สัญญาณ “มะเร็งตับอ่อน” พบเพียง 1 ข้อควรพบแพทย์ ผู้สูบบุหรี่เสี่ยงสูง 3 เท่า
มะเร็งตับอ่อน หลายคนคงไม่ค่อยได้ยินนัก แต่เป็นมะเร็งชนิดที่ร้ายแรง พบได้เป็นลำดับที่ 10 ของมะเร็งที่คนไทยเป็นในเพศชายแต่อัตราการเสียชีวิตสูง เนื่องจากในช่วงเเรกผู้ป่วยไม่มีอาการที่จำเพาะ กว่าจะรู้ตัวอีกทีเซลล์มะเร็งระยะลุกลามแล้ว เช็กสัญญาณอาการมะเร็งตับอ่อน ใครบ้างที่เสี่ยง ?
ตับอ่อนเป็นอวัยวะยาวประมาณ 6 นิ้ว ส่วนปลายที่กว้างกว่าของตับอ่อนเรียกว่าส่วนหัว ส่วนตรงกลางเรียกว่าลำตัว ส่วนปลายฝั่งที่แคบเรียกว่าหาง ตับอ่อนอยู่ระหว่างกระเพาะอาหารและกระดูกสันหลัง มะเร็งตับอ่อนส่วนใหญ่พบบริเวณส่วนหัวของตับอ่อน ปัจจุบันอัตราการเกิดโรคมะเร็งตับอ่อนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่จะพบในอายุระหว่าง 40-65 ปี หรือแม้แต่ในวัยหนุ่มสาวก็สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน
สัญญาณมะเร็งตับ ที่อาจคร่าชีวิตได้ใน 6 เดือน ใครบ้างกลุ่มเสี่ยง?
8 สัญญาณ “ไขมันพอกตับ”ภัยพฤติกรรมเลี่ยงละเลยอาจพ่วงมะเร็งตับ-ตับแข็ง
สาเหตุของมะเร็งชนิดนี้ไม่ทราบแน่ชัด แต่เนื้องอกในตับอ่อนบางชนิดอาจกลายเป็นมะเร็งได้ปัจจัยบางอย่างที่เชื่อว่าอาจทำให้เกิด คือโรคเบาหวาน และพบว่าคนที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งตับอ่อนมากกว่าคนที่ไม่ได้สูบบุหรี่ถึง 3 เท่า
อาการมะเร็งตับอ่อน จะขึ้นอยู่กับตำแหน่งของมะเร็งว่าอยู่ส่วนใดของตับอ่อน
- มะเร็งจะพบมากที่ส่วนหัวของตับอ่อน ผู้ป่วยจะมีอาการตัวเหลือง ตาเหลืองจากการอุดตันของท่อน้ำดีที่หัวตับอ่อนเป็นส่วนใหญ่ อาจคลำพบก้อนที่ท้อง ตับโต ถุงน้ำดีโต เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
- มะเร็งตับอ่อนที่เกิดขึ้นที่ส่วนหัวและส่วนปลายของตับอ่อน จะมีอาการปวดท้องร่วมกับปวดหลัง น้ำหนักลด ตับโต
ผู้ป่วยมักจะมาพบแพทย์ในระยะท้ายของโรค เพราะในช่วงต้นจะไม่แสดงอาการจำเพาะโดยมะเร็งตับอ่อนมีอาการ
- ปวดท้องบริเวณลิ้นปี่ รวมถึงอาการปวดร้าวไปบริเวณหลัง
- เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
- ลักษณะแบบโรคดีซ่าน ได้แก่ ตัวเหลือง ตาเหลือง คันตามตัว ปัสสาวะสีเข้ม
- อุจจาระสีซีด
ระยะของโรคมะเร็งตับอ่อน
- ระยะที่ 1 เนื้องอกยังอยู่ในตัวตับอ่อน ถ้าขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตรก็เป็นระยะ 1A ถ้าใหญ่กว่า 2 เซนติเมตรก็เป็นระยะ 1 B การผ่าตัดก็มีโอกาสช่วยได้ค่อนข้างมาก
- ระยะที่ 2 เป็นระยะที่มีการลุกลามออกมาที่เนื้อเยื่อ หรือต่อมน้ำเหลืองบริเวณข้างเคียงตับอ่อน ระยะ 2 A ยังไม่มีการลุกลามไปต่อมน้ำเหลืองข้างเคียง ระยะ 2B มีการลุกลามไปต่อมน้ำเหลือง
- ระยะที่ 3 มีการลุกลามไปที่หลอดเลือดรอบๆ ตับอ่อน และต่อมน้ำเหลืองบริเวณข้างเคียง
- ระยะที่ 4 มีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะที่ห่างไกลออกไป เช่น ตับ ปอด เยื่อบุช่องท้อง ลำไส้ กระเพาะอาหาร
“มะเร็งตับ-ตับแข็ง” จาก “ไวรัสตับอักเสบบี” เช็กสัญญาณเสี่ยงโรค
การรักษา
การผ่าตัดเป็นวิธีที่ดีที่สุด ผู้ป่วยที่ทำผ่าตัดได้ คือผู้ที่โรคยังไม่มีการลุกลาม หรือลุกลามไม่มาก และมีสภาพร่างกายแข็งแรง แต่กรณีที่ตัดเอาก้อนมะเร็งออกไม่ได้การผ่าตัดเพื่อทำทางเบี่ยงน้ำดีเพื่อลดอาการดีซ่านหรือทางเบี่ยงให้กระเพาะอาหารเพื่อลดการอุดตันของทางเดินอาหาร เป็นวิธีที่ช่วยบรรเทา สำหรับในรายที่ไม่สามารถทำการผ่าตัดได้ แพทย์จะใช้วิธีอื่นร่วมด้วย ได้แก่ ฉายรังสี เคมีบำบัด เป็นวิธีที่ใช้เพื่อประคับประคองอาการ
แนวทางการป้องกัน
- หลีกเลี่ยงการดื่มเหล้า และสูบบุหรี่
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารประเภทไขมันสูง
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับมลพิษ สารพิษต่างๆ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นผัก และผลไม้
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
การป้องกันที่ดีที่สุดคือไม่ทำให้เกิดโรคและหมั่นตรวจเช็กร่างกายด้วยการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี ขณะที่กลุ่มเสี่ยง สามารถตรวจหาความเสี่ยงเพื่อพยากรณ์โรคได้ล่วงหน้าซึ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีทางการอาทิ การตรวจอวัยวะภายในช่องท้องส่วนบนโดยใช้คลื่นความถี่สูง (Ultrasound Upper Abdomen) ,การตรวจวัดปริมาณไขมันสะสมในตับ (Fibro Scan) เพื่อให้รู้เท่าทันโรคและอาจจะตรวจเจอได้ในระยะแรกที่โรคยังไม่ลุกลามเพื่อทำการรักษาหายขาดได้
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลเปาโล และ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
8 วิธีเลี่ยง “มะเร็งตับ” ใครบ้างเสี่ยง ? ควรตรวจสุขภาพแบบเจาะจง
7 สิ่ง ทำลายตับเสี่ยง “มะเร็งตับ” อาหารและพฤติกรรมแบบไหนควรเลี่ยง
“มะเร็งตับ” ทำไมเสียชีวิตเร็ว? มีกี่ระยะ? อาการแบบไหน ควรพบแพทย์เร่งด่วน