ไม่ใช่แค่ท้องเสีย! “อุจจาระร่วง” โรคที่เป็นกันบ่อย ไม่ดูแลอันตรายถึงชีวิต
“อุจจาระร่วง” โรคที่หลายคนเป็นกันบ่อย แต่ถ้าไม่ดูแลอาจอันตรายถึงชีวิตจากภาวะขาดน้ำ หรืออาจทำให้เกิดโรคเรื้อรังอย่างลำไส้แปรปรวนได้ เรื่องนี้จึงไม่ใช่แค่อาการท้องเสียอีกต่อไป
ในช่วงเทศกาลที่ต้องมีการเฉลิมฉลองกันอย่าง “ปีใหม่” แน่นอนว่าเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนต่างรอคอยที่จะไปดื่มกินสังสรรค์กันกับครอบครัว เพื่อน หรือคนรัก บ้างก็นัดกันไปกินหมูกระทะ บ้างก็นัดไปดื่มปาร์ตี้กัน ซึ่งบางครั้งก็อาจเลือกเมนูอาหารไปเจอเชื้อปนเปื้อนแบบไม่รู้ตัว ทำให้เกิดอาการ “อุจจาระร่วงได้”
“อุจจาระร่วง” ดูเป็นโรคใกล้ตัวที่หลายคนเป็นกันบ่อยๆ ถึงจะไม่รุนแรงแต่ถ้าดูแลตัวเองไม่เป็นอาจอันตรายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
แพทย์เตือน! ช่วงม.ค.-มี.ค. ระวังโรคอุจจาระร่วงโนโรไวรัสระบาด!
อัปเดต! สิทธิการรักษาพยาบาล “ประกันสังคม” เพิ่มรายการตรวจสุขภาพตามอายุ
เราไม่อยากให้ทุกคนเที่ยวปีใหม่กันแบบหมดสนุก จึงรวบรวมข้อมูลของโรคนี้มาฝากทุกคนกัน
“อุจจาระร่วง” ไม่ใช่แค่ท้องเสีย
“อุจจาระร่วง” หรือ “ท้องเสียเฉียบพลัน” คือ การที่ขับถ่ายเหลวเป็นน้ำ หรืออาจมีลักษณะเป็นมูก และมีการขับถ่ายผิดปกติแบบนี้ติดต่อกันไป 3 ครั้งขึ้นไปต่อวัน อาจมีอาการปวดท้อง หรือคลื่นไส้ร่วมด้วย ปวดท้องบิดแบบเป็นๆ หายๆ หรือมีอาการท้องอืด
ซึ่งเกิดจากร่างกายได้รับเชื้อโรค โดยอาจเป็นแบคทีเรียหรือไวรัสที่ปนเปื้อนมากับอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่สะอาด แต่โรคนี้หากได้รับยาปฏิชีวนะจนครบตามกำหนด อาการจะหายได้ใน 1-2 สัปดาห์ แต่ถ้ามีอาการมากกว่านั้น หรือเป็นๆ หายๆ อาจเข้าข่าย “โรคท้องเสียแบบเรื้อรัง”
อันตรายที่ต้องระวังในโรคอุจจาระร่วง
แม้ว่าอาการท้องเสียเฉียบพลันจะไม่ถือเป็นโรคร้ายแรง แต่ในรายที่มีอาการหนัก คือ ถ่ายเหลวเป็นน้ำในปริมาณมาก อาจสูงถึง 10-20 ครั้งต่อวัน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำ มีไข้สูง อ่อนเพลียมาก และมีอาการต่อเนื่องนานกว่า 48 ชั่วโมง
อาการขาดน้ำนี้ เรียกว่า “Dehydration” ทำให้ร่างกายสูญเสียทั้งน้ำและแร่ธาตุจำเป็น ซึ่งมีอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้นถ้ามีอาการนี้ร่วมกับอาการท้องเสีย ควรรีบพบแพทย์ด่วน
- มีไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส
- อุจจาระเป็นมูก หรือมูกเลือด หรือมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ
- ร่างกายอ่อนเพลียมาก
- อาเจียนรุนแรงหลายครั้ง
- อุจจาระมากกว่า 10 ครั้งต่อวัน
เมนูอาหารเสี่ยงอุจจาระร่วง
สำหรับเมนูที่มักเป็นต้นเหตุของโรคอุจจาระร่วง 10 เมนู ที่ทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เคยสำรวจมา พบว่าได้แก่
- ลาบ ก้อยดิบ เช่น ลาบหมู ก้อยปลาดิบ
- ยำกุ้งเต้น
- ยำหอยแครง
- ข้าวผัดโรยเนื้อปู โดยเฉพาะกรณีที่ทำปริมาณมาก
- อาหารหรือขนมที่ราดด้วยกะทิสด
- ขนมจีน
- ข้าวมันไก่
- ส้มตำ
- สลัดผัก
- น้ำแข็ง
วิธีการดูแลตัวเองเมื่อท้องเสียเฉียบพลัน
สำหรับวิธีการดูแลตัวเองเมื่อมีอาการอุจจาระร่วง เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนและฟื้นฟูเยื่อบุทางเดินอาหารให้กลับมาเป็นปกติ ควรทำดังนี้
- พบแพทย์เพื่อรักษา แพทย์อาจให้ทานยาปฏิชีวนะ ยาบรรเทาอาการปวดท้อง และสารละลายเกลือแร่ เพื่อทดแทนแร่ธาตุที่เสียไปจากการขับถ่าย
- ดื่มน้ำสะอาดให้มาก โดยค่อยๆ จิบทีละเล็กละน้อย แต่บ่อยๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ หรือสามารถดื่มน้ำเกลือแร่ก้ได้
- รับประทานอาหารสะอาด ปรุงสุก แนะนำว่าถ้าเป็นอาหารย่อยง่ายจะดีมาก เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ปลาต้ม หรือเนื้อสัตว์ต้มเปื่อย
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาหยุดถ่าย เพราะจะทำให้ลำไส้เก็บเชื้อโรคเอาไว้เป็นเวลานาน
รู้ทันป้องกันได้ ไม่ต้องเป็นบ่อยๆ
ถ้าคุณเป็นหนึ่งคนที่มีอาการท้องเสียอยู่บ่อยๆ อยากให้ลองสังเกตตัวเองดูว่า เรามีพฤติกรรมการกินอย่างไร เพราะโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันนี้ หากเกิดขึ้นบ่อยๆ อาจส่งผลให้เกิดโรคเรื้อรังในทางเดินอาหารอื่นๆ อย่าง “ลำไส้แปรปรวน” หรือ “ลำไส้อักเสบเรื้อรังได้”
โดยโรคนี้เราป้องกันได้ง่ายๆ ด้วยการไม่ทานอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงสุก เช่น อาหารดิบ อาหารทะเลสดไม่ผ่านการปรุง หรืออาหารหมักดองที่ไม่ผ่านความร้อน เพราะอาจมีเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อน และควรล้างมือทุกครั้งก่อนทานอาหาร
ดังนั้นใครที่กำลังเดินทางท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดปีใหม่นี้ อย่าลืมเลือกร้านที่มีสะอาด ถูกสุขลักษณะ และควรพกยาแก้ท้องเสียเช่น ยาธาตุน้ำขาว ยาธาตุน้ำแดง ผงน้ำตาลเกลือแร่ หรือ ยาลดกรด ติดตัวไปด้วยเพื่อบรรเทาอาการท้องเสียที่อาจเกิดขึ้นได้
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลเปาโล, กลุ่มงานสุขศึกษา โรงพยาบาลบุรีรัมย์ และ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)
รายงานพบ “อาหารแปรรูปขั้นสูง” เสี่ยงทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ 32 ประการ
10 อาหารเช้าที่ควรหลีกเลี่ยง แม้จะหาง่ายหรือเร่งรีบแค่ไหนก็ตาม