ผิวแห้งคันเป็นขุย เกิดจากอะไร? ปัญหาผิวหนังปล่อยทิ้งไว้อาจอักเสบได้!
ผิวแห้งคันเป็นขุย ปัญหาที่หลายคนหนักใจ เพราะนอกจากความรำคาญยังบอกถึงปัญหาสุขภาพต่างๆโดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน โรคไต ขาดฮอร์โมนไทรอยด์ แนะวิธีเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวอย่างอ่อนโยน
ภาวะผิวแห้ง (Dry skin หรือ Xerosis) เกิดขึ้นจากภาวะที่มีน้ำมันเคลือบผิวลดลง เกิดการสูญเสียน้ำในผิวหนัง รวมทั้งต่อมไขมันผลิตน้ำมันลดลง ทำให้ผิวขาดความชุ่มชื้น ผิวหนังแห้งเป็นขุยไม่เรียบเนียน ร่วมกับมีอาการคันได้ ผู้ที่มีผิวแห้งจะมีผิวหนังที่แห้งกร้าน มองเห็นร่องของผิว ในรายที่มีอาการมากผิวหนังอาจมีอาการแดงลอกเป็นขุย แตกลาย โดยมักพบบริเวณ แขน ขา และมือ ในภาวะปกติร่างกายจะมีเกราะป้องกันผิวหนัง (skin barrier) เพื่อให้ผิวหนังมีความชุ่มชื้น
“คันยุบยิบตามตัว” อาจไม่ใช่เรื่องเล็ก เสี่ยงเจ็บป่วยทางกาย-โรคทางจิต
โรคผิวหนังหน้าฝน รู้ทันสามารถเลี่ยงผิวอักเสบเลี่ยงกลิ่นไม่พึงประสงค์
- ผิวหนังชั้นหนังกำพร้า (stratum corneum) ประกอบด้วยเซลล์ผิวหนัง เซลล์เม็ดสี โปรตีน น้ำ และไขมัน ซึ่งไขมันมีหน้าที่สำคัญคือกักเก็บความชุ่มชื้นที่ผิวหนัง
- ชั้นหนังแท้ (Dermis) ประกอบด้วยคอลลาเจน อีลาสตินและสาร Hyaluronic acid มีคุณสมบัติดูดซับน้ำไว้ในชั้นหนังแท้ ทำให้ผิวหนังเต่งตึงมีความยืดหยุ่นดี นอกจากนี้ในชั้นหนังแท้ยังมีต่อมเหงื่อทำหน้าที่สร้างและขับสารน้ำออกจากร่างกายเพื่อปรับอุณหภูมิ และต่อมไขมันทำหน้าที่ขับไขมันออกมาปกป้องผิว ไม่ให้ผิวแห้ง
ถ้ามีปัจจัยมารบกวนทำให้เกราะป้องกันผิวหนัง (skin barrier) เสียสมดุล จะส่งผลให้เกิดภาวะผิวแห้งผิวลอกได้ นอกจากนี้อาจเกิดอาการแสบคัน การเกาอาจจะทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังได้ควรไปพบแพทย์เนื่องจากอาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยาสเตียรอยด์เพื่อลดการอักเสบของผิวหนังและยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาภาวะติดเชื้อของผิวหนัง
- ปัจจัยภายใน (intrinsic factor) เช่น ผู้สูงอายุ ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน โรคไต ขาดฮอร์โมนไทรอยด์ ขาดสารอาหาร ขาดน้ำ หรือได้รับยาบางอย่างในการรักษาโรคเช่น ยาขับปัสสาวะ กรดวิตามินเอ
- ปัจจัยภายนอก (extrinsic factor) เช่น ความชื้นในอากาศต่ำอยู่ในห้องแอร์ทั้งวัน อาบน้ำบ่อยๆ หรือสัมผัสสารที่มีความเป็นกรดด่าง เช่นสบู่ที่มีความเป็นด่าง หรือน้ำยาทำความสะอาดที่มีแอลกอฮอล์ รวมถึงการใส่เสื้อผ้าที่มีความหยาบกระด้างกับผิวหนัง
ในผู้สูงอายุ ผิวหนังทุกชั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ ในชั้นหนังกำพร้าความสามารถในการสร้างเซลล์ใหม่ทดแทนเซลล์เก่าจะลดลง ซึ่งปกติวงจรการผลัดเซลล์ผิวของชั้นหนังกำพร้าจะใช้เวลาประมาณ 4 สัปดาห์ แต่ในผู้สูงอายุวงจรนี้จะใช้เวลานานขึ้นถึง 2 เท่า และความสามารถในการกักเก็บน้ำไว้ที่ผิวหนังก็ลดลง ผิวหนังชั้นหนังกำพร้าจะบางลงมากถึง 50% โดยเฉพาะบริเวณที่ถูกแสงแดดสม่ำเสมอ เช่น ใบหน้า คอ หลังมือ และแขนด้านนอก ส่วนในชั้นหนังแท้เส้นใยคอลลาเจนและอีลาสตินก็จะบางลง เส้นใยที่ประสานกันจะขาดความยืดหยุ่น ทำให้ผิวหนังเกิดรอยเหี่ยวย่น ต่อมเหงื่อและต่อมไขมันทำงานลดลง ทำให้ผิวหนังในผู้สูงอายุมีลักษณะแห้งเป็นขุย มีสะเก็ดและหยาบง่ายขึ้น
การรักษาภาวะผิวแห้ง
ควรใช้โลชั่นทาเพื่อเพิ่มความชุ่มชื่นให้ผิวหนัง ลดอาการคัน และเพิ่มเกราะป้องกันผิวหนัง และลดการสูญเสียน้ำในผิวหนัง ในกรณีที่มีการอักเสบของผิวหนัง หรือมีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วยจากการเกา (มีแผลและมีหนอง) แนะนำควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษา
“สะเก็ดเงิน” ไม่ใช่โรคติดต่อแต่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ รู้ก่อนชะลอได้
ป้องกันภาวะผิวแห้ง และหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดผิวแห้ง
- เลือกผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวที่เหมาะสม มีค่าความเป็นด่างน้อย คือควรมีค่า pH ประมาณ 5และควรมีสารเพิ่มความชุ่มชื้นผิว ไม่มีสารลดแรงตึงผิว (surfactant)
- ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นมาทดแทนสบู่เรียกว่า “syndet” สามารถทำความสะอาดผิวหนังได้เหมือนสบู่แต่เกิดอาการระคายเคืองและทำให้ผิวแห้งน้อยกว่า โดยแนะนำให้ใช้ syndet รูปแบบน้ำที่มีค่า pH น้อยกว่า 7 ไม่ใส่สีหรือสารกันเสีย และปราศจากน้ำหอม
- ทาโลชั่น ครีม หรือน้ำมัน เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นของผิวหนัง (moisturizer) หลังอาบน้ำทันที เช้า-เย็น หรือทาบ่อยๆ ในกรณีที่ผิวแห้งมาก และควรเลือก moisturizer ที่ไม่มีน้ำหอม เพื่อลดโอกาสในการแพ้สารเหล่านั้น
- งดการอาบน้ำอุ่นจัด หรืออาบน้ำเป็นเวลานาน
- หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์ และน้ำหอม
- หลีกเลี่ยงการเกาหรือเสียดสีบริเวณที่มีอาการคัน เนื่องจากจะกระตุ้นให้มีอาการอักเสบติดเชื้อที่ผิวหนังได้
- สวมใส่เสื้อผ้าที่โปร่งสบายผิว
- ดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวหนัง
- หลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดจัดเป็นเวลานาน และควรป้องกันแสงแดดโดยทาครีมกันแดด สวมหมวก กางร่ม และใส่เสื้อแขนยาว
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลสมิติเวชและคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
“เซ็บเดิร์ม” โรคผิวหนังคล้ายสะเก็ดเงิน สาเหตุอาการ-วิธีรักษาให้หายขาด
“แพ้เหงื่อตัวเอง” อย่าปล่อยให้เป็นอุปสรรคการใช้ชีวิต ทำอย่างไรให้หายคัน?