5 ช่วงวัยผู้หญิง ควรให้ความสำคัญอะไร? โรคไหนที่ควรระวัง?
การวางรากฐานการดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจของผู้หญิงตั้งแต่วัยเด็ก วัยเจริญพันธุ์ วัยผู้ใหญ่ ไปจนถึงวัยทองไม่เพียงช่วยให้มีสุขภาพดีในระยะยาว แต่ยังมีแนวโน้มที่ดีในการป้องกันก่อนเกิดโรค เพราะฉะนั้นจึงควรใส่ใจวางแผนการดูแลสุขภาพในทุกช่วงวัย เช็กความเสี่ยงโรคและสัญญาณที่ควรระวัง
การดูแลสุขภาพกายของคุณผู้หญิงสามารถแบ่งออกตามวัย
วัยเด็ก-วัยก่อนเจริญพันธุ์ (วัยก่อนมีประจำเดือน)
ช่วงวัยนี้จะอยู่ในความดูแลของคุณพ่อคุณแม่เป็นหลัก แนะนำให้ฉีดวัคซีนที่เด็กไทยควรได้รับตามคำแนะนำของแพทย์ ดูแลสุขภาพด้วยการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายเพื่อรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์และควรฉีดวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก ซึ่งสามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ปี เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เช็ก!ปวดประจำเดือนปกติหรือเสี่ยง“เนื้องอกมดลูก” ภัยเงียบแทบไม่แสดงอาการ
“ปวดท้องน้อย”ฟ้องสารพัดปัญหาภายในผู้หญิง ปวดแบบไหนซีสต์แตก-มดลูกอักเสบ
วัยเจริญพันธุ์ (วัยเริ่มมีประจำเดือน)
เมื่อเริ่มมีประจำเดือนแสดงถึงการเป็นผู้หญิงเต็มตัว รังไข่ทำงานได้เต็มที่ ในช่วงวัยนี้จะมีระยะเวลานานคือตั้งแต่อายุ 15 – 50 ปี โดยจะแบ่งออกเป็น
- วัยเจริญพันธุ์ช่วงแรก ช่วงอายุ 20 – 30 ปี
ผู้หญิงจะมีความกระฉับกระเฉง ผิวพรรณเปล่งปลั่ง เป็นช่วงวัยที่ระบบการเผาผลาญทำงานได้ดี ออกกำลังกายได้เต็มที่ แนะนำให้รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ เลี่ยงไขมันและคาร์โบไฮเดรตสูง นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อให้โกรทฮอร์โมนที่ทำหน้าที่ควบคุมการเจริญเติบโตและการทำงานของอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย ช่วยคงความอ่อนเยาว์และชะลอวัยหลั่งออกมาอย่างเต็มที่ในเวลากลางคืน อีกทั้งยังเป็นช่วงที่เหมาะกับการมีบุตร เพราะสามารถฟื้นตัวหลังคลอดได้รวดเร็ว แต่ในบางคนที่มีปัญหาปวดประจำเดือนแนะนำให้พบสูติ – นรีแพทย์เพื่อตรวจร่างกายอย่างละเอียด และสำหรับผู้ที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้วแนะนำให้ตรวจภายในและตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำของแพทย์ - วัยเจริญพันธุ์ช่วงหลัง ช่วงอายุ 30 ปีขึ้นไป
ในช่วงนี้ผู้หญิงจะเริ่มมีริ้วรอยบนใบหน้า ระบบการเผาผลาญเริ่มทำงานลดลง จึงควรระมัดระวังการรับประทานอาหาร ลดอาหารหวานจัด เค็มจัด มันจัด เพราะเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังอย่างไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หัวใจและหลอดเลือดสมอง ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายแบบพอดีไม่หนักจนเกินไปเพื่อป้องกันข้อเสื่อม ที่สำคัญควรตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีและสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกาย หากพบความผิดปกติควรปรึกษาแพทย์ทันที
วัยก่อนหมดประจำเดือน หรือวัยทอง อายุ 40 ปีขึ้นไป
ในช่วงวัยนี้จะเริ่มพบกับความเสื่อมของร่างกาย หากดูแลตัวเองดีตั้งแต่เด็กย่อมช่วยชะลอความเสื่อมได้ ในวัยนี้ต้องตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี รวมถึงตรวจภายในอย่างสม่ำเสมอ เสริมแคลเซียมให้มากขึ้นเพราะกระดูกจะเริ่มบางลงจนเข้าสู่ภาวะกระดูกพรุน ที่สำคัญควรสังเกตสัญญาณเตือนก่อนวัยทอง ได้แก่ ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ หงุดหงิดง่าย อ่อนไหว อารมณ์แปรปรวน ร้อนวูบวาบ ช่องคลอดเริ่มแห้ง หมดอารมณ์ทางเพศ เป็นต้น
อาการเสี่ยงโรคผู้หญิงที่ไม่ควรละเลย
- ปวดท้องน้อย อาการสำคัญอันดับแรกที่ผู้หญิงมาพบสูติ นรีแพทย์เพราะทนไม่ไหว ซึ่งจะพิจารณาจากลักษณะอาการปวดท้องน้อยเป็นสำคัญเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัย
- ปวดประจำเดือนมากผิดปกติ ปวดมากขึ้นทุกเดือน กินยาแล้วไม่หายต้องกินเพิ่มหรือฉีดยา ปวดมากจนทรมาน ทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันไม่ได้
- ประจำเดือนมามากผิดปกติ จากเดิมใช้ผ้าอนามัยแค่ 2 – 3 ผืน เป็นใช้ผ้าอนามัยวันละ 7 – 8 ผืน
- ปัสสาวะบ่อย สังเกตได้จากการปัสสาวะตอนกลางคืนเกิน 2 ครั้งอาจบอกโรคบางอย่างได้ เช่น เนื้องอกมดลูกอาจมีก้อนเนื้อไปกดเบียดอวัยวะข้างเคียงมดลูกอย่างกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะบ่อย
4 โรคภายในที่พบมากในผู้หญิงยุคใหม่! เช็กก่อนลุกลามเป็นมะเร็ง !
