ไข้อีดำอีแดง ผื่นแดงตามตัว เผยอาการและความรุนแรงที่ผู้ปกครองต้องระวัง
จากกรณีที่มีการแจ้งเตือนไข้อีดำอีแดง ระบาดจนมีบางโรงเรียนต้องปิดการเรียนการสอน เปิดข้อมูลพบถือเป็นโรคร้ายแรงชนิดหนึ่งสำหรับผู้ป่วยเด็กสามารถแพร่กระจายผ่านทางการไอจาม เผยสัญญาณและอาการแทรกซ้อนอันตราย
ไข้อีดำอีแดง (Scarlet Fever) ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัสกรุ๊ปเอ (Group A Streptococcus) โดยโรคนี้พบได้ในเด็กอายุระหว่าง 5-15 ปี ทั้งนี้ ผู้ป่วยไข้อีดำอีแดงจะมีผื่นสีแดงขึ้นตามผิวหนังเกือบทั่วร่างกาย รวมถึงมีไข้สูง และมีอาการเจ็บคอเกิดขึ้นร่วมด้วย โรคไข้อีดำอีแดงถือเป็นโรคร้ายแรงชนิดหนึ่งสำหรับผู้ป่วยเด็ก ไม่สามารถหายเองได้ และหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องอาจทำให้อาการแย่ลงจนส่งผลร้ายแก่หัวใจ ไตและอวัยอื่นๆ

ทั้งนี้แพทย์อาจใช้วิธีการรักษาด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ ร่วมกับให้ผู้ป่วยดื่มน้ำมาก ๆ และพักผ่อนรักษาตัวที่บ้านก็จะช่วยบรรเทาอาการได้
สัญญาณไข้อีดำอีแดง
- ปวดศีรษะ เจ็บคอ คอแดงและในบางครั้งมีรอยสีเหลืองหรือสีขาวขึ้นในลำคอ
- ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต
- มีปัญหาในการกลืนอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีไข้สูง (ราว 38.3 องศาเซลเซียสหรือสูงกว่า)
- บริเวณลิ้นและต่อมรับรสบนลิ้นจะนูนแดงอย่างชัดเจนและปลายลิ้นจะมีลักษณะคล้ายผิวของผลสตรอว์เบอร์รี่
นอกจากนี้ยังมีอาการอื่น ๆ ด้วย เช่น หน้าแดง ผดผื่นขึ้นตามร่างกาย และลิ้นเปลี่ยนสีเป็นสีแดงหรือขาว ไข้อีดำอีแดงจะแสดงอาการภายใน 1 สัปดาห์หลังจากติดเชื้อ อย่างไรก็ตาม อาการหลักของไข้อีดำอีแดงประกอบด้วย
อาการไข้อีดำอีแดง
ผื่นไข้อีดำอีแดง มักเริ่มขึ้นภายใน 24-48 ชั่วโมงหลังเริ่มมีไข้ แต่ในบางกรณีผื่นอาจขึ้นเป็นอาการแรกเลยก็ได้ โดยผื่นมักขึ้นที่บริเวณท้อง หน้าอก หรือบริเวณรอบคอ แล้วกระจายไปทั่วลำตัว แขน และขา รอยผื่นอาจมีสีชมพูหรือแดง และจะแดงมากเป็นพิเศษตามจุดที่เป็นข้อพับ เช่น ข้อศอก หรือรักแร้
นอกจากนี้รอยผื่นยังให้สัมผัสคล้ายกับกระดาษทราย (สามารถสังเกตได้ง่ายในผู้ป่วยที่มีผิวสีเข้ม) หรือผื่นมีลักษณะเป็นตุ่มเล็ก ๆ มองคล้ายหนังห่าน (Goose-pimple Appearance) หากใช้แก้วกดทับบริเวณผื่นจะพบว่ารอยผื่นแดงเหล่านั้นกลายเป็นสีขาว ซึ่งโดยทั่วไปแล้วผื่นจะขึ้นอยู่ราว 3-4 วัน ก่อนจะเริ่มลอกออกเป็นขุยหรือเป็นแผ่น ไล่จากใบหน้าและลำคอลงมาเรื่อย ๆ จนถึงมือ เท้า ปลายมือ ปลายเท้า
- แก้มเปลี่ยนเป็นสีแดง ปกติผื่นแดงจะไม่ได้ลามมาที่ใบหน้า แต่แก้มมักจะเปลี่ยนเป็นสีแดงจัดคล้ายโดนแดดเผา แต่บริเวณรอบปากจะขาวซีด
- ลิ้นเป็นสีแดง หรือที่เรียกว่าลิ้นสตรอว์เบอร์รี่ (Strawberry Tongue) ลิ้นจะมีลักษณะเป็นตะปุ่มตะป่ำและมีฝ้าขาวขึ้นในช่วงแรก
ป้องกันไข้อีดำอีแดง
ไข้อีดำอีแดงเป็นโรคที่ติดต่อกันได้ง่ายมาก ผ่านละอองที่ออกมากับลมหายใจ การไอจาม หรือการใกล้ชิดกับผู้ป่วยคนอื่น ๆ (โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่เป็นเด็กนักเรียน) ซึ่งหากละอองเชื้อโรคนั้นสัมผัสกับตา จมูก หรือปากก็อาจทำให้เกิดการติดเชื้อขึ้นได้
ทั้งนี้ยังสามารถป้องกันในเบื้องต้นที่ผู้ป่วยนำไปปฏิบัติ
- หยุดงานหรือการหยุดโรงเรียนเป็นระยะเวลา 24 ชั่วโมงหลังจากได้รับประทานยาปฏิชีวนะ
- พยายามปิดปากและจมูกด้วยกระดาษทิชชู่เมื่อไอหรือจาม และให้รีบทิ้งกระดาษที่ใช้แล้วทันที
- ทั้งล้างมือด้วยสบู่และน้ำให้บ่อย
นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของเครื่องใช้ภายในบ้านร่วมกับผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นแก้วน้ำ เสื้อผ้า ผ้าขนหนู อ่างอาบน้ำ ผ้าปูที่นอน หรือของเล่นสำหรับผู้ป่วยเด็ก ล้วนเป็นวิธีการป้องกันการแพร่ติดต่อของเชื้อโรคไข้อีดำอีแดงได้
ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมควบคุมโรค