เทียบอันตรายบุหรี่ไฟฟ้า-บุหรี่มวนก่อมะเร็งปอดได้เหมือนกันหรือไม่?
หากพูดถึงมะเร็งปอด หลายคนคงนึกถึงบุหรี่ที่เป็นสาเหตุของโรคร้ายและกระตุ้นเซลล์มะเร็งกว่า 10 เท่า และบุหรี่ไฟฟ้าล่ะ ? อันตรายเท่ากับบุหรี่มวนหรือไม่?
สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี หรือ (สบยช.) เปิดเผยว่า บุหรี่ทุกชนิดเป็นภัยเงียบที่ส่งผลกระทบต่อผู้สูบรวมไปถึงคนรอบข้าง เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคเรื้อรังในหลายระบบของร่างกาย การเลิกสูบบุหรี่ทุกชนิดจึงเป็นวิธีการที่ดีสุดที่จะทำให้ผู้สูบมีสุขภาพร่างกายที่ดีขึ้น ปัจจุบันพบจำนวนผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน
“บุหรี่ไฟฟ้า” อันตรายน้อยกว่า-ช่วยเลิก “บุหรี่มวน”ได้จริงหรือไม่ ?
เตือน! บุหรี่ไฟฟ้า 1 แท่ง นิโคตินเท่ากับบุหรี่ทั่วไป 20 มวน!
บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร?
บุหรี่ไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์สูบบุหรี่ชนิดหนึ่ง ซึ่งใช้กลไกไฟฟ้าทำให้เกิดความร้อนและไอน้ำที่ประกอบไปด้วยสารเคมีต่าง ๆ โดยไม่มีควันจากกระบวนการเผาไหม้เหมือนบุหรี่ปกติทั่วไป ประกอบด้วยส่วนประกอบหลัก 3 ส่วน คือ แบตเตอรี่ ตัวทำให้เกิดไอและความร้อน (Atomizer) และน้ำยา ถ้ากล่าวถึงเฉพาะส่วนของน้ำยาที่จะถูกทำให้เป็นไอและเข้าสู่ร่างกายของผู้สูบจะประกอบด้วยสารประกอบหลัก ๆ คือ
- นิโคติน ซึ่งเป็นสารเสพติดชนิดหนึ่งที่พบได้ในทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ปกติทั่วไป เป็นสารที่ทำให้ร่างกายเสพติดการสูบบุหรี่
- โพรไพลีนไกลคอล เป็นส่วนประกอบในสารสำหรับการทำให้เกิดไอ
- กลีเซอรีน เป็นสารเพิ่มความชื้นที่จะผสมผสานกับสารโพรไพลีนไกลคอล องค์การอาหารและยา (FDA) ยืนยันถึงความปลอดภัยว่าใช้ได้ทั้งในอาหารและยา แต่ยังไม่ได้รับการยืนยันว่าเมื่อเปลี่ยนรูปแบบเป็นไอที่สูบหรือสูดแล้วเกิดผลกระทบอย่างไรต่อร่างกาย เช่นเดียวกันกับโพรไพลีนไกลคอล
- สารแต่งกลิ่นและรส เป็นสารเคมีที่ใช้กับอาหารทั่ว ๆ ไป ซึ่งมีความปลอดภัยเมื่อรับประทานเข้าสู่ร่างกาย แต่ยังไม่ได้รับการยืนยันว่าเมื่อเปลี่ยนรูปแบบเป็นไอที่สูบหรือสูดแล้วเกิดผลกระทบอย่างไรต่อร่างกาย
นอกจากนี้ยังพบสารประกอบอีกมากมายในไอของบุหรี่ไฟฟ้าที่มีข้อมูลว่าเป็นอันตรายต่อร่างกาย เช่น โลหะหนัก สารหนู สารกลุ่ม Formaldehyde และกลุ่ม Benzene เป็นต้น จากการวิจัยยังพบว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ เพิ่มขึ้น เช่น โรคหัวใจ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของ DNA ในเซลล์ปอด หัวใจ และกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง
บุหรี่หนึ่งมวนต่างจากบุหรี่ไฟฟ้าอย่างไร ?
สามารถแยกส่วนประกอบหลักได้ 3 อย่าง ได้แก่
- กระดาษใช้สำหรับห่อกระดาษที่นำมาใช้ก้นกรองและใบยาสูบนี้จะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางอยู่ที่ 10 มิลลิเมตร และมีความยาว 120 มิลลิเมตร
- ก้นกรองบุหรี่ ก้นกรองทำมาจากใยสังเคราะห์ซึ่งจะมีเซลลูโลสอะซีเตทเป็นส่วนประกอบหลัก และมีหน้าที่ดูดซับความชื้น รวมไปถึงช่วยในการกรองควันบุหรี่จากน้ำมันดินหรือทาร์
- สารสำหรับสูบ สิ่งนั้นคือใบยาสูบที่ได้ผ่านกระบวนการทางเคมีและมีการปรุงแต่งส่วนประกอบต่างๆเพิ่มเติม บุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าบุหรี่มวนจริงหรือไม่
โดยบุหรี่มวนนั้นเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปอดสูงถึงร้อยละ 80 – 90% การสูบบุหรี่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของเซลล์หลอดลมทำให้เกิดการกลายพันธุ์เป็นเซลล์มะเร็งได้ เสี่ยงมะเร็งปอดมากกว่า 10 เท่า
เทียบกับบุหรี่มวนแล้วบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายมากกว่าหรือน้อยกว่า?
ความจริงที่ว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีกลไกการทำงานที่ไม่มีกระบวนการเผาไหม้เหมือนบุหรี่ธรรมดา ทำให้ผู้สูบลดความเสี่ยงที่จะได้รับสารที่เป็นอันตรายจากการเผาไหม้บางตัวเช่นน้ำมันดินหรือทาร์ (Tar) และคาร์บอนมอนอกไซด์ (Carbon Monoxide) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งและโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ
แต่จากที่กล่าวมาข้างต้นสารประกอบอื่น ๆ ที่พบในบุหรี่ไฟฟ้าก็ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ไม่แพ้กัน นอกจากนี้ยังมีบางงานวิจัยที่ระบุว่า ไอระเหยของบุหรี่ไฟฟ้ามีขนาดอนุภาคที่เล็กกว่าบุหรี่ธรรมดา ทำให้สามารถถูกสูดเข้าไปในปอดส่วนลึกได้มากกว่า อนุภาคที่เล็กนี้จะจับเข้ากับเนื้อเยื่อปอดและดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้อย่างรวดเร็วและยากที่กลไกธรรมชาติของร่างกายจะขับออกมาได้
มีภาษิตฝรั่งบทหนึ่งกล่าวว่า “ผีที่รู้จักก็ยังดีกว่าผีที่ไม่รู้จัก” เรารู้จักบุหรี่ธรรมดากันมานานมากแล้ว มีการวิจัยต่าง ๆ เกี่ยวกับอันตรายของมันอย่างแทบจะทุกแง่ทุกมุมแล้ว จึงทำให้เราตระหนักในโทษภัย และเฝ้าระวังมันได้อย่างดี แต่ด้วยความที่บุหรี่ไฟฟ้ายังเป็นของใหม่มาก เรายังไม่มีข้อมูลวิจัยที่มากพอที่จะระบุถึงอันตรายของสารเคมีแต่ละตัวในบุหรี่ไฟฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่ใช้ไปนาน ๆ ในระยะยาว ๆ ซึ่งการที่ยังไม่มีข้อมูลว่าอันตรายไม่ใช่แปลว่าไม่มีอันตราย เพียงแต่ผู้ที่เกี่ยวข้องยังต้องมีหน้าที่ที่จะต้องติดตามศึกษากันต่อไป
“มะเร็งปอด”เนื้องอกโตเร็ว พบป่วยมากในไทย เป็นได้แม้ไม่สูบบุหรี่!
อย่างไรก็ตาม ในปี 2557 มีงานวิจัยถึงผลกระทบของบุหรี่ไฟฟ้าต่อสุขภาพเพียง 158 ชิ้น แต่จำนวนงานวิจัยได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็น 6,971 ชิ้นนับจนถึงต้นปี 2021 ซึ่งรายงานถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าต่อสุขภาพทั้งโรคปอดและโรคหัวใจมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นตลอดเวลา องค์การอนามัยโลกจึงไม่เคยบอกว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา และผลกระทบของบุหรี่ไฟฟ้าต่อสุขภาพในระยะยาวยังไม่เป็นที่ทราบกัน เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่งแพร่หลายมาประมาณ 10 กว่าปีมานี้เอง
ประเทศสหรัฐอเมริกาที่บุหรี่ไฟฟ้าขายได้อย่างถูกกฎหมายตั้งแต่ปี 2550 อัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายเท่ากับ 1.5% เท่านั้น ในปี 2554 แต่ได้เพิ่มขึ้นเป็น 27.5% ในปี 2562 ดังนั้นข้อมูลที่ฝ่ายที่สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้านำมาอ้างว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าบุหรี่ธรรมดา จึงเป็นข้ออ้างที่ยังไม่สามารถที่จะนำมาประกอบการพิจารณานโยบายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย เนื่องจากเป็นการกำหนดนโยบายที่จะส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมาก โดยเฉพาะเยาวชนที่ชอบลองของใหม่ ๆ อย่างบุหรี่ไฟฟ้า แม้ว่าในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเพียงพอว่าบุหรี่ไฟฟ้า ทำให้เกิดมะเร็งปอด แต่มีหลักฐานยืนยันว่าเพิ่มความเสี่ยง ในการเกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองและโรคปอดอักเสบเฉียบพลัน
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลกรุงเทพ ,มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
มะเร็งปอดระยะลุกลามแพร่กระจายไปยังกระดูก-สมองได้
“มะเร็งปอด”เนื้องอกโตเร็ว พบป่วยมากในไทย เป็นได้แม้ไม่สูบบุหรี่!