รู้จักฮอร์โมนเพศชายและหญิง สัญญาณฮอร์โมนไม่สมดุลหรือบกพร่อง
ฮอร์โมน (Hormone) มีความสําคัญในการควบคุมการเจริญเติบโตและพัฒนาการตั้งแต่เด็กไปจนชรา เผยสัญญาณฮอร์โมนไม่สมดุลหรือบกพร่อง
หน้าที่ของต่อมไร้ท่อคือการสร้าง ‘ฮอร์โมน’ (Hormone) ซึ่งมีความสําคัญในการควบคุมการเจริญเติบโตและพัฒนาการตั้งแต่เด็กไปจนชรา การควบคุมสมดุลน้ำและเกลือแร่ การสร้างและการใช้พลังงานที่เกี่ยวข้องกับระบบเผาผลาญ รวมถึงระบบสืบพันธุ์ ซึ่งทั้งหมด ก็คือการดูแลควบคุมให้ร่างกายทำงานได้อย่างปกติตามธรรมชาติ โดยฮอร์โมนแต่ละชนิดก็มีหน้าที่เฉพาะอย่าง จึงส่งผลต่อร่างกายแตกต่างกัน และหนึ่งในนั้นคือเรื่องของเพศและการเจริญพันธุ์
ประโยชน์ฮอร์โมนระหว่างการนอนหลับ เทคนิคสำหรับหลับยาก!
ออกกำลังกายไม่เหมาะสมกับฮอร์โมน เสี่ยงสุขภาพแย่กว่าเดิมในวัย35+
ฮอร์โมนเพศ เป็นฮอร์โมนที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางเพศเมื่อเข้าสู่วัยหนุ่มสาว ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และพฤติกรรม ซึ่งจะเห็นได้ว่า เพศหญิงและเพศชายจะมีความแตกต่างกันในแต่ละด้านอย่างชัดเจน ดังนี้
ฮอร์โมนเพศหญิง เป็นฮอร์โมนที่สร้างจากรังไข่
- ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) มีหน้าที่กระตุ้นการเจริญเติบโตของระบบสืบพันธุ์ในเพศหญิงเมื่อเข้าสู่วัยสาว (Female Secondary Sex Characteristics) ซึ่งทำให้ร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น
- สะโพกผาย เต้านมและอวัยวะเพศใหญ่ขึ้น
- มีขนที่รักแร้และขนที่อวัยวะเพศ
- มดลูกมีขนาดใหญ่ขึ้น
- เสียงแหลมเล็ก
- กระดูกยาว (Long Bones) ปิด เป็นการหยุดความสูงของร่างกาย
- ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) มีหน้าที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์
- ทำให้เยื่อบุมดลูกหนาตัวขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมในการฝังตัวของไข่ที่ปฏิสนธิแล้ว
- ป้องกันไม่ให้มดลูกหดรัดตัวระหว่างตั้งครรภ์
- ทำงานร่วมกับฮอร์โมนเอสโตรเจน กระตุ้นการเจริญของท่อน้ำนม ถุงน้ำนม ทำให้เต้านมมีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมในการให้นมบุตรหลังคลอด
ทั้งนี้เมื่อคุณผู้หญิงไข่ตกแล้ว ถ้าไม่มีการปฏิสนธิจะไม่เกิดการฝั่งตัวของไข่ ฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนจะลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือน (Menstruation)
ฮอร์โมนเพศชาย สร้างจากอัณฑะ (Testis) คือ
- ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testrosterone) มีหน้าที่กระตุ้นการเจริญเติบโตของเพศชาย เมื่อเข้าสู่วัยหนุ่ม (Male Secondary Sex Characteristics) ซึ่งทำให้ร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น
- องคชาต (Penis)เปลี่ยนแปลง
- มีขนที่รักแร้ อวัยวะเพศ แขน ขา หน้าแข้ง หนวด เครา
- มีลูกกระเดือกใหญ่ขึ้น เสียงแหบทุ้มขึ้น
- ไหล่และหน้าอกกว้างขึ้น สะโพกแคบลง กล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น
- มีความต้องการทางเพศ
- เหงื่อออกมากขึ้น มีกลิ่นตัว
- ผิวหนังสร้างไขมันมากขึ้น ผิวมัน เป็นสิว
สัญญาณและอาการฮอร์โมนไม่สมดุลหรือเริ่มบกพร่อง
- อาการในผู้ชาย อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า ความจำพร่าเลือน ขาดสมาธิ ขาดแรงกระตุ้นทางเพศ สมรรถภาพทางเพศเสื่อมหรือลดลง ปวดหลัง ปวดข้อ ขาดความกระปรี้กระเปร่า พละกำลังลดลง หดหู่ ซึมเศร้า ท้อแท้ต่อชีวิต อารมณ์หงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย ตื่นตระหนก วิตกกังวล มีความเครียดสูง
- อาการในผู้หญิง จะมีอาการค่อนข้างชัดเจนและสังเกตเห็นได้ง่ายกว่า เช่น ประจำเดือนไม่มาติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย 12 เดือน ที่เรียกว่าอาการวัยทอง หรือประจำเดือนหมด (menopause) ทำให้มีอาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออก เฉื่อยชา ขาดชีวิตชีวา อารมณ์หดหู่ ซึมเศร้า หงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย เครียด วิตกกังวล ความจำพร่าเลือนหรือขาดสมาธิ ปวดศีรษะ หน้าอกหย่อนยาน การตอบสนองทางเพศไม่เป็นที่น่าพอใจ ช่องคลอดขาดความชุ่มชื้น สุขภาพผมและผิวเสียสมดุล และที่ร้ายแรงที่สุดก็คือ จะมีภาวะกระดูกพรุน
ฮอร์โมนไม่สมดุล แก้ยังไง?
จากอาการของปัญหาฮอร์โมนไม่สมดุลทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย จะทำให้คุณภาพชีวิตของหลายๆ คนแย่ลง การให้ฮอร์โมนทดแทนจะช่วยให้การทำงานของร่างกายกลับมาใกล้เคียงกับเมื่อครั้งยังเป็นหนุ่มเป็นสาวได้ เช่น มีความจำดีขึ้น มวลกระดูกหนาแน่นขึ้น แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เฉพาะทาง และไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถรับฮอร์โมนทดแทนได้
บทบาทของฮอร์โมนเซโรโทนิน คุมหิว ช่วยการนอนหลับต้านซึมเศร้า!
ป้องกันฮอร์โมนไม่สมดุล
- Food กินอาหารที่มีคุณภาพ มีโปรตีนสูง หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ติดมัน ไม่กินอาหารแปรรูป กินผักใบเขียว ผลไม้ไม่หวาน เพื่อให้ได้สารอาหารครบถ้วน
- Exercise : ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- Sleep : นอนหลับให้มีคุณภาพ
- Stress Management : การจัดการกับความเครียด ฝึกสมาธิ ทำจิตใจให้สงบ
- Avoidance of Risky Substances : เลี่ยงพฤติกรรมอันตราย เช่น ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่
- Social Connection : มีความสัมพันธ์ที่ดีในสังคมของเรา เพราะจะทำให้เรามีสุขภาพจิตที่ดี
อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะคุณผู้หญิงหรือผู้ชาย ควรการตรวจสุขภาพอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เพื่อคัดกรองความเสี่ยงโรคต่างๆ จะได้รีบป้องกัน ลดความเสี่ยงการลุกลามรุนแรง และรักษาอย่างทันท่วงที
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลพญาไท 2 และ โรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์
10 ปัญหาเซนซิทีฟของสุขภาพคุณผู้หญิง ฮอร์โมนและระบบสืบพันธุ์!
“ภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง” จากฮอร์โมนเพศชายสูงเสี่ยงเบาหวาน-มีบุตรยาก