“เล่นกีฬา-ออกกำลังกาย” ทำไมต้องมีวันหยุด เช็กสัญญาณที่บ่งบอกให้พัก
ไขข้อสงสัยทำไม “เล่นกีฬา-ออกกำลังกาย” ทำเป็นประจำทุกวันไม่ได้ พร้อมเช็กสัญญาณ เตือนที่บ่งบอกว่าควรหยุดพักได้แล้ว
การเล่นกีฬาและการออกกำลังกายเป็นเรื่องที่ดี เพราะช่วยให้เราฟิตหุ่น กระชับสัดส่วน หรือมีสุขภาพที่แข็งแรงทนทานได้ แต่รู้หรือไม่ว่าถ้าหักโหมมากเกินไป เป้าหมายที่เราตั้งใจทำเหล่านั้น จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย แถมยังส่งผลเสียทำให้เกิดปัญหาสุขภาพกายและใจได้อีกด้วย
ด้วยเหตุนี้การเล่นกีฬาและการออกกำลังกายจึงต้องมีวันพัก แม้หลายคนที่เล่นกีฬาเป็นประจำจนกลายเป็นนิสัยจะไม่ค่อยชอบใจก็ตาม
เล่นกีฬาทำไมถึงทำให้เสพติด
เล่นกีฬาหรือออกกำลังกายทีไร จะรู้สึกหัวสมองปลอดโปร่ง มีความสุข! นั่นเป็นเพราะว่าทุกครั้งที่ได้เล่นกีฬาหรือออกกำลังกาย ร่างกายจะหลั่งสาร “เอ็นดอร์ฟินส์” ออกมา ช่วยคลายความเครียด ทำให้เราอารมณ์ดีขึ้น
คนจึงมักบอกว่าการออกกำลังกายเหมือนยาเสพติดชนิดหนึ่ง ซึ่งหากทำจนกลายเป็นกิจวัตรหรือเป็นนิสัยแล้ว ถ้าไม่ได้ออกกำลังกายสักวันจะรู้สึกไม่ค่อยสดชื่นเท่าที่ควร
ด้วยเหตุนี้หลายคนที่เล่นกีฬาหรือออกกำลังกายเป็นประจำจึงไม่ค่อยอยากหยุดพัก เพราะนอกจากช่วยลดน้ำหนัก สร้างเสริมความแข็งแรงให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้โดยเร็วแล้ว ยังช่วยให้มีความสุขด้วย
ออกกำลังกาย ทำไมถึงต้องมีวันพัก
การเล่นกีฬาหรือออกกำลังกาย ที่จริงแล้วทำให้กล้ามเนื้อของเราบอบช้ำ ดังนั้นเพื่อให้ร่างกายได้มีโอกาสฟื้นตัว จึงต้องมีวันหยุด เพื่อให้กล้ามเนื้อได้ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ที่สำคัญพอร่างกายได้ฟื้นตัว การออกกำลังกายในครั้งต่อไปจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
ฉะนั้นใครที่ไม่กล้าหยุดพัก เพราะกลัวว่าจะทำตามเป้าหมายได้ช้า ขอให้คลายความกังวลใจกันได้เลย เพราะการได้พักสักหน่อยกลับทำให้ได้ผลลัพธ์ดีขึ้นมากกว่าเดิม
โทษของการออกกำลังกายมากเกินไป
การเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายบ่อยหรือมากเกินไป ทำให้ร่างกายไม่มีเวลาพักฟื้นซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอเพียงพอ นอกจากความเหนื่อยล้าทั่วไปแล้ว ยังนำไปสู่อาการบาดเจ็บจากการใช้งานซ้ำ ๆ และประสิทธิภาพของร่างกายลดลงได้ เช่น กล้ามเนื้อขาตึง ประสิทธิภาพการเคลื่อนไหวของข้อต่อบริเวณไหล่และสะโพกลดลง
โดยเฉพาะคนต้องการลดน้ำหนัก หลายคนมักคิดว่ายิ่งออกกำลังกายได้มากเท่าไรยิ่งดี แต่ที่จริงแล้วการกดดันตัวเองมากเกินไปอาจส่งผลย้อนกลับได้ เพราะความเครียดที่มากเกิน จะไปดึงความสามารถในการลดน้ำหนัก ย่อยอาหาร หรือการทำให้ระบบประสาทที่ช่วยทำให้ร่างกายสงบลงทำงานได้ไม่ดี
