“ยาเป็ป-ยาเพร็พ” ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี(HIV) ต่างกันอย่างไร? ใครต้องใช้บ้าง?
จากข้อมูลพบว่าประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อ HIV ปี 2564 จำนวนราว 520,00 คน และคาดว่าพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ราว 6,500 คนต่อประชากรทั้งหมด โดยผู้ติดเชื้อรายใหม่ 97% เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกัน ซึ่งการติดเชื้อ HIV ยังไม่เท่ากับว่าผู้ป่วยเป็นโรคเอดส์ แต่ต้องการได้รับการดูแลโดยแพทย์ แล้วถ้าเกิดพลาดล่ะ ? รู้จักยาต้านเชื้อ HIV 2 ชนิด ยาเป็ป (PEP)และ ยาเพร็พ (PrEP) ต่างกันอย่างไร ใครบ้างต้องปรึกษาแพทย์เพื่อขอรับยา?
ยาเป็ป ยาฉุกเฉิน ป้องกันติดเชื้อเอชไอวี
ยาเป็ป (PEP) ย่อมาจาก Post-Exposure Prophylaxis เป็นยาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ในกรณีฉุกเฉิน ที่ต้องรับประทานให้เร็วที่สุดหลังสัมผัสความเสี่ยงที่จะติดเชื้อเอชไอวี โดยจะต้องเริ่มรับประทานภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีความเสี่ยง และรับประทานติดต่อกันนาน 28 วัน
ใครบ้างที่ควรได้รับยาเป็ป (PEP) ยาเป็ป (PEP) มีไว้สำหรับผู้ที่คาดว่ามีการสัมผัสเชื้อเอชไอวี มาภายในระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง ซึ่งจะใช้ในกรณีดังนี้
“ติดเชื้อHIV” ไม่เท่ากับ “ติดเอดส์” แต่อันตรายถึงชีวิตหากไม่รู้จักป้องกัน
เพิ่มสิทธิบัตรทอง “ชุดตรวจHIVด้วยตนเอง –ไวรัสตับอักเสบบีและซี” ฟรี!
- มีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่อาจจะมีเชื้อเอชไอวีและไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัย ถุงยางอนามัยหลุดหรือฉีกขาด
- ถูกล่วงละเมิดทางเพศ
- ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
ยาเป็ป (PEP) สามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้กว่า 80% หากผู้รับบริการคาดว่าเพิ่งสัมผัสเชื้อเอชไอวีมาภายในระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง และรับยาเป็ป (PEP) เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะว่ายิ่งรับยาเร็ว ยาจะยิ่งมีประสิทธิภาพ
ก่อนที่ผู้รับบริการจะรับยาเป็ป (PEP) แพทย์จะซักประวัติเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และพิจารณาว่าจำเป็นต้องรับยาเป็ป (PEP) หรือไม่ โดยแพทย์จะสั่งตรวจเอชไอวี ตรวจไวรัสตับอักเสบบี การทำงานของตับและไตก่อนรับยาเป็ป (PEP) (หากติดเชื้อ HIV อยู่ก่อนแล้ว จะไม่สามารถใช้ยาเป็ป (PEP) ได้) หลังรับประทานยาครบ 28 วัน ตรวจเอชไอวีซ้ำ 1 เดือน และ 3 เดือน งดบริจาคเลือด และใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
ยาเพร็พ (PrEP) คืออะไร แตกต่างจากยาเป็ป (PEP) อย่างไร ?
ยาเพร็พ (PrEP) ย่อมาจาก Pre-Exposure Prophylaxis คือยาที่ใช้ในการป้องกันเชื้อเอชไอวี (HIV) ก่อนการสัมผัสโรค โดยการรับประทานยาวันละหนึ่งเม็ดทุกวัน เพร็พ (PrEP) ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ได้ จึงยังจำเป็นต้องใช้ถุงยางอนามัยในการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ
ยาเพร็พ (PrEP) เหมาะกับใคร?
- เหมาะสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวีสูง
- ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี
- ผู้ที่มีคู่นอนหลายคน
- ผู้ที่ทำงานบริการทางเพศ
- ผู้ที่มาขอรับบริการ Post-Exposure Prophylaxis (PEP) อยู่เป็นประจำโดยไม่สามารถลดพฤติกรรมเสี่ยงลงได้
- ผู้ที่ใช้สารเสพย์ติดชนิดฉีด
- ผู้ที่มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ภายใน 6 เดือนที่ผ่านมา
เพร็พ (PrEP) สามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้เกือบ 100% หากผู้มารับบริการรับประทานทุกวัน และมีวินัยในการรับประทาน คือรับประทานในเวลาเดียวกันในทุกๆวัน และใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง
สรุปความต่างของยา 2 ชนิด
- ยาเป็ป PEP คือยาฉุกเฉินที่ต้องทานหลังการเสี่ยงการได้รับหรือสัมผัสเชื้อ HIV ภายในเวลา 72 ชั่วโมง
- ยาเพร็พ PrEP คือยาป้องกันก่อนการเสี่ยงในการได้รับหรือสัมผัสเชื้อ HIV
ยา 2 ชนิดนี้นับเป็นยาที่อันตรายที่ควรได้รับจากแพทย์เฉพาะทางเท่านั้น ไม่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป หรือในร้านค้าออนไลน์ได้ ควรติดต่อสถานพยาบาล หรือคลินิกเฉพาะทางเกี่ยวกับเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เท่านั้น
สำหรับคนที่ต้องการรับยา สามารถเข้ารับการตรวจที่
- คลินิคนิรนาม ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย
- โรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน คลินิกเฉพาะทาง(สามารถค้นหาสถานที่ตรวจใกล้บ้านได้ที่ https://hivthai.org/)เพื่อหาว่ามีเชื้อ HIV โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ไวรัสตับอักเสบบีอยู่ในร่างกายหรือไม่ กรณีไม่พบเชื้อ ขั้นตอนต่อไปต้องตรวจว่าตับและไตสามารถรับยาเข้าสู่ร่างกายได้ดีแค่ไหน จากนั้นแพทย์ก็จะพิจารณาจ่ายยาในการรักษาให้
เชื้อ HPV ก่อมะเร็งปากมดลูก ไม่ใช่แค่เรื่องของผู้หญิง ผู้ชายก็เสี่ยงมะเร็งได้
ป้องกันดีกว่าแก้! วิธีกันเชื้อ HIV
- ใส่ถุงยางอนามัย(อย่างถูกต้อง) นอกจากจะป้องกัน HIV แล้วยังป้องกันโรคจากเพศสัมพันธ์ อย่าง เช่น ซิฟิลิซ หนองใน ด้วย
- ไม่เปลี่ยนคู่นอนเป็นว่าเล่น (รักเดียวใจเดียวดีที่สุด)
- งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และใช้สารเสพติดทุกชนิด โดยเฉพาะการใช้เข็ดฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
- ก่อนแต่งงาน หรือมีบุตร ควรมีการตรวจร่างกาย และตรวจเลือด
ขอบคุณข้อมูลจาก: ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย และ สสวท.
ติดเชื้อ HPV ไม่เท่ากับเป็นมะเร็งปากมดลูก? เช็กความเสี่ยงและวิธีป้องกัน