เช็ก!ปวดประจำเดือนปกติหรือเสี่ยง“เนื้องอกมดลูก” ภัยเงียบแทบไม่แสดงอาการ
ปัญหาภายในของคุณผู้หญิงนั้นไม่ใช่เรื่องไกลตัว โดยเฉพาะเนื้องอกมดลูกที่พบบ่อยในผู้หญิงและมีเพียงประมาณร้อยละ 20 – 30 ที่แสดงอาการ กว่าจะรู้ตัวขนาดของเนื้องอกอาจเพิ่มขึ้นจนส่งผลกระทบกับอวัยวะใกล้เคียง และมีโอกาสเป็นโรคไตและโรคมะเร็งปากมดลูกได้(กรณีเป็นเนื้อร้าย)ส่งผลให้อาการแย่ลงหรือการรักษามีความซับซ้อนยิ่งขึ้น รู้ถึงสัญญาณเตือนและชนิดของเนื้องอกเพื่อวางแผนการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ
เนื้องอกมดลูก คือ โรคของกล้ามเนื้อมดลูก พบได้บ่อยในผู้หญิงอายุ 30 – 40 ปี ส่วนใหญ่เนื้องอกมดลูกไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน แต่เป็นการโตในโพรงมดลูกหรือโตเป็นก้อนนูนจากมดลูก ซึ่งการเติบโตจะค่อย ๆ โตไปอย่างช้า ๆ หรืออาจมีขนาดเท่าเดิม ซึ่งขนาด ตำแหน่ง และจำนวนที่พบจะแตกต่างออกไปในผู้ป่วยแต่ละบุคคล โดยอาจเกิดจากฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนที่สร้างจากรังไข่สามารถกระตุ้นให้เนื้องอกมีขนาดโตขึ้นได้ ในขณะเดียวกันหากเข้าสู่วัยทองหรือหมดประจำเดือนขนาดของเนื้องอกก็สามารถเล็กลงได้
4 โรคภายในที่พบมากในผู้หญิงยุคใหม่! เช็กก่อนลุกลามเป็นมะเร็ง !
ผู้หญิงเสี่ยงมะเร็งมากกว่าผู้ชาย? เช็ก 5 มะเร็งที่พบมาก-สัญญาณเตือน
ชนิดของเนื้องอกมดลูกแบ่งตามตำแหน่งได้ดังนี้
- เนื้องอกบริเวณผิวนอกผนังมดลูก หากขนาดโตมากอาจเบียดอวัยวะอื่นหรือนำมาซึ่งอาการปวดรุนแรงได้
- เนื้องอกในเนื้อมดลูกหรือในผนังมดลูก ส่งผลให้ปวดประจำเดือน ประจำเดือนมามาก มีบุตรยาก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของเนื้องอก
- เนื้องอกในโพรงมดลูก ส่งผลให้ประจำเดือนมาก ผิดปกติ ปวดประจำเดือน มีบุตรยาก และมีโอกาสแท้งบุตร
อาการเนื้องอกมดลูก
ผู้ที่เป็นเนื้องอกมดลูกอาจมีอาการหรือไม่มีอาการ อาจมีก้อนเดียวหรือหลายก้อน หรืออาจมีหลายชนิดปนกันได้ โดยอาการสำคัญที่ไม่ควรละเลยคือ
- ปวดประจำเดือน ปวดหน่วงท้องน้อย
- ประจำเดือนนาน ๆ ครั้งมา มาบ่อยผิดปกติ หรือมาในปริมาณมาก
- ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะลำบาก
- ท้องผูก ปวดหน่วงทวารหนัก
- คลำเจอก้อนบริเวณอุ้งเชิงกรานหรือช่องท้องในกรณีที่เนื้องอกมีขนาดใหญ่หรือมีจำนวนมาก
- ปวดเฉียบพลันร่วมกับมีไข้และคลื่นไส้หากเนื้องอกโตนอกมดลูกและเกิดการบิดขั้วของก้อนเนื้องอก
เนื้องอกมดลูกเท่ากับมะเร็งปากมดลูกหรือไม่ ?
คำตอบ คือมีโอกาสแต่น้อยมาก เพราะเนื้องอกที่พบส่วนใหญ่เป็นเนื้อดีไม่ใช่เนื้อร้าย และ 80% ไม่ใช่มะเร็ง หรือแม้กระทั่งภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจากเนื้องอกมดลูกก็พบไม่บ่อยนัก ถ้าพบคือในกรณีที่เนื้องอกมดลูกเบียดอวัยวะข้างเคียงอย่างท่อไต อาจทำให้เกิดโรคไตได้
ผู้หญิงรูปร่าง “ลูกแพร์-แอปเปิล” เสี่ยงมะเร็ง-โรคหัวใจกว่าหลายเท่า
การรักษาเนื้องอกมดลูก
ก่อนอื่นสามารถตรวจวินิจฉัยโดยการตรวจอัลตราซาวนด์ซึ่งสามารถเห็นรายละเอียดได้ชัดเจนนอกจากนี้สามารถตรวจโดยการส่องกล้องตรวจในมดลูกหรือช่องท้องทำได้โดยการผ่าตัด ซึ่งความยากขึ้นอยู่กับขนาด จำนวน และตำแหน่ง แบ่งออกเป็น
- การตัดก้อนเนื้องอก (Myomectomy) สามารถทำได้หลายทาง ทั้งการผ่าตัดเนื้องอกผ่านกล้อง การผ่าตัดเนื้องอกผ่านผนังหน้าท้องแบบแผลเล็กกว่าหรือเท่ากับ 6 เซนติเมตร และการผ่าตัดเนื้องอกผ่านผนังหน้าท้อง ปัจจุบันเนื้องอกมดลูกขนาดมากกว่า 5 เซนติเมตรก็สามารถผ่าตัดเนื้องอกผ่านกล้องได้ ช่วยลดโอกาสการเสียเลือดมาก ทั้งยังพักฟื้นไม่นาน โดยขึ้นอยู่กับความชำนาญของแพทย์เป็นสำคัญ นอกจากนี้สิ่งที่ควรรู้ไว้คือ 25 – 30% ของผู้ป่วยที่ผ่าตัดเนื้องอกออกไปแล้ว มีโอกาสที่เนื้องอกจะกลับมาโตอีก แต่ยังสามารถมีบุตรได้ ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
- การตัดมดลูก (Hysterectomy) สามารถทำได้โดยการผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอดการผ่าตัดมดลูกผ่านการส่องกล้องช่องท้อง การผ่าตัดมดลูกผ่านทางหน้าท้องแบบแผลเล็กกว่าหรือเท่ากับ 6 เซนติเมตร และการผ่าตัดมดลูกผ่านทางหน้าท้อง อย่างไรก็ตามวิธีนี้มักใช้ในผู้ป่วยที่ไม่ต้องการมีบุตรแล้ว
ทางที่ดีที่สุดในการป้องกันหรือทำให้รับมือกับเนื้องอกมดลูกได้คือการตรวจภายในเป็นประจำทุกปีเพราะอย่างที่บอกบางรายมักไม่มีอาการหรือคล้ายอาการมีประจำเดือนผิดปกติ ฉะนั้นการรู้ก่อนสามารถลดอาการแทรกซ้อนต่างๆและแม้จะมีโอกาสเป็นมะเร็งน้อยแต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีเลย ฉะนั้นการเจอก่อนจะทำให้ลดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ทั้งโรคมะเร็งปากมดลูกและโรคไต อย่างไรก็ตามหากมีอาการผิดปกติควรรีบปรึกษาสูตินรีแพทย์ทันที
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลกรุงเทพ
ผู้หญิงรูปร่าง “ลูกแพร์-แอปเปิล” เสี่ยงมะเร็ง-โรคหัวใจกว่าหลายเท่า
สัญญาณ “มะเร็งปากมดลูก” ใครบ้างเสี่ยงโรคร้ายคร่าชีวิตหญิงไทยอันดับ 1