“คันยุบยิบตามตัว” อาจไม่ใช่เรื่องเล็ก เสี่ยงเจ็บป่วยทางกาย-โรคทางจิต
อาการคัน นับเป็นปกติของทุกคน แต่หากคันเรื้อรังมีปัญหาผิวหนังอื่นร่วม และไม่หายภายใน 2 สัปดาห์ แม้กินยาหรือทายาแล้ว ควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยรักษาอย่างถูกต้อง
อาการคัน สามารถเกิดขึ้นได้ตามผิวหนังทุกส่วนของร่างกาย และทุกคนไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ อาจคันเพียงบริเวณเล็กๆ หรือคันทั่วร่างกาย หรือมีอาการทางผิวหนังอื่นร่วม เช่น ผิวแห้ง ผิวแตก เป็นขุย มีผื่นแดง ผื่นนูน หรือตุ่ม แผลพุพอง แม้การเกาจะช่วยบรรเทาอาการคันได้บ้าง แต่หากเกาต่อเนื่องรุนแรงก็อาจส่งผลให้ผิวหนังระคายเคือง เป็นแผล และติดเชื้อเลยก็ได้ ฉะนั้นการหาสาเหตุจะช่วยแก้ปัญหาอาการ “คัน” ได้อย่างเหมาะสม
แพ้อะไรปัจจัยเกิด“ลมพิษ” ผื่นแดง-คันยุบยิบ วิธีรักษาให้หายขาด
ไม่เอาแล้วตุ่มคัน-ผื่นแดง! รู้ทันโรคภูมิแพ้ผิวหนังแบบเจาะลึก
อาการคันอาจเกิดจากหลายสาเหตุ
- โรคทางผิวหนัง เช่น ลมพิษ กลาก เกลื้อน สะเก็ดเงิน หิด อีสุกอีใส ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ภาวะผิวแห้ง โรคผื่นระคายสัมผัส เป็นต้น
- โรคทางระบบประสาท เช่น โรคเบาหวาน โรคงูสวัด โรคเส้นประสาทอักเสบ เป็นต้น
- โรคหรือภาวะเจ็บป่วยทางร่างกาย เช่น โรคตับอักเสบเรื้อรัง ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ไตวายเรื้อรัง โลหิตจาง มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง หรือการมีพยาธิบางชนิดในร่างกาย
- โรคทางจิต เช่น โรคซึมเศร้า โรคย้ำคิดย้ำทำ
- ระคายเคืองจากภูมิแพ้ เช่น แพ้สารเคมี แพ้สารประกอบในสบู่ ผงซักฟอก และเครื่องสำอาง หรือจากแมลงสัตว์กัดต่อย
- ผลจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะ ยากันชัก ยาแก้ปวดบางชนิด
- การตั้งครรภ์ อาการคันมักเกิดบริเวณหน้าท้องหรือต้นขา กรณีผู้ป่วยโรคผิวหนัง อาจส่งผลให้อาการคันแย่ลงในช่วงตั้งครรภ์
อาการคันที่ควรพบแพทย์
- อาการคันยุบยิบตามตัว ไม่มีผื่น คันทั่วทั้งร่างกายโดยไม่ทราบสาเหตุ
- อาการคันไม่ดีขึ้นนานกว่า 2 สัปดาห์
- คันมากจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
- มีไข้ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด ผิดปกติ
การรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุ
อาการคันไม่รุนแรงสามารถแก้ได้เอง
- กดหรือตบเบาๆ บริเวณที่มีอาการคันแทนการเกา
- ประคบเย็น บริเวณที่มีอาการคัน
- รับประทานยาแก้แพ้
- ทายาแก้คัน
“คันคะเยอ” เรื่องเล็กน้อย สะท้อนระบบภูมิคุ้มกันแปรปรวน
สำหรับอาการคันที่ไม่ได้เกิดจากโรคหรือความเจ็บป่วยร้ายแรง อาจป้องกันได้ ดังนี้
- หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้เกิดอาการคัน เช่น สารเคมี สบู่หรือผงซักฟอกบางชนิด
- ไม่อาบน้ำอุ่นหรือน้ำร้อน ซึ่งส่งผลให้ผิวแห้ง
- อาบน้ำสม่ำเสมอ
- ทาครีมบำรุงผิว เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น และช่วยให้ผิวไม่แห้งจนเกินไป อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง
- พยายามหลีกเลี่ยงการเกา เนื่องจากอาจทำให้หนังถลอกหรือเกิดการติดเชื้อ
- ผู้ป่วยโรคต่างๆ ควรรับประทานยาและปฏิบัติตัวตามแพทย์แนะนำ
อาการคันอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ บางสาเหตุสามารถป้องกันได้ และบางสาเหตุเกิดจากผลกระทบของโรคและความเจ็บป่วย ซึ่งต้องพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกวิธี
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลสมิติเวช
10 อาการเตือนเสี่ยง “โรคตับ” ตัวเหลือง-ตาเหลือง-อาการคัน ใช่หรือไม่?