โควิด-19 ใน"เด็ก" ติดเชื้อ-หลังหายป่วย ยังมีเรื่องต้องระวัง
การติดเชื้อโควิด-19ในเด็กมีทั้งที่แสดงและไม่แสดงอาการ รู้ให้ชัดป้องกันเกิดความสับสน
สถานการณ์ปัจจุบันมีเด็กๆ ติดเชื้อโควิด-19 มากขึ้น และมีแนวโน้มการติดเชื้อเพิ่มขึ้นหลังจากการระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนเนื่องจากบางโรงเรียนได้เริ่มมีการเปิดเรียน และเด็ก 5 – 11 ปีเพิ่งได้รับวัคซีนในการป้องกัน โดยตามปกติอาการของเด็กที่ติดเชื้อจะมีไข้อยู่ประมาณ 5 วัน แต่ต้องสังเกตอาการถึง 10 วัน และติดตามอาการต่อจนครบ 14 วัน โดยจากข้อมูลเชื้อโอมิครอนในเด็กส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อยเหมือนเป็นไข้หวัด
เทียบ3สายพันธุ์โควิดในไทย ติด'โอมิครอน'แล้วมีอาการอย่างไร?
สธ.คาดหลังสงกรานต์อาจติดโควิด-19 วันละ 1 แสนคน
อาการของผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อโควิด-19 มีอาการได้ตั้งแต่ไข้หวัด ไปจนถึงปอดอักเสบ ซึ่งมีอาการแสดง ดังนี้
• ไข้ บางรายไข้สูงได้ถึง 39-40 องศาเซลเซียส
• น้ำมูก ไอ เจ็บคอ
• หายใจเสียงดัง กล่องเสียงบวม
• หายใจเร็ว หอบเหนื่อย อกบุ๋ม ปอดมีเสียงหวี๊ด
การรักษาโควิด-19ในเด็ก
• แพทย์ผู้รักษาประเมินอาการ และพิจารณาให้ยา Favipiravia ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการ
• หากเด็กติดเชื้อโควิด-19 แต่ไม่มีอาการ แนะนำให้ดูแลรักษาตามดุลพินิจของแพทย์
• ยังไม่แนะนำให้ใช้ยาฟ้าทะลายโจร เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะแนะนำการใช้ในเด็ก
• เมื่อเด็กป่วยจากการติดเชื้อโควิด-19 มีกลุ่มอาการที่ต้องเฝ้าระวัง คือ ภาวะ Multisystem inflammatory syndrome หรือเรียกย่อๆ ว่า MIS-C ซึ่งเป็นกลุ่มอาการอักเสบหลายระบบที่เป็นภาวะแทรกซ้อนรุนแรงหลังจากการติดเชื้อโควิด-19 ภาวะนี้พบได้น้อย แต่มีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง คือ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ อาจเริ่มมีอาการได้ตั้งแต่เริ่มหายจากโรค หรือตามหลังการติดเชื้อประมาณ 2-6 สัปดาห์ โดยมีอาการครบทุกข้อดังนี้
1.มีไข้มากกว่า 38 องศาเซลเซียส
2.มีหลักฐานการติดเชื้อโควิด-19
3.มีอาการอย่างน้อย 2 ข้อ ต่อไปนี้
-อาการทางเดินอาหาร เช่น อาเจียน ถ่ายเหลว ปวดท้อง
-อาการทางเดินหายใจ เช่น เจ็บคอ ไอ
-มีการอักเสบของเยื่อบุต่างๆ เช่น ตาแดง ผื่น
-มือ หรือเท้าบวม
-ต่อมน้ำเหลืองโต
-มีอาการผิดปกติทางระบบประสาท เช่น ชัก สับสน
**หากมีอาการดังกล่าว ควรรีบกลับมาพบแพทย์ก่อนนัดทันที
การป้องกันการติดเชื้อ
• เด็กควรได้รับวัคซีนป้องกันเชื้อแบคทีเรียก่อโรคระบบหายใจ ได้แก่ conjugated pneumococcal vaccine (IPD), Hib vaccine และวัคซีนป้องกันโรคไอกรน ซึ่งวัคซีนเหล่านี้เป็นวัคซีนที่เด็กๆ จะได้รับในช่วงอายุ 2 เดือน ถึง อายุ 1 ปีครึ่ง
• เด็กตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป ควรได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปี โดยเด็กที่อายุน้อยกว่า 9 ปี การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในครั้งแรกต้องฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 1 เดือน จากนั้นสามารถฉีดปีละ 1 ครั้งตามปกติเหมือนผู้ใหญ่
• แนะนำให้เด็กที่มีอายุ 5 ปีขึ้นไป รับวัคซีนโควิด-19 ตามคำแนะนำของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย
• พ่อ แม่ ผู้ปกครองที่เลี้ยงดูเด็ก ควรได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันโรคไอกรน และวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19
• เด็กเล็กที่กินนมแม่ ควรให้กินนมแม่ต่อเนื่อง เนื่องจากนมแม่มีสารภูมิต้านทานส่งต่อไปยังลูก ช่วยป้องกันและลดความรุนแรงของการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจและระบบทางเดินอาหาร
• หลีกเลี่ยงการพาเด็กไปที่แออัด พลุกพล่าน
• ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร หรือหลังสัมผัสสิ่งของส่วนรวมต่างๆ
• แนะนำให้สวมหน้ากากอนามัยในเด็กอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป
เปิดข้อแตกต่าง“ไข้เลือดออก-โควิด” เช็กอาการให้ชัวร์ป่วยเป็นโรคไหน
“โรคมะเร็งสมองในเด็ก” พบตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยรุ่น
ขอบคุณข้อมุลสุขภาพจาก โรงพยาบาลพญาไท, สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี