่างๆ เช่น ไก่ ปลาหมึก กุ้ง
- ผักต่างๆ เช่น กระหล่ำปี ผักกาดขาว ถั่วงอก
- อาหารแห้ง คือ เห็ดหอมแห้ง เห็ดหูหนูแห้ง
ทั้งนี้ตามธรรมชาติฟอร์มัลดีไฮด์สามารถเกิดขึ้นเองในอาหารชนิดต่างๆ ซึ่งมีปริมาณน้อยและสลายตัวได้โดยแสงอาทิตย์ ออกซิเจนและความชื้น และร่างกายของคนเราสามารถกำจัดได้ แต่ถ้าได้รับในปริมาณมากเกินไปจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย
สูดดมฟอร์มาลินจะทำให้มีผลต่อระบบหายใจ
- แสบจมูก
- เจ็บคอ
- ไอ
- หายใจไม่ออก
- ปอดอักเสบ
- น้ำท่วมปอด
- อาจถึงเสียชีวิตได้ถ้าสูดดมในปริมาณมาก
ผลต่อระบบผิวหนัง
- เกิดผื่นคัน จนถึงผิวหนังอาจไหม้เปลี่ยนเป็นสีขาวได้หากสัมผัสกับฟอร์มาลินโดยตรง
การบริโภคอาหารปนเปื้อนฟอร์มาลินสูงเกิน 0.1 ppm จะทำให้เกิดพิษแบบฉับพลัน อาทิ
- เกิดความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารเฉียบพลัน
- ปวดท้องอย่างรุนแรง
- ปวดศีรษะอย่างรุนแรง
- อาเจียน
- ท้องเสีย
- ในปากและคอจะแห้ง
- หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก
- ปัสสาวะไม่ออกหรือปัสสาวะเป็นเลือด
- มีอาการเพลีย
- เหงื่อออก ตัวเย็น คอแข็ง
ทั้งนี้มีรายงานว่า มีผู้กินฟอร์มาลิน 2 ช้อนโต๊ะ เพื่อฆ่าตัวตาย พบว่า ตายภายใน 3 ชั่วโมงหลังจากได้รับสารดังกล่าว และเมื่อผ่าศพผู้ตายพบแผลไหม้ในหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็ก เนื่องจากที่ความเข้มข้นสูงๆ สารฟอร์มาลินจะเปลี่ยนรูปเป็นกรดฟอร์มิค (Formic acid) ซึ่งมีฤทธิ์ทำลายระบบการทำงานของเซลล์ต่างๆ ในร่างกายและหากได้รับปริมาณน้อยแต่ระยะยาวจะทำให้เกิดผลเสียกับระบบต่างๆ ของร่างกาย หรือก่อให้เกิดมะเร็งได้
เคล็ดลับปาร์ตี้ “ปิ้งย่าง-หมูกระทะ”ไม่ให้อ้วนปลอดภัยจากอันตรายแฝง
วิธีหลีกเลี่ยงจากสารฟอร์มาลินเจือปน
- ไม่ต้องถึงกับงดบริโภคผักเพราะกลัวสารพิษฆ่าแมลงหรือฟอร์มาลิน แต่ควรพิถีพิถันเลือกบริโภคและ รู้วิธีการเตรียมอาหาร
- ดมที่ใบหรือหักก้านผักดม ถ้ามีกลิ่นฉุนแสบจมูกก็อย่าบริโภคอีก
- หากเนื้อสัตว์ถูกแสงแดด หรือลมเป็นเวลานาน แล้วยังสดอยู่ก็ไม่ควรซื้อ
- ถ้าเป็นอาหารทะเลที่เนื้อแข็งบางส่วน เปื่อยยุ่ยบางส่วน ไม่ควรซื้อ
- สังเกตดูผักที่วางขายว่าสด ใบงามเกินความเป็นจริง ไม่มีรูพรุนจากการกัดของแมลงเลย ตั้งขายไว้เป็นวันๆ ยังไม่เหี่ยว ก็ไม่ควรเลือกซื้อเพราะอาจมีฟอร์มาลินและสารพิษฆ่าแมลงซึ่งยังไม่หมดฤทธิ์ สะสมอยู่ด้วย
- นำผักมาล้างน้ำไหล 5-10 นาที หรือแช่น้ำนิ่งราว 1 ชั่วโมง ซึ่งมีรายงานว่าสามารถทำให้ฟอร์มาลินส่วนมากจะถูกล้างออกไปหมด
- แช่ด้วยสารละลายด่างทับทิมเจือจาง (ในอัตราส่วน ด่างทับทิมประมาณ 20 เกล็ด ผสมน้ำ 4 – 5 ลิตร) ประมาณ 5 – 10 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำ เพราะฟอร์มาลินทำปฏิกิริยากับด่างทับทิมแล้วได้เกลือฟอร์เมตซึ่งละลายน้ำได้
- เลือกซื้อจากแหล่งที่ปลอดภัยมั่นใจได้ว่าปลอดภัยจากสารพิษ
- ควรปรุงอาหารให้สุกก่อนบริโภค
ทั้งนี้ผู้เป็นพ่อค้าแม่ค้าควรนึกถึงใจผู้บริโภคให้มาก ขายของที่ดีและสุจริตในอาชีพ อย่าเอารัดเอาเปรียบหวังแต่ผลกำไร เพราะคงไม่มีใครอยากตายผ่อนส่ง เพียงเพราะผลกำไรเล็กๆน้อยๆ เหล่านี้ด้วยเช่นกัน
ข้อมูลจาก : คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
6 สารพิษอันตราย แฝงตัวใน "อาหาร" ที่เรากินกันอยู่ทุกวัน
เตือน ! บอแรกซ์รักษามะเร็งไม่ได้ หากได้รับปริมาณสูงอาจเสียชีวิต