นอนกรนแบบไหนสัญญาณอันตราย ? เสี่ยงหยุดหายใจขณะหลับเผยสาเหตุ-วิธีรักษา
เสียงกรน อันตรายที่ไม่ควรมองข้าม เผยสาเหตุของการนอนกรนและวิธีรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด หยุดต้นตอภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
เสียงกรน คือ เสียงที่เกิดจากการสั่นสะเทือนของลิ้นไก่และเพดานอ่อน ขณะนอนหลับในเวลาที่เราหลับสนิทนั้นเนื้อเยื่อต่างๆ ในช่องคอโดยเฉพาะอย่างยิ่งลิ้นไก่ และเพดานอ่อนจะคลายตัว บางคนคลายตัวมากจนย้อยลงมาอุดกั้นทางเดินหายใจบริเวณลำคอ ทำให้ลมหายใจเข้าไม่สามารถไหลผ่านลงสู่หลอดลม และปอดได้โดยสะดวก กระแสลมหายใจที่ถูกปิดกั้นไหลผ่านในลำคอไปกระทบลิ้นไก่ และเพดานอ่อน
รู้หรือไม่? แค่"นอนกรน" ก็เสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจมากกว่าคนปกติ 34%
นอนท่าไหนดีที่สุด? ลดอาการปวดเมื่อย-นอนกรน ดีต่อหัวใจ

จนเกิดการสั่นมากกว่าปกติ ผลก็ คือ มีเสียงกรนตามมา ยิ่งการอุดกั้นมากเพียงใดเสียงกรนก็จะดังมากขึ้นเท่านั้น จนที่สุดการปิดกั้นนี้มากถึงอุดตันทางเดินหายใจจนหมด ทำให้อากาศไม่สามารถเข้าสู่ร่างกายได้โดยสมบูรณ์
ชนิดความผิดปกติในการนอนกรน
- ชนิดที่ไม่เป็นอันตราย คนที่นอนกรนชนิดนี้มักจะมีเสียงกรนสม่ำเสมอ ไม่มีหายใจสะดุด หรือเสียงฮุบอากาศ เสียงกรนมักดังมากโดยเฉพาะเวลานอนหงาย ความดังของเสียงกรนจึงไม่ได้บอกว่าอันตรายหรือไม่ เนื่องจากการกรนชนิดนี้ไม่มีภาวะขาดอากาศร่วมด้วย จึงยังไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพมากนัก
- ชนิดที่เป็นอันตราย คนที่นอนกรนภาวะนี้มักจะกรนเสียงดัง และมีอาการคล้ายสำลัก หรือสะดุ้งตื่นกลางดึก ตื่นขึ้นมาด้วยอาการอ่อนเพลียไม่สดชื่น หรือปวดศีรษะ และต้องการนอนต่ออีกทั้งที่ใช้เวลานอน 7- 8 ชม.แล้ว กลางวันบางคนอาจมีอาการง่วงนอน หลงลืม ไม่มีสมาธิ หงุดหงิดง่าย ขี้โมโห รวมทั้งมีความรู้สึกทางเพศลดลงซึ่งการนอนกรนชนิดนี้อาจนําไปสู่การหยุดหายใจขณะหลับได้
สาเหตุของการนอนกรน
- อายุที่มากขึ้น กล้ามเนื้อต่าง ๆ จะหย่อนยานลง รวมทั้งกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ขยายช่องทางเดินหายใจบริเวณลำคอ ทำให้ลิ้นไก่และลิ้นตกไปปิดทางเดินหายใจได้ง่าย
- เพศชาย มีโอกาสนอนกรนมากกว่าเพศหญิงเนื่องจากอิทธิพลของฮอร์โมน แต่เมื่อถึงวัยหมดประจำเดือนเพศหญิงมีโอกาสเป็นเท่ากับผู้ชาย
- โรคอ้วน มีไขมันส่วนเกินไปสะสมในช่วงคอ เบียดช่องหายใจให้แคบลง
- ดื่มสุรา หรือการใช้ยาบางชนิด เช่น ยานอนหลับซึ่งมีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง ส่งผลในการลดความตึงตัวของกล้ามเนื้อที่ขยายช่องหายใจ
- การสูบบุหรี่ ทำให้ประสิทธิภาพของระบบทางเดินหายใจแย่ลง ทำให้ช่องคอระคายเคือง มีการหนาบวมของเนื้อเยื่อ ทางเดินหายใจจึงตีบแคบลง เกิดการอุดตันนอนกรนได้ง่าย
- อาการคัดจมูกเรื้อรัง เช่น มีผนังกั้นจมูกคด เยื่อบุจมูกอักเสบเรื้อรังจากโรคภูมิแพ้ หรือเนื้องอกในจมูก
- กรรมพันธุ์ ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคนอนกรนมากกว่าคนปกติ
- ลักษณะโครงสร้างของกระดูกใบหน้าผิดปกติ เช่น คางเล็ก คางร่นไปด้านหลัง ลักษณะคอยาว กระดูกโหนกแก้มแบน
- โรคที่มีความผิดปกติด้านฮอร์โมน เช่น ฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ (Hypothyroid) ทำให้เกิดทางเดินหายใจอุดตันได้ง่ายกว่าคนทั่วไป
“นอนกรน” รู้ตัว รักษาได้ เพิ่มคุณภาพการหลับให้สมองแจ่มใส ลดโรค
แนวทางรักษาโรคนอนกรน
การจัดฟันรวมถึงการใส่เครื่องมือในช่องปาก เป็นหนึ่งในทางเลือกของการรักษาอาการนอนกรน เพราะไม่จำเป็นต้องรับการผ่าตัดใดๆ ค่ารักษาพยาบาลถูกกว่าวิธีอื่น ใส่ได้ง่าย สบายทำให้ใส่ได้ตลอดทั้งคืนโดยเครื่องมือชนิดนี้มีหลายแบบ หลายรูปร่าง แต่หลักการทำงานเหมือนกันคือ ยึดขากรรไกรล่างให้เคลื่อนมาข้างหน้า โคนลิ้นจะถูกดันออกมาด้วยทำให้ช่องคอเปิดออก และทำให้อากาศผ่านเข้าได้ง่ายขึ้น ช่วยให้หายใจได้สะดวกขึ้น และเสียงกรนเบาลง
ขั้นตอนการใส่เครื่องมือ
- ครั้งแรกคนไข้จะต้องเข้ามาปรึกษาทันตแพทย์ เพื่อตรวจในช่องปาก
- แพทย์จะส่งทำ Sleep Test (ตรวจการนอนหลับ) เพื่อแยกความผิดปกติ เพราะหากเกิดจากระบบประสาทก็จะไม่สามารถใช้เครื่องมือกันกรนได้เมื่อแพทย์ลงความเห็นว่าสามารถใช้เครื่องมือได้แล้ว ทันตแพทย์จะทำการพิมพ์ปากเพื่อส่ง Lab จัดทำเครื่องมือ จะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์แล้วนัดหมายคนไข้ให้มาลองใส่เครื่องมือนอนกรน
- คนไข้จะได้ทดลองใช้เครื่องมือกันกรน 2 สัปดาห์ และนัดหมาย ติดตามอาการ หลังจากนั้นอีก 1 เดือน แพทย์จะทำการนัดหมาย Check เครื่องมือกันกรน ว่าจะต้องเพิ่มขนาด Elastic เพื่อให้เหมาะกับการใช้งานของแต่ละบุคคล หรือไม่
อย่างไรก็ตามการรักษาด้วยวิธีนี้ มีข้อเสีย คือจะต้องนอนคาบเครื่องมือกันกรนทั้งคืน แต่เมื่อชินแล้วก็จะช่วยให้หลับสบายมากขึ้นทำให้ร่างกายได้นอนเต็มอิ่มแบบไม่ต้องหยุดหายใจชั่วขณะอีกต่อไป ทั้งนี้ อาจมีผลข้างเคียงจากการใส่เครื่องมือกันกรน เพราะถ้าหากยื่นขากรรไกรมากเกินไป ผู้ป่วยอาจมีอาการเจ็บปวดบริเวณข้อต่อขากรรไกร หรือกระทั่งมีอาการฟันไม่สบกันหลังจากถอดเครื่องมือกันนอนกรนได้ซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่ร้ายแรง เพราะฉะนั้นผู้ป่วยจึงควรได้รับการรักษากับทันตแพทย์เฉพาะทาง ที่เหมาะสม และต้องมาตรวจเครื่องมือกันกรนเป็นระยะอย่างเคร่งครัด
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลเปาโล
นอนกรน-หลับไม่สนิท สัญญาณ “หยุดหายใจขณะนอนหลับ” อันตรายถึงชีวิต
นอนกรน-หลับไม่สนิท สัญญาณ “หยุดหายใจขณะนอนหลับ” อันตรายถึงชีวิต