8 คำถามเช็ก “ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ” เข้าข่าย 3 ข้อขึ้นไปควรพบแพทย์
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ปัญหาสุขภาพเรื้อรัง เสี่ยงก่อโรคความดันโลหิตสูง หลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจตีบ แพทย์เผยคำถาม 8 ข้อ เช็กสัญญาณ เจอ มากกว่า 3 ข้อขึ้นไป ถือว่ามีความเสี่ยงควรพบแพทย์
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea) ถือเป็นภาวะความผิดปกติอย่างหนึ่งของการหายใจที่เกิดขึ้นระหว่างนอนหลับ มีการอุดกั้นของทางเดินหายใจส่วนต้น บริเวณจมูกลงไปถึงปอดมีความตีบแคบ เนื่องจากกล้ามเนื้อเพดานอ่อนมีความหย่อนยาน จนทำให้เกิดการหยุดหายใจเป็นช่วงๆ ขณะนอนหลับ และมีอาการนอนกรน ก่อให้เกิดความเสี่ยงปัญหาสุขภาพตามมา เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
ขั้นตอน-เตรียมตัวก่อนตรวจ Sleep Test! รู้ก่อนเสี่ยงหยุดหายใจขณะหลับ
หยุดหายใจขณะหลับ เกิดจากอะไร สัญญาณแบบไหนต้องรีบพบแพทย์!

รวมทั้งเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตโดยพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ในช่วงอายุก่อน 35 ปี จะพบผู้ป่วยโรคนี้ประมาณ 20 % และอายุ 35 ปี ขึ้นไป จะพบสัดส่วนของผู้ป่วยโรคนี้เป็น 60 % นั่นเพราะเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นสมรรถภาพของร่างกายมีการเสื่อมถอยลง กล้ามเนื้อเพดานอ่อนมีความหย่อนยานเป็นสาเหตุทำให้เกิดการนอนกรน
8 คำถาม ถ้าคุณเข้าข่ายมากกว่า 3 ข้อขึ้นไปถือว่ามีความเสี่ยงเป็นภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
- Snoring: คุณนอนกรนเสียงดังหรือไม่?
- Tired: คุณรู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย หรือง่วงนอนในตอนกลางวันบ่อย ๆ หรือไม่?
- Observed: เคยมีใครทักคุณว่าคุณมีอาการหยุดหายใจขณะหลับหรือไม่?
- Pressure: คุณมีอาการหรือกำลังได้รับการรักษาโรคความดันโลหิตสูงหรือไม่?
- BMI: คุณมีค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 35 kg/m2 หรือไม่?
- Age: คุณมีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไปหรือไม่? (ให้นับตั้งแต่อายุ 51 ปี)
- Neck: คุณมีเส้นรอบคอมากกว่า 40 เซนติเมตรขึ้นไปหรือไม่? (ให้นับตั้งแต่ 41 เซนติเมตร)
- Gender: คุณเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง (ผู้ชายมีความเสี่ยงสูงกว่าผู้หญิง)
หากตรวจเช็กแล้วพบว่ามีความเสี่ยงเป็นภาวะหยุดหายใจขณะหลับ แนะนำให้รีบพบแพทย์เพื่อทำการดูแลรักษาโดยเร็ว
อาการที่ต้องสังเกตขณะนอนหลับ
- ผู้ป่วยจะมีอาการ แขนขากระตุก ฝันร้าย เช่น ฝันว่าตกจากที่สูง ตกน้ำ ทำให้มีการสะดุ้งตื่น หลับๆ ตื่น ๆ
- ตรวจพบค่าความอิ่มตัวออกซิเจนในเลือดที่ลดลงต่ำกว่า 90% ส่งผลให้มีคุณภาพการนอนหลับที่ไม่ดี
- อาการนอนไม่อิ่ม อ่อนเพลีย ง่วงนอนระหว่างวัน
- อารมณ์หงุดหงิด
- เจ็บคอ คอแห้ง ปากแห้ง จมูกแห้ง ร่วมด้วยเมื่อตื่นนอน
เพื่อลดอาการนอนกรน และช่วยให้ขณะนอนหลับหายใจได้สะดวกขึ้น แนะนำการนอนตะแคงขวา เลี่ยงการนอนตะแคงซ้าย เพื่อป้องกันการกดทับของหัวใจในขณะนอน
กลุ่มเสี่ยงภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
- ผู้มีโรคอ้วน
- ผู้ที่มีต่อมทอนซิลโต
- ผู้ที่มีริดสีดวงจมูก
- ผู้ที่อายุ 35 ปี ขึ้นไป
- ผู้ที่มีคางสั้น คอสั้น ปากเล็ก ลิ้นโต หน้าแบน
- ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง
การตรวจการนอนหลับ Sleep test
ถือเป็นการตรวจมาตรฐานสากลที่ช่วยในกระบวนการตรวจวิเคราะห์ระบบการทำงานของร่างกายขณะนอนหลับ อาทิ ระดับออกซิเจนในเลือด ระบบหายใจ การทำงานของคลื่นไฟฟ้าสมอง คลื่นไฟฟ้าหัวใจ กล้ามเนื้อ พฤติกรรมขณะนอนหลับ เป็นต้น มีประโยชน์สำหรับประกอบการวินิจฉัยและวางแผนการรักษา ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea) ทั้งนี้ผู้เข้ารับการตรวจควรเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจโดย งดการทานยานอนหลับ การดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ เลี่ยงการออกกำลังกายหนัก
สำหรับผู้ที่มีอาการนอนกรน ร่วมกับหยุดหายใจขณะนอนหลับมากกว่า 10 ครั้ง ขึ้นไป ถือเป็นข้อบ่งชี้ปัญหาสุขภาพที่อันตรายจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาอาการนอนกรนให้หาย โดยทำการแก้ไขระบบทางเดินหายใจที่มีการตีบแคบให้ถ่างขยายออก ซึ่งจะช่วยฟื้นคืนระบบหายใจให้กลับมาทำงานเต็มประสิทธิภาพ สามารถนำออกซิเจนเข้าสู่ปอดได้ไหลลื่นขึ้น โดยมีกระบวนการวิธีการต่างๆ ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยเลือกให้เหมาะสมกับลักษณะอาการของผู้ป่วยแต่ละบุคคล
นอนกรนแบบไหนสัญญาณอันตราย ? เสี่ยงหยุดหายใจขณะหลับเผยสาเหตุ-วิธีรักษา
วิธีรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
- ลดน้ำหนัก สาเหตุสำคัญที่เป็นปัจจัยทำให้เกิดการเกิดอาการนอนกรน เกิดจากผู้ป่วยมีน้ำหนักตัวมาก ส่งผลให้มีการหย่อนของกล้ามเนื้อในช่องคอเกิดขึ้น ทั้งนี้หากสามารถลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ ปัญหาการนอนกรนก็จะหมดไป
- การใช้เครื่องช่วยหายใจแรงดันบวกซีแพ็พ (CPAP) การรักษาวิธีนี้จะช่วยเปิดขยายทางเดินหายใจส่วนต้น ไม่ให้ตีบแคบขณะนอนหลับ โดยหลักการทำงานของเครื่องนี้ จะเป็นการเป่าลมผ่านท่อสายยาง เข้าสู่จมูกของผู้ป่วยผ่านทางหน้ากากที่สวมครอบไว้ ซึ่งการใช้เครื่องนี้ต้องใช้จำเป็นต้องใช้ทุกครั้งเมื่อนอนหลับ
- การใช้ฟันยาง (Oral Appliance) การรักษาด้วยวิธีนี้เหมาะกับผู้ที่มีระดับอาการไม่รุนแรง และต้องได้รับการวินิจฉัยร่วมด้วยกับทันตแพทย์ในการประเมินและจัดทำฟันยางซึ่งมีลักษณะเฉพาะเป็นรายบุคคล การใส่ฟันยางนี้จะช่วยให้ทางเดินหายใจส่วนต้นกว้างขึ้น โดยการยื่นขากรรไกรล่างและลิ้นออกมาทางด้านหน้า เพื่อป้องกันไม่ให้ลิ้นหรือเนื้อเยื่อในลำคอหย่อนอุดกั้นทางเดินหายใจขณะนอนหลับ
- การจี้คลื่นวิทยุไฟฟ้า (radiofrequency)เป็นการใช้คลื่นความถี่วิทยุจี้บริเวณโคนลิ้น ช่วยยกกระชับเพดานอ่อน ทำให้ช่องทางเดินหายใจขยายกว้างขึ้น เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการนอนกรนไม่รุนแรง
สุดท้ายคือ การผ่าตัด เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาการนอนกรน หรือภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับที่มีความรุนแรง โดยจะเป็นการผ่าตัดนำเอาเนื้อเยื่อที่หย่อนยานบริเวณลิ้นไก่และเพดานอ่อนออก หรือในบางรายมีปัญหาต่อมทอนซิลโต ก็จำเป็นต้องผ่าตัดนำต่อมทอนซิลออก เพื่อช่วยขยายช่องทางเดินหายใจให้กว้างขึ้น
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลเปาโล เกษตร และ โรงพยาบาลกรุงเทพ
ผู้ประกันตน ป่วยหยุดหายใจขณะหลับ เบิกค่า Sleep test ได้แล้ว!
หลับๆ ตื่นๆ สัญญาณ“คุณภาพการนอนแย่” เสี่ยงหลายโรคต้องรีบรักษา