“แพ้ยารุนแรง” อาการนำ วิธีป้องกัน และกลุ่มยาที่ควรใช้อย่างระวัง
จากเคสของคุณยุ้ย ดาวติ๊กต็อกคนดังเสียชีวิต หลังโหมงานหนัก จนป่วยภูมิตกร่วมกันอาการแพ้ยารุนแรง ชวนรู้จักอาการแพ้ และกลุ่มยาที่คนไทยมักเกิดอาการแพ้
จากกรณี คุณยุ้ย ดาวติ๊กต็อกคนดังเสียชีวิต หลังทำงานแทบไม่พัก ภูมิตก ป่วยหนัก ร่วมกันอาการแพ้ยารุนแรง มีผื่นเต็มตัว ไข้สูง ต่อมน้ำเหลืองโต ตับอักเสบรุนแรง ปอดอักเสบ จนต้องอาศัยเครื่องปอดหัวใจเทียม เพื่อรอการปลูกถ่ายปอด โดยคุณยุ้ยได้เข้ารักษาตัว 2 เดือนก่อนเสียชีวิต ชวนรู้จักอาการแพ้ยารุนแรงอันตราย
จากข้อมูลพบว่า การแพ้ยาอาจพบเฉพาะอาการทางผิวหนัง หรือมีอาการในระบบอื่นๆร่วมด้วย ซึ่งสามารถพบได้หลังจากรับประทานยาเพียงไม่กี่มื้อจนถึงรับประทานยาต่อเนื่องเป็นเวลานาน ตั้งแต่ 2 - 6เดือน

อาการแสดงของการแพ้ยาทางผิวหนัง ได้แก่ อาการคัน ผื่นแดงจางๆ ซึ่งเป็นอาการที่ไม่รุนแรง แต่ในรายที่มีอาการแพ้ยาทางผิวหนังชนิดรุนแรง เกิดตุ่มพอง ผิวหนังลอก ได้แก่
- สตีเวนส์-จอห์นสัน ซินโดรม (Stevens-Johnson Syndrome หรือ SJS)
- ท็อก-ซิก อีพิเดอร์มัลเนโครไลซิส (Toxic Epidermal Necrolysis หรือ TEN)
ร่วมกับอาการแทรกซ้อนในระบบอื่นๆ อาจรุนแรงถึงเสียชีวิตได้
อาการนำแพ้ยา
- เจ็บคอ มีไข้
- ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ปวดข้อ
หลังจากนั้นผู้ป่วยจะเริ่ม มีผื่นขึ้นบริเวณลำตัวแขนขา หน้าบวม ตาบวม เจ็บผิว เจ็บตามตัว มีอาการเจ็บเคืองตา เจ็บปาก กลืนเจ็บ ปัสสาวะแสบขัด ผื่นอาจมีลักษณะพองเป็นตุ่มน้ำหรือเกิดการหลุดลอกของผิวหนัง และมีการหลุดลอกของเยื่อบุต่างๆ ร่วมด้วย ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอาจมีอาการแทรกซ้อนของอวัยวะภายใน เช่น มีแผลในทางเดินอาหาร ตับอักเสบ และอาจทำให้เสียชีวิตได้
ยาที่มักทำให้เกิดการแพ้ทางผิวหนังอย่างรุนแรงในประเทศไทย ได้แก่
- ยารักษาโรคเกาต์เช่น allopurinol
- ยากันชัก เช่น carbamazepine, phenobarbital, phenytoin และlamotrigine
- ยาแก้ปวด/ต้านการอักเสบกลุ่ม NSAIDs เช่น ibuprofen, meloxicam, piroxicamและtenoxicam
- ยาต้านไวรัส HIV เช่น nevirapine, abacavir
- ยากลุ่มซัลฟา เช่น co-trimoxazole, sulfasalazine
- ยากลุ่มเพนนิซิลินเช่น amoxicillin
- ยารักษาวัณโรคเช่น rifampicin, isoniazid pyrazinamide, ethambutol
- Dapsone
ข้อควรปฏิบัติป้องกันแพ้ยารุนแรง
- หากได้รับยาใดๆ และเริ่มมีอาการเจ็บคอ มีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียนปวดข้อหรือ มีผื่นผิวหนัง ผิดปกติ
- ให้หยุดยาทันที
- ถ่ายรูปผื่นในระยะแรก
- นำยาที่ใช้ทั้งหมดพร้อมฉลากและชื่อยามาพบแพทย์และเภสัชกร
หากมีประวัติแพ้ยา
- จดจำชื่อยา และอาการที่ท่านแพ้ยา
- พกบัตรแพ้ยาติดตัว และยื่นแสดงบัตรหรือ
- แจ้งชื่อยาที่แพ้แก่แพทย์และเภสัชกรทุกครั้ง
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาหรือกลุ่มยาที่เคยแพ้
การแพ้ยาไม่ได้เกิดกับผู้ป่วยทุกราย และไม่สามารถทราบได้ว่าใครจะแพ้ยาอะไรแต่สามารถสังเกตอาการนำได้ก่อนที่จะแพ้ยารุนแรง โดยปัจจุบันการตรวจทางเภสัชพันธุศาสตร์ สามารถตรวจยีนเพื่อทำนายความเสี่ยงต่อการเกิดผื่นแพ้ยารุนแรงทางผิวหนังได้ ทั้งนี้ยังไม่สามารถตรวจได้กับยาทุกชนิด จึงขึ้นกับการพิจารณาของแพทย์ และเภสัชกร
ขอบคุณข้อมูลจาก : คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล