แพทย์เผย 4 ชนิดของโรคเบาหวานตามสาเหตุ และอาการสำคัญของโรคควรระวัง
เบาหวานโรคเรื้อรังที่มาโดยไม่รู้ตัว กว่าจะรู้ก็ป่วยไปแล้ว เผยอาการสำคัญที่ควรพบแพทย์ และ 4 ชนิดของโรคเบาหวาน ทำไมเบาหวานชนิดที่ 2 ถึงมีผู้ป่วยถึง 95 % ของผู้ป่วยทั้งหมด
เบาหวาน (Diabetes) เป็นโรคที่มักจะมาแบบเงียบๆ ถ้าเราไม่ได้สังเกตตัวเอง หรือไม่ได้ตรวจสุขภาพเลย ก็จะไม่รู้ตัวว่ากำลังเผชิญกับเบาหวานอยู่ รู้ตัวอีกทีก็ป่วยเรื้อรังแล้ว โดยคำว่า ‘เบาหวาน’ มาจากคำว่า ‘เบา’ กับคำว่า ‘หวาน’ เบาก็คือปัสสาวะ ส่วนหวานในที่นี้หมายถึงการมีน้ำตาลผสมอยู่ ‘เบาหวาน’ จึงมีความหมายว่า ปัสสาวะหวาน นั่นเพราะมีน้ำตาลในปัสสาวะ นั่นเอง
“ภาวะก่อนเบาหวาน” รู้ทันก่อนเป็นโรคเรื้อรังรักษายากอันตรายถึงชีวิต
“ตรวจสุขภาพ” บอกโรคร้ายมะเร็งอะไรได้บ้าง? เหตุผลทำไมควรเช็กปีละครั้ง

โดยโรคเบาหวานคือโรคที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลสูงผิดปกติ ซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงานได้ตามปกติ ทั้งนี้ ผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานจะมีความเสี่ยงสูงในการเป็นโรคแทรกซ้อนต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคตา และโรคของระบบประสาท
อาการสำคัญของโรคเบาหวาน
- ปัสสาวะมาก และบ่อยครั้ง โดยเฉพาะตอนกลางคืน
- คอแห้ง กระหายน้ำ
- น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน
- อ่อนเพลีย
- มีแผลติดเชื้อที่ผิวหนังบ่อยๆ และหายช้า
- สายตาพร่ามัว
- มีอาการคันที่อวัยวะเพศ หรือมีตกขาว
- ชาปลายมือ ปลายเท้า
- หมดความรู้สึกทางเพศ
“ปวดไมเกรนบ่อย” มีอาการอื่นร่วมอาจป่วยผนังหัวใจรั่ว ต้องรีบรักษา
โรคเบาหวาน 4 ชนิด
ตามเกณฑ์ของสมาคมโรคเบาหวานประเทศสหรัฐอเมริกา (American Diabetes Association) โรคเบาหวานแบ่งออกเป็น 4 ชนิด ตามสาเหตุการเกิดของโรค
- เบาหวานชนิดที่ 1
เป็นโรคที่กิดจากเบต้าเซลล์ของตับอ่อนถูกทำลาย โดยภูมิคุ้มกันของร่างกาย มักพบในเด็ก คนอายุน้อย รูปร่างไม่อ้วน อาการของโรคคือ ปัสสาวะมาก กระหายน้ำมาก อ่อนเพลีย น้ำหนักลด บางครั้งอาการของโรคอาจเกิดรวดเร็วและรุนแรง เช่น เกิดภาวะเลือดเป็นกรดจากสารคีโตนคั่ง
- เบาหวานชนิดที่ 2
เบาหวานชนิดนี้เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด พบประมาณร้อยละ 95 ของผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด พยาธิสภาพที่สำคัญซึ่งพบในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 นี้ คือมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน ร่วมกับการที่เบต้าเซลล์ของตับอ่อนถูกทำลาย ทำให้อินซูลินลดลงเรื่อยๆ มักพบในคนอายุ 30 ปีขึ้นไป รูปร่างท้วมหรืออ้วน อาการมักไม่ค่อยรุนแรง เป็นแบบค่อยๆ เป็น สาเหตุของการเกิดโรคเบาหวานประเภทที่ 2 นี้ เป็นผลร่วมกันระหว่างปัจจัยทางพันธุกรรมร่วมกับปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม น้ำหนักตัวที่มาก การขาดการออกกำลังกาย
- เบาหวานขณะตั้งครรภ์
เกิดจากการที่มีภาวะดื้อต่ออินซูลินมากขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ สาเหตุเกิดจากฮอร์โมนที่หลั่งมาจากรก และระดับฮอร์โมนต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป ภาวะเบาหวานชนิดนี้มักจะเป็นภาวะเบาหวานแอบแฝง คือ ถ้าอดอาหารแล้วมาเจาะเลือดเพื่อดูระดับน้ำตาล ระดับน้ำตาลจะปกติ แต่ถ้าให้หญิงมีครรภ์ดื่มน้ำหวาน (75 gram oral glucose tolerance test) ร่างกายจะไม่สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ โดยทั่วไปโรคเบาหวานชนิดนี้มักจะหายได้หลังคลอด
- เบาหวานที่มีสาเหตุจำเพาะ
เป็นโรคเบาหวานที่มีสาเหตุชัดเจน ได้แก่ โรคเบาหวานที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม, โรคเบาหวานที่เกิดจากโรคของตับอ่อน , จากยา, หรือโรคเบาหวานที่พบร่วมกับกลุ่มอาการต่างๆ เช่น Down syndrome, Turner syndrome, Prader-Willi syndrome
ผู้ป่วยเบาหวานส่วนใหญ่ อาจจะยังไม่มีอาการของน้ำตาลในเลือดสูงเลย การที่จะทราบว่าโรคเบาหวานจะเกิดกับเราหรือไม่ก็โดยการตรวจสุขภาพประจำปี ซึ่งจะวินิจฉัยได้ต่อเมื่อได้รับการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด เกณฑ์การวินิจฉัยเบาหวานในปัจจุบันมีหลายวิธี เช่น การวัดระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารเป็นเวลาอย่างน้อย 8 ชั่วโมง มีค่ามากกว่า หรือเท่ากับ 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร อย่างน้อย 2 ครั้ง หรือใช้ค่าระดับน้ำตาลในเลือดที่ช่วงเวลาใดก็ตามมีค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ร่วมกับมีอาการของน้ำตาลในเลือดสูง หรือการตรวจระดับ Hemoglobin A1C (HbA1C) มีค่าสูงผิดปกติ อย่างไรก็ดีการมาพบแพทย์จะทำให้เราทราบ และวินิจฉัยได้ชัดเจนจากทั้งการตรวจเลือด และการซักประวัติ
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลพญาไท 2 และ โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์
“หาวบ่อย” อาจไม่ใช่แค่การพักผ่อนไม่พอ แต่มีโรคแฝง เช็กอาการรีบพบแพทย์
“มะเร็งเต้านม” คัดกรองด้วยแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์ รู้ทันโรคก่อนลุกลาม