สัญญาณอันตราย “โหมออกกำลังกาย”
การโหมออกกำลังกาย แบ่งได้ 2 รูปแบบหลัก ๆ คือ หนึ่งการเล่นกีฬาบ่อยเกินไป และสองการเล่นที่หนักเกินกว่าร่างกายจะรับไหวในคราวเดียว
สัญญาณเตือนออกกำลังกายบ่อยเกิน
สำหรับสัญญาณเตือนที่บ่งบอกว่า คุณกำลังออกกำลังกายติดต่อกันเกินไป และควรพิจารณาตารางการออกกำลังกายของคุณใหม่ ได้แก่
- เหนื่อยล้า
- บาดเจ็บจากการออกกำลังกาย ทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำเกินความสามารถของตัวเอง
- ปวดกล้ามเนื้อเป็นเวลานาน เกินกว่า 2-3 วัน
- นอนไม่หลับ
- ไม่สนุกกับการออกกำลังกายมากนัก
- ไม่เห็นผลลัพธ์ทางสุขภาพที่ต้องการ
- ความอยากอาหารเปลี่ยนแปลง
- ไขมันเพิ่มขึ้น
- ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
- ซึมเศร้า
สัญญาณเตือนออกกำลังกายหนักไป
ส่วนสัญญาณเตือนที่บ่งบอกว่า คุณกำลังออกกำลังกายมากเกินกำลังของตัวเองแล้วในครั้งเดียว ได้แก่
- หน้าซีด หายใจไม่คงที่
- กระดูกผิดรูป ข้อเคลื่อนหลุด รู้สึกขยับกระดูกหรือข้อต่อแล้วผิดปกติ
- ใจสั่น เจ็บหน้าอก หายใจติดขัด
- อ่อนแรง กล้ามเนื้อเป็นอัมพาต ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ปกติ หรือปวดเกร็ง
- ปวดเรื้อรัง หรือมีอาการแย่ลง
วิธีออกกำลังกายที่ถูกต้อง
องค์การอนามัยโลก (WH0) กำหนดให้การออกกำลังกายที่เหมาะสมคือ สัปดาห์ละ 150 ชั่วโมง หรือ ครั้งละ 30 นาที จำนวน 5 ครั้งต่อสัปดาห์
สำหรับใครที่ออกกำลังกายมากเกิน ควรปรับลดให้พอเหมาะจะดีที่สุด อย่าปล่อยให้การออกกำลังกายที่ควรเสริมสร้างสุขภาพที่ดี กลายเป็นทำร้ายสุขภาพให้พังลงแทน
อย่างไรก็ตาม หากไม่อยากหยุดจริง ๆ แนะนำว่าอีก 2 วันที่เหลือในสัปดาห์ ควรจะทำกิจกรรมที่เบาที่สุด หรือกิจกรรมเพื่อความผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เช่น การเดินเล่นรอบสวนสาธารณะ 20 นาที หรือกลิ้ง Foam Roller เพื่อผ่อนคลายร่างกายเบา ๆ
ยิ่งออกกำลังกาย ยิ่งต้องตรวจสุขภาพ
ออกกำลังกายบ่อย ดูแข็งแรงก็จริง แต่ใช่ว่าจะไม่จำเป็นต้อง “ตรวจสุขภาพ” เพราะการออกกำลังกายเป็นประจำ ก็อาจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจหนา เสี่ยงหัวใจวายเฉียบพลันได้ หรือแม้แต่กระทั่งค่าตับ ค่าไต ก็อาจพุ่งสูงได้โดยไม่รู้ตัว มากกว่านั้นยิ่งไม่ได้วอร์มอัพก่อนด้วยแล้ว ยิ่งเสี่ยงโรคข้อเสื่อมอีก
ดังนั้นเมื่อวางแผนออกกำลังกายกันแล้ว อย่าลืมวางแผนตรวจสุขภาพกันด้วย สุขภาพที่ดีจะได้อยู่คู่กับเราไปอีกนาน
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลเปาโล, โรงพยาบาลพญาไท, สสส., เว็บไซต์ TODAY/Health และ เว็บไซต์ Byrdie
เทคนิคออกกำลังกายฤดูร้อน ป้องกันฮีทสโตรก ลดการสูญเสียเหงื่อไม่จำเป็น!
เทคนิคลดน้ำหนักตามกรุ๊ปเลือด เลือกกิน-ออกกำลังกายเพื่อผลลัพธ์ที่ดีกว่า!