โรคผู้หญิงที่ไม่ควรมองข้าม
- เนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก เป็นเนื้องอกที่เกิดจากเซลล์กล้ามเนื้อเรียบเติบโตในกล้ามเนื้อมดลูก มีลักษณะค่อนข้างกลม พบได้บ่อยมาก ในผู้หญิง 10 คน พบได้ 6 คน ซึ่งอาการจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งของก้อนบริเวณมดลูก
- เนื้องอกในกล้ามเนื้อมดลูก การเติบโตจะค่อย ๆ โตไปอย่างช้า ๆ หรืออาจมีขนาดเท่าเดิม อาการที่พบบ่อยคือปวดประจำเดือน ประจำเดือนมามากผิดปกติ ปัสสาวะบ่อยเพราะถูกกดเบียดจากอวัยวะข้างเคียง สำหรับโอกาสที่เนื้องอกมดลูกจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นมะเร็งมีน้อยมาก คือน้อยกว่า 1% ดังนั้นถ้าไม่มีอาการอะไรเลยไม่จำเป็นต้องผ่าตัด สามารถอยู่ร่วมกันได้
- ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ คือการที่เยื่อบุโพรงมดลูกไปเจริญเติบโตนอกโพรงมดลูก เช่น แทรกในผนังหรือกล้ามเนื้อมดลูก หรือเติบโตตามอวัยวะต่าง ๆ ส่งผลให้มีเลือดออกในเนื้อเยื่อเหล่านั้นขณะมีประจำเดือน ทำให้บริเวณนั้นมีเลือดคั่งและบวมขึ้น มดลูกมีการบีบตัวมากขึ้น ทำให้ปวดประจำเดือนและมดลูกมีลักษณะอ้วนกลมและโตขึ้น หากเนื้อเยื่อนี้ไปเจริญในรังไข่ก็จะทำให้เกิดช็อกโกแลตซีสต์ขึ้น
- ถุงน้ำรังไข่ มี 2 แบบ คือ เกิดจากเยื่อบุผิวของรังไข่ กับเกิดจากเนื้อเยื่อผิวหนังที่มีผม ขน ฟันข้างใน ที่เรียกว่า เดอร์มอยด์ซีสต์หากมีอยู่ในร่างกายอาจส่งผลให้มีอาการปวดท้องเฉียบพลันจากรังไข่บิดขั้ว เป็น ๆ หาย ๆ จนต้องมาพบสูติ – นรีแพทย์ ซึ่งอาการจะรุนแรงมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับชนิดของถุงน้ำที่พบ จึงต้องตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดกับสูติ – นรีแพทย์ ส่วนใหญ่ภาวะนี้รักษาโดยการผ่าตัด ที่น่าสนใจคือมีทั้งชนิดที่เป็นมะเร็งและไม่ใช่มะเร็ง จึงควรรีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
เพราะสุขภาพผู้หญิงเป็นสิ่งที่ซับซ้อนมากกงว่าผู้ชายจึงควรได้รับการดูแลตั้งแต่แรกเริ่มเพื่อการมีสุขภาพที่ดีอย่างยืนยาวโดยเฉพาะการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกที่สามารถฉีดได้ตั้งแต่เด็กเพื่อป้องกันและลดความรุนแรงของโรคอย่างมีประสิทธิภาพและอย่าละเลยการตรวจสุขภาพภายในทุกปีเพื่อเฝ้าระวังและได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่ระยะแรกของโรค
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลกรุงเทพ
“วัยทอง” ฮอร์โมนเปลี่ยน เสี่ยง “หลอดเลือดหัวใจตีบ” รู้ทันรับมือได้
5 อาหารควบคุมฮอร์โมนวัยทอง ลดอารมณ์เหวี่ยงวีน-ป้องกันกระดูกพรุน