“ลูคีเมีย” มะเร็งที่พบมากในเด็ก แพทย์แนะวิธีดูแล ช่วยรักษาและชะลอโรค
มะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือลูคีเมีย (Leukemia) เป็นโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุดในเด็ก หรือ 30% ของมะเร็งทั้งหมดในเด็ก ซึ่งต้องได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม เพราะไม่ใช่แค่ผู้ป่วย แต่พวกเขายังเป็นเด็กด้วย
มะเร็งเม็ดเลือดขาว คือ ภาวะที่ไขกระดูกหรือเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด (stem cell) ทำงานผิดปกติ โดยไขกระดูกจะผลิตเซลล์เม็ดเลือดที่ผิดปกติออกมาจำนวนมาก ทำให้ระบบการทำงานของเม็ดเลือดผิดปกติ ซึ่งมักพบรอยโรคที่บริเวณไขกระดูก แต่ทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดโรค ในเบื้องต้นมีการค้นพบว่า ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวมีความผิดปกติของพันธุกรรมบางอย่างในเซลล์มะเร็ง แต่พันธุกรรมนี้ไม่ได้มีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมในคนไข้ที่เป็นโรคมะเร็งทุกคน
มะเร็งเม็ดเลือดขาว ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้หรือไม่?
มะเร็งเม็ดเลือดขาว ลูคีเมีย เกิดได้ทุกวัย เผยอาการบ่งชี้ไขกระดูกบกพร่อง
หมายความว่า ถึงพ่อแม่ไม่ได้เป็นโรคมะเร็ง แต่ลูกสามารถเป็นโรคมะเร็งได้ เนื่องจากตัวเซลล์ต้นกำเนิดภายในร่างกายของลูกมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์มะเร็งด้วยตัวเอง ซึ่งสามารถเป็นได้ตั้งแต่เกิด หรือโตขึ้นมาแล้วค่อยเกิดโรคทีหลังก็ได้
อาการมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็ก
คนไข้จะมาด้วยอาการซีดเนื่องจากจำนวนเม็ดเลือดแดงต่ำ มีไข้ ติดเชื้อง่าย เนื่องจากขาดเม็ดเลือดขาว มีเลือดออกง่ายเนื่องจากขาดเกล็ดเลือด และมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ตับโต ม้ามโต ต่อมน้ำเหลืองโต ปวดแขน ปวดขา ปวดกระดูก หรือปวดตามข้อ
ครอบครัวต้องดูแลผู้ป่วยเด็กมะเร็งเม็ดเลือดขาวอย่างไร?
- อันดับแรก เมื่อทราบว่าลูกเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว คุณพ่อคุณแม่ควรบอกลูกว่าเขาเป็นมะเร็ง เพราะการบอกคนไข้จะทำให้เขารู้ว่าตัวเองป่วย จำเป็นต้องได้รับการรักษา เขาจะได้ดูแลตัวเองให้ดีขึ้น การรักษาโรคมะเร็งต้องใช้เวลาในการรักษานานพอสมควร หากคนไข้ไม่ทราบว่าตัวเองป่วย เขาอาจไม่ให้ความร่วมมือในการรักษา
- คุณพ่อคุณแม่จะต้องสื่อสารเรื่องโรค อาการ และการรักษาให้เด็กเข้าใจด้วยถ้อยคำที่เหมาะสมกับวัย เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการรักษาและการมาพบแพทย์
- ควรมาพบแพทย์ทุกครั้งที่มีการนัดหมาย
- การได้ยาเคมีบำบัด ทำให้คนไข้มีภาวะแทรกซ้อน คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง มีการทำงานของไขกระดูกลดลง เม็ดเลือดขาวและเม็ดเลือดแดงลดลง เกล็ดเลือดต่ำ ทำให้คนไข้มีโอกาสเกิดภาวะซีด ติดเชื้อได้ง่าย และมีจุดเลือดออก คุณพ่อคุณแม่จึงควรดูแลและติดตามอาการอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- เมื่อลูกมีไข้ต้องรีบมาโรงพยาบาลทันที
- หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้แหล่งชุมชนหรือสถานที่แออัด
- ล้างมือบ่อยๆ และใส่หน้ากากอนามัยเมื่อต้องออกนอกบ้าน หรือสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมภายนอก
- กินอาหารที่สะอาดและปรุงสุกด้วยความร้อน งดผักสดและผลไม้สด เนื่องจากเชื้อโรคและแบคทีเรียที่อยู่ในอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงสุกอาจจะทำให้คนไข้ติดเชื้อในกระแสเลือดจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
จ้ำเลือดตามตัว สัญญาณโรคเกล็ดเลือดต่ำ เสี่ยงรุนแรงเลือดออกในสมอง
มะเร็งเม็ดเลือดขาวมีโอกาสรักษาหายหรือเปล่า?
มะเร็งเม็ดเลือดขาวไม่ได้มีการแบ่งระยะโรคเหมือนมะเร็งที่เป็นก้อนเนื้อร้าย แต่แบ่งจากความเสี่ยงของการเกิดโรคซ้ำ ซึ่งหมายความว่า เมื่อคนไข้ได้รับการรักษาไปแล้วสามารถหายขาดได้ แต่ก็มีความเสี่ยงในการกลับมาเป็นใหม่อีกครั้ง ซึ่งปกติความเสี่ยงในการเกิดโรคซ้ำแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ ความเสี่ยงสูงมาก ความเสี่ยงสูง และความเสี่ยงปกติ
คนไข้ส่วนใหญ่มักโชคดีที่อยู่ในกลุ่มความเสี่ยงปกติ หากเป็นมะเร็งชนิดเฉียบพลัน (ALL) โอกาสหายขาดอยู่ที่ร้อยละ 80 ส่วนในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง มีโอกาสหายขาดประมาณร้อยละ 60 และในกลุ่มความเสี่ยงสูงมากโอกาสหายขาดอยู่ที่ร้อยละ 40
มะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็กยังมีอีกชนิดที่เรียกว่า AML ซึ่งแบ่งได้ 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่มีความเสี่ยงปกติ มีโอกาสหายขาดอยู่ที่ร้อยละ 60-80 และกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง มีโอกาสหายขาดประมาณร้อยละ 40-50
ความเสี่ยงในการเกิดโรคซ้ำขึ้นอยู่กับปัจจัยอะไรบ้าง?
- ลักษณะทางคลินิกของคนไข้ เช่น จำนวนเม็ดเลือดขาว วัดตั้งแต่ตอนที่มาโรงพยาบาลว่าสูงมากน้อยแค่ไหน
- อายุขณะเกิดอาการ
- ชนิดของเซลล์มะเร็ง
- ลักษณะทางพันธุกรรมผิดปกติที่พบ
การรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาว หลักๆ จะใช้เคมีบำบัดร่วมกันหลายชนิด ซึ่งจำเป็นต้องมีการบริหารยาหลายวิธี เช่น การกินยา ยาฉีดเข้าเส้น ยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ยาฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ยาฉีดเข้าน้ำในไขสันหลัง และบางรายอาจมีการฉายรังสีรักษาร่วมด้วย และการใช้ยาร่วมกันหลายตัวเพื่อช่วยกันกำจัดเซลล์มะเร็ง
นอกจากนี้ในปัจจุบันการแพทย์มีวิธีการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวให้หายขาดได้ด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต (Stem Cell Transplantation) จากผู้บริจาคที่มีหมู่เนื้อเยื่อที่ตรงกันหรือเข้ากันได้กับผู้ป่วย ซึ่ง Stem Cell นั้นอาจได้มาจากไขกระดูก หรือเซลล์ในกระแสเลือดของผู้บริจาค หรือจากเลือดสายสะดือและรกของทารกแรกเกิดก็ได้ ผู้บริจาคมักต้องเริ่มหาจากพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ป่วยก่อน ซึ่งมีโอกาสตรงกันถึง 1 ใน 4
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลพญาไท 2
เม็ดเลือดขาว สูงหรือต่ำกว่าปกติ เสี่ยงอันตรายหรือเป็นมะเร็งมากแค่ไหน?
เลี้ยงลูกอยู่หน้าจอ ให้ได้ประโยชน์ แพทย์เผยผลเสียต่อพัฒนาการของเด็ก