10 สัญญาณมะเร็งปากมดลูก เผยพฤติกรรมและช่วงอายุเสี่ยงโรค
มะเร็งปากมดลูก มะเร็งอันดับที่ 2 ของหญิงไทย และคร่าชีวิตเป็นจำนวนมาก ถึงจะสามารถป้องกันได้กว่า 80% เผยอาการที่ควรระวังและปัจจัยเสี่ยง
มะเร็งปากมดลูก ถือเป็นอีกหนึ่งโรคที่น่ากลัวสำหรับผู้หญิงไทยเป็นอย่างมาก เพราะนับเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ในกลุ่มโรคมะเร็งผู้หญิง พบผู้ป่วยรายใหม่ราว 10,000 รายต่อปี และ ราวครึ่งหนึ่งเสียชีวิต นับว่าเป็นภัยที่คร่าชีวิตหญิงไทยเป็นจำนวนมาก แม้จะรู้ว่าสาเหตุเกิดจากอะไร เนื่องจากในช่วงแรกของระยะมะเร็ง จะไม่มีสัญญาณเตือนใดๆ และอาการจะเด่นชัดขึ้นเมื่อมะเร็งแพร่กระจาย แน่นอนที่มันร้ายคือผู้ป่วยจะรู้ตัวในตอนที่มะเร็งเข้าสู่ระยะอันตรายแล้ว มะเร็งปากมดลูกพบได้ในหญิงช่วงอายุ 30- 60 ปี
วิธีเตรียมตัวตรวจมะเร็งปากมดลูก ควรงดมีเพศสัมพันธ์กี่วัน?
สปสช. ชวนหญิงไทยรับบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยตนเองฟรี!
ความสัมพันธ์ระหว่างไวรัส HPV กับมะเร็งปากมดลูก
ส่วนใหญ่แล้วมะเร็งปากมดลูกเกิดจากการติดเชื้อไวรัส HPV (Human Papillomavirus) แม้จะมีหลายสายพันธุ์ แต่ก็มีสายพันธุ์หลักที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในบริเวณอวัยวะเพศของทั้งหญิงและชาย คือสายพันธุ์ HPV 16 และ 18 ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดมะเร็งปากมดลูก โดยไวรัสชนิดนี้สามารถติดต่อผ่านการสัมผัสทางผิวหนัง ดังนั้นการมีเพศสัมพันธ์จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงมีโอกาสติดเชื้อไวรัสสูงถึงร้อยละ 80 เลยทีเดียว
ปัจจัยเสี่ยงมะเร็งปากมดลูก
- คนที่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย เป็นช่วงอายุที่มีความไวต่อการติดเขื้อไวรัส HPV
- คนที่มีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนหลายๆ คน จะเพิ่มโอกาสการติดเชื้อ HPV
- คนที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายที่มีภรรยาหรือคู่นอนที่เป็นมะเร็งปากมดลูก
- ผู้หญิงหรือผู้ชายที่เป็นคู่นอน เป็นโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ เช่น เริม หนองใน หูด
- ผู้ที่มีโรคที่ทำให้ภูมิต้านทานต่ำ เช่น โรคเอดส์ (HIV)
อาการผิดปกติควรระวังมะเร็งปากมดลูก
ทั่วไปแล้วหากพบมะเร็งปากมดลูกในระยะแรกเริ่มการรักษาก็มักได้ผลดี อาการสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงตัดสินใจมาพบแพทย์ ก็คือ การมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด แต่ควรหมั่นสังเกตตัวเองจากอาการเตือนเหล่านี้
- มีเลือดออกระหว่างมีเพศสัมพันธ์
- มีเลือดออกหลังวัยหมดประจำเดือน
- มีของเหลวปนเลือด ออกทางช่องคลอด
- มีอาการปวดท้องน้อย
- มีอาการเจ็บระหว่างมีเพศสัมพันธ์
- ตกขาวมีความผิดปกติ
- ประจำเดือนมามากผิดปกติ
- อ่อนเพลีย ซีด เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
- มีการบวม
- ปัสสาวะไม่ออก
“ซื้อยามากินเอง” เสี่ยงโรคไต เผยกลุ่มยาอันตราย ควรปรึกษาแพทย์ก่อนกิน
การรักษามะเร็งปากมดลูก
หากมะเร็งเกิดขึ้นในระยะแรก การผ่าตัดเป็นวิธีการที่ได้ผลดีเป็นอย่างมาก แต่หากเกิดขึ้นในระยะลุกลามมากแล้ว จะรักษาด้วยการฉายแสงร่วมกับการใส่แร่ หรือการผสมผสานระหว่างการผ่าตัดการฉายรังสี และการให้ยาเคมีบำบัด โดยทีมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญจะเป็นผู้พิจารณาร่วมกับผู้ป่วย
การป้องกันมะเร็งปากมดลูก
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์หลายคู่นอน
- ควรใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์
- เมื่อมีอาการผิดปกติ เช่น ตกขาวผิดปกติ เลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ ควรมาพบแพทย์
- หมั่นตรวจคัดกรองมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งปากมดลูกอย่างน้อยปีละครั้ง
- ฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส HPV
ทั้งนี้มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่ป้องกันได้กว่า 80 % ทั้งนี้หากรู้ทันสุขภาพเช็กเป็นประจำ หากเจอโรคร้ายไม่ว่าจะรุนแรงแค่ไหนก็จะตอบสนองต่อการรักษาและมีโอกาสหายขาดได้มากกว่า
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลเปาโลเกษตร และ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ
12 ผักพื้นบ้านใกล้ตัว ช่วยลดไขมันในเลือด ต้านโรคหัวใจและหลอดเลือด
ชวนหญิงไทย บริจาคโลหิตเนื่องในวันสตรีไทย พร้อมรับของที่ระลึกสุดพิเศษ!