โรคไต ไม่มีสัญญาณจำเพาะโรค แต่ต้องระวัง ปัสสาวะผิดปกติ มีอาการบวม
เนื่องด้วยในวันพฤหัสบดีสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมีนาคมของทุกปี ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 13 มีนาคม 2568 ได้กำหนดให้เป็น “วันไตโลก” (World Kidney Day)เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของโรคไต เผยความสำคัญและสัญญาณโรคไตใกล้ตัวต้องระวัง
“ไต” ก็เป็นอวัยวะที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ทำให้ละเลยและปล่อยให้ไตเกิดปัญหาขึ้นโดยที่ไม่รู้ตัว โดยหน้าที่ของไต เสมือนเครื่องกรองของร่างกาย โดยทำหน้าที่กรองเลือดประมาณ 180 ลิตรต่อวัน เพื่อขับน้ำ ของเสีย ออกในรูปปัสสาวะ และดูดกลับสารที่จำเป็นและมีประโยชน์เข้าสู่ร่างกาย ควบคุมสารน้ำและรักษาสมดุลเกลือแร่ในร่างกายให้ปกติ นอกจากนี้ไตยังเป็นแหล่งสร้างฮอร์โมนบางชนิดในการกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง (Erythropoietin)

ที่ไขกระดูกไม่ให้เกิดโลหิตจาง สร้างฮอร์โมนเรนิน (Renin) ในการรักษาระดับความดันโลหิตให้คงที่ สร้างอนุพันธ์ของวิตามินดี (Calcitriol) ในการควบคุมสมดุลของแคลเซียม ฟอสฟอรัส ที่ไตและทางเดินอาหาร
โดยไตเป็นอวัยวะที่มีรูปร่างคล้ายเมล็ดถั่ว วางอยู่ทางด้านหลังของช่องท้องขนาบกับกระดูกสันหลังบริเวณบั้นเอวทั้ง 2 ข้าง ข้างละ 1 อัน ไตมีขนาดต่างกันแปรผันตาม อายุ เพศ ดัชนีมวลกาย ไตผู้ใหญ่มีขนาดความยาวประมาณ 10 – 13 เซนติเมตร และผู้ชายมักมีขนาดไตใหญ่กว่าผู้หญิง
โรคไตภัยเงียบต้องระวัง
โรคไต เป็นภาวะที่ไตถูกทำลายทำให้การทำงานของไตผิดปกติ ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของไตลดลง โดยสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท
- โรคไตเฉียบพลัน : เป็นภาวะที่การทำงานของไตเกิดความผิดปกติอย่างกระทันหัน หรือเกิดโดยไม่ทันตั้งตัว ส่งผลให้การควบคุมสมดุลน้ำในร่างกายเกิดความเสียหาย ซึ่งภาวะนี้สามารถรักษาให้ไตกลับมาทำงานปกติได้
- โรคไตเรื้อรัง : เป็นภาวะที่การทำงานของไตค่อยๆ เสื่อมประสิทธิภาพลง เป็นระยะเวลามากกว่า 3 เดือนขึ้นไป โดยภาวะนี้อาจมีอาการแสดงทีละน้อยโดยไม่รู้ตัว ทำให้หลายคนไม่ทราบว่าตนเองกำลังเสี่ยงเป็นโรคไตเรื้อรัง ซึ่งภาวะนี้จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ จำเป็นต้องรักษาด้วยการบำบัดทดแทนไต
สาเหตุโรตไตเรื้อรัง
- ความผิดปกติแต่กำเนิด
- การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะที่รุนแรง หรือติดเชื้อซ้ำซ้อนหลาย ๆ ครั้ง
- โรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคเก๊าท์ นิ่วในไต ภาวะอ้วนอย่างรุนแรง ไตอักเสบ SLE
- โรคเนื้องอกของไต
- โรคทางพันธุกรรม เช่น โรคถุงน้ำของไต ไตอักเสบ
- ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด หรือยาสมุนไพรบางชนิด
เช็กด่วนอาการเข้าข่ายเป็นโรคไต
อาการของโรคไต ในช่วงแรกของโรคผู้ป่วยจะยังไม่มีอาการแสดง เพราะอาการส่วนใหญ่จะแสดงออกมาเมื่อไตได้รับความเสียหายไปมากแล้ว โดยหากคุณมีอาการเหล่านี้อาจบ่งบอกว่าคุณกำลังเป็นโรคไตไม่รู้ตัว!
- ปัสสาวะมีความผิดปกติ เช่น ปัสสาