ตรวจฟันตามช่วงวัย ป้องกันกลิ่นปาก ลดฟันผุ อันตรายที่ป้องกันได้!
“การตรวจสุขภาพฟัน” สิ่งสำคัญที่ควรทำอย่างสม่ำเสมอในทุกช่วงวัย เพื่อป้องกันและรักษาปัญหาทางสุขภาพช่องปากได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ลดกลิ่นปาก ป้องกันโรคเหงือก ฟันผุ ลดโอกาสติดเชื้อรุนแรง
ฟันนับเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตมาก และแน่นอนคนเรามีฟันแท้เพียง 1 ชุดเท่านั้น การละเลยสุขภาพช่องปาก จะทำให้เกิดปัญหาด้านการบดเคี้ยว ปวดฟัน โรคเหงือก และกลิ่นปาก อาจนำไปสู่ความเครียด วิตกกังวลได้ และการปล่อยให้ฟันผุนานๆ อาจติดเชื้อรุนแรง อักเสบ เป็นหนอง ส่งผลกระทบต่ออวัยวะสำคัญ เช่น ตา ลำคอ โพรงไซนัส และสมอง เสี่ยงติดเชื้อลุกลามไปยังระบบทางเดินหายใจ การตรวจสุขภาพช่องปากจึงเป็นสิ่งที่ทุกช่วงวัยไม่ควรละเลย
สุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ บั่นทอนคุณภาพชีวิต เกิดปัญหาการบดเคี้ยว
หลักการแปรงฟันในผู้สูงอายุ ดูแลสุขภาพช่องปาก ลดการติดเชื้อจากฟันผุ
คำแนะนำการตรวจสุขภาพฟันในแต่ละช่วงวัย
วัยเด็ก (0-12 ปี)
- ครั้งแรก : ควรพาเด็กเข้ารับการตรวจสุขภาพฟันครั้งแรกตั้งแต่อายุ 6 เดือน หรือเมื่อฟันซี่แรกขึ้น
- ทุก 6 เดือน : ควรพาเด็กเข้ารับการตรวจฟันทุก 6 เดือน เพื่อป้องกันฟันผุและปัญหาทางทันตกรรมอื่น ๆ
การให้คำแนะนำ : ทันตแพทย์จะให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพฟันของเด็ก เช่น การทำความสะอาดช่องปากและแปรงฟันที่ถูกวิธี, การทำเคลือบหลุมร่องฟัน, การใช้ฟลูออไรด์ในระดับที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัย และการรับประทานอาหารที่เหมาะสม
วัยรุ่น (13-19 ปี)
- ตรวจฟันทุก 6 เดือน : วัยรุ่นควรเข้ารับการตรวจฟันทุก 6 เดือนเพื่อป้องกันฟันผุ โรคเหงือกอักเสบและปัญหาสุขภาพช่องปากอื่นๆที่อาจเกิดขึ้นในช่วงที่ฟันกรามเริ่มขึ้นเต็มที่
- การจัดฟัน : หากมีความจำเป็น ทันตแพทย์จะตรวจวินิจฉัยการเรียงตัวของฟัน การสบฟัน และการเจริญของขากรรไกรเพื่อนำไปสู่คำแนะนำที่เหมาะสมสำหรับการจัดฟัน
- การดูแลฟันคุด : ในช่วงตั้งแต่ 14 ปีขึ้นไปฟันคุดอาจเริ่มขึ้นแล้ว ทันตแพทย์จะตรวจ ถ่ายภาพรังสีและวางแผนการผ่าฟันคุดออก
วัยผู้ใหญ่ (20-59 ปี)
- ตรวจฟันทุก 6 เดือน : แนะนำควรตรวจฟันเป็นประจำทุก 6 เดือน เพื่อป้องกันและรักษาปัญหาทางทันตกรรม เช่น ฟันผุ , ปัญหาโรคเหงือกจากการสะสมของคราบหินปูน
- การทำความสะอาดฟัน : ผู้ใหญ่ควรเข้ารับการทำความสะอาดฟันโดยทันตแพทย์ เพื่อขจัดคราบหินปูนและป้องกันโรคเหงือก
- ตรวจการสึกหรอของฟัน : ทันตแพทย์จะตรวจดูการสึกหรอของฟันที่อาจเกิดขึ้นจากการบดเคี้ยวหรือการแรงกัดฟันที่มากกว่าปกติ
- การแทนที่ฟันที่หลุดหรือถูกถอนออก : ทันตแพทย์จะแนะนำทางเลือกการทดแทนช่องว่างของฟันที่สูญเสียไป ได้แก่การทำฟันเทียมในรูปแบบต่างๆ และการฝังรากเทียม
- ตรวจระบบบดเคี้ยว : เมื่อมีอาการปวดขมับขณะอ้าหรือปิดปาก หรือได้ยินเสียงคลิ๊กในข้อต่อขากรรไกร ทันตแพทย์จะทำการตรวจประเมินการสบฟัน กล้ามเนื้อบดเคี้ยวและข้อต่อขากรรไกรและให้คำแนะนำการดูแลและทางเลือกการรักษาอาการที่เกิดขึ้น
เอกซเรย์ฟันสำคัญอย่างไรกับการวางแผนรักษา? ขั้นตอนและวิธีเตรียมตัว
วัยผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป)
- ตรวจฟันทุก 6 เดือน : ควรตรวจฟันทุก 6 เดือน เนื่องจากผู้สูงอายุมักมีความเสี่ยงสูงต่อโรคเหงือกและฟันผุ จากโรคทางระบบต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด
- การตรวจเหงือก : ทันตแพทย์จะตรวจสอบสภาพเหงือก ตรวจหาโรคเหงือกที่อาจเกิดขึ้น และวางแผนผ่าตัดแต่งเหงือกหากโรคเหงือกมีความรุนแรง
- การดูแลฟันเทียม : หากมีการใส่ฟันเทียม ทันตแพทย์จะตรวจสอบและให้คำแนะนำในการดูแลฟันเทียมเพื่อให้ใช้งานได้ดีและไม่เกิดการระคายเคืองในช่องปาก รวมไปถึงการทำความสะอาดที่เหมาะสมกับฟันเทียม นอกจากนั้นทันตแพทย์จะวางแผนในการซ่อมแซมฟันเทียมในส่วนที่ชำรุดหรือแตกหักจากการใช้งาน
- ตรวจเนื้อเยื่ออ่อนในช่องปาก : ได้แก่ ริมฝีปาก เหงือก เพดานปาก กระพุ้งแก้ม และบริเวณลิ้น เพื่อตรวจรอยโรคหรือความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น นำไปสู่การรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่เริ่มเกิดรอยโรคเริ่มแรก
การตรวจสุขภาพฟันในแต่ละช่วงวัยเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยรักษาสุขภาพฟันและเหงือกให้แข็งแรงอยู่เสมอ การดูแลสุขภาพช่องปากอย่างเหมาะสมจะช่วยป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลเปาโลเกษตร
วิธีการแปรงฟันที่ทันตแพทย์แนะนำ แปรงให้ถูกลดฟันผุ กลิ่นปากได้จริง!
แปรงฟันตอนเช้าหรือก่อนนอนดีกว่ากัน? ไม่ดูแลอาจไม่จบแค่ปัญหากลิ่นปาก!