สัญญาณ “มะเร็งต่อมไทรอยด์” มะเร็งที่แพร่ไปต่อมน้ำเหลือง-กระดูกได้ง่าย
ก้อนของต่อมไทรอยด์เป็นความผิดปกติที่ตรวจพบได้บ่อย และพบว่ามีอุบัติการณ์ของผู้ป่วยใหม่ ที่เป็น “มะเร็งต่อมไทรอยด์” มากขึ้น อีกทั้งยังเสี่ยงแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นเช่นต่อมน้ำเหลืองและกระดูกได้ อะไรคือความเสี่ยง สัญญาณเตือนโรคเป็นอย่างไร?
ต่อมไทรอยด์ เป็นต่อมที่อยู่ด้านหน้าลำคอ เมื่อผิดปกติจะโตขึ้น และเห็นเป็นก้อนบางครั้งก็เห็นเป็นก้อนเดี่ยวๆ บางครั้งก็โตเป็นลักษณะหลายๆ ก้อนติดกัน และที่สำคัญคือ ก้อนที่เกิดบนต่อมไทรอยด์จะขยับเคลื่อนขึ้น-ลงขณะเรากลืนน้ำลาย ความผิดปกติที่ต่อมไทรอยด์ที่พบได้ค่อนข้างบ่อยกว่ากลุ่มอื่น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่แพทย์จะต้องให้การวินิจฉัยแยกโรค เพื่อวางแผนการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไปผู้ป่วยที่มี
เช็ก 10 อาการเตือน “ไทรอยด์” รู้ทันรักษาได้ ก่อนเสี่ยงหัวใจล้มเหลว
โรคไทรอยด์ 4 เรื่องควรรู้ อัตราเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายหลายเท่า
ก้อนที่ต่อมไทรอยด์เพียงก้อนเดียว อาจเป็นโรคต่างๆ ได้ดังนี้
- เนื้องอกชนิดไม่ร้ายของต่อมไทรอยด์ (thyroid adenoma) พบได้ประมาณร้อยละ 20-30
- เนื้องอกชนิดไม่ร้ายของต่อมไทรอยด์ที่เป็นพิษร่วมด้วย
- มะเร็งของต่อมไทรอยด์ (thyroid carcinoma) พบได้ร้อยละ 10-15 ในระยะเริ่มต้นจะเป็นก้อนเดี่ยว ขนาดเล็ก และโตขึ้นเรื่อยๆ ก่อนที่จะมีการแพร่กระจายเป็นก้อนหลายก้อนในเนื้อต่อมไทรอยด์ หรือแพร่กระจายไปที่อื่น เช่น ที่ต่อมน้ำเหลืองหรือที่กระดูก ฯลฯ
- คอพอก หรือ คอหอยพอก (nodular goiter) ร้อยละ 50-60 ของก้อนเดี่ยวที่ต่อมไทรอยด์ มีความผิดปกติอยู่ในกลุ่มของคอหอยพอก
มะเร็งไทรอยด์ เป็นโรคที่มีการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ในต่อมไทรอยด์ กลายเป็นเนื้อร้าย ซึ่งมะเร็งไทรอยด์มักจะเริ่มเป็นก้อนเฉยๆ ที่บริเวณต่อมไทรอยด์ต่อมาก้อนจะโตขึ้นเรื่อยๆ เมื่อโตมากขึ้น อาจมีการแพร่กระจายของโรคมะเร็งเป็นก้อนขึ้นที่ด้านข้างลำคอหรือมีก้อนตามตัวที่ส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้ เช่น ศีรษะ ซี่โครง สะโพก ฯลฯ บางคนอาจมีอาการเสียงแหบ หรือก้อนใหญ่ขึ้นจนหายใจไม่สะดวก
สัญญาณมะเร็งไทรอยด์
มะเร็งไทรอยด์ ในระยะแรกมักไม่มีอาการ นอกจากก้อนที่ต่อมไทรอยด์ ดังนั้นเมื่อพบก้อนที่บริเวณด้านหน้าลำคอ ที่เคลื่อนขึ้น-ลง ตามการกลืนน้ำลายควรพบแพทย์ แพทย์จะทำการใช้เข็มขนาดเล็กเจาะเซลล์จากต่อมไทรอยด์มาตรวจ (fine needle aspiration) ซึ่งสามารถช่วยในการวินิจฉัยโรคได้ วิธีนี้มีความแม่นยำประมาณ 90% ซึ่งอาจจะไม่พบเซลล์มะเร็ง แต่เป็นเนื้องอกของต่อมไทรอยด์ หรือคอหอยพอกได้
อาการบ่งชี้ที่มีโอกาสเป็นมะเร็งสูง
- ก้อนโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
- มีปัญหาเสียงแหบ หายใจไม่สะดวก
- มีปัญหากลืนอาหารลำบาก, สำลัก
- คลำได้ก้อนอื่นโตที่ด้านข้างลำคอ
- มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็ง หรือเคยได้รับการฉายแสงมาก่อน
- อายุน้อยกว่า 16 ปี หรือมากกว่า 60 ปีแล้วพบก้อนที่ต่อมไทรอยด์
“ตาโปน” แบบไหน ? สัญญาณเตือนโรค ไทรอยด์เป็นพิษ-มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์แล้ว การรักษาที่เหมาะสมที่สุดในปัจจุบัน คือ การผ่าตัด อาจทำได้โดยการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกทั้งหมด หรือการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกเพียงข้างใดข้างหนึ่งก็ได้ ทั้งนี้แพทย์จะเป็นผู้เลือกวิธีการผ่าตัดที่เหมาะสมที่สุด ที่อาจจะแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย
ก่อนผ่าตัดผู้ป่วยจะได้รับการตรวจร่างกายโดยรวมเพื่อลดความเสี่ยงในการดมยาสลบก่อนผ่าตัด การผ่าตัดมะเร็งต่อมไทรอยด์ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง หรืออาจจะมากกว่านั้นแล้วแต่กรณี หลังผ่าตัดผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารทางปากได้ตามปกติ และจะต้องรับการรักษาแบบผู้ป่วยในประมาณ 3 – 5 วัน เมื่อแน่ใจว่าไม่มีภาวะแทรกซ้อนใด ๆ ผู้ป่วยจึงจะได้รับอนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาลและกลับไปพักฟื้นต่อที่บ้าน
ต่อมไทรอยด์ที่ถูกตัดออกไปจะถูกนำส่งให้พยาธิแพทย์ทำการตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์อย่างละเอียด หากพบว่า มีลักษณะของการกระจายหรือมีแนวโน้มว่าจะมีการกระจายของเซลล์มะเร็งไปยังอวัยวะอื่น ผู้ป่วยจะได้รับคำแนะนำให้รับการรักษาด้วยรังสีไอโอดีนเพิ่มเติม
ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด
- ภาวะเสียงแหบจากการบาดเจ็บของเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงบริเวณกล่องเสียง
- ภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำภายหลังการผ่าตัด
ซึ่งภาวะทั้งสองมีโอกาสเกิดขึ้นได้จริงระหว่างการผ่าตัด แต่หากการผ่าตัดทำโดยศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแล้ว โอกาสในการเกิดความผิดปกติจากภาวะทั้งสองแบบถาวรมีต่ำมาก (น้อยกว่า 1%) ซึ่งการรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ในปัจจุบันให้ผลดีมาก และมีโอกาสในการหายขาดสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นมะเร็งไทยรอยด์ชนิดแปปปิลลารีและฟอลลิคูลา เนื่องจากการรักษาจะตอบสนองดีกับการผ่าตัดและใช้รังสีไอโอดีน โดยที่ผู้ป่วยจะมีอัตราการรอดชีวิตมากกว่า 95% หลังจากผ่านไปแล้ว 10 ปี
การตรวจไทรอยด์
ปัจจุบันการตรวจก้อนของต่อมไทรอยด์โดยใช้เครื่องคลื่นเสียงความถี่สูงที่มีความคมชัดสูง (High-resolution ultrasound) เป็นวิธีที่มีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงสุด เนื่องจากการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง สามารถให้ข้อมูลของรอยโรคในต่อมไทรอยด์ที่เป็นอวัยวะที่อยู่ตื้นได้ดี เช่น การให้รายละเอียดขนาด ลักษณะภาพ (echogenicity texture) ของต่อมไทรอยด์ รายละเอียดของอวัยวะข้างเคียงโดยรอบ อีกทั้งยังสามารถใช้หาตำแหน่งในการเจาะตรวจหาเซลล์ทางพยาธิวิทยาอีกด้วย
จะเห็นได้ว่าในอาการเริ่มแรกของมะเร็งมักไม่มีอาการ การใส่ใจและสังเกตตัวเองจึงสำคัญหากพบความผิดปกติเล็กน้อยควรรีบพบแพทย์
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลพญาไท , โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ และ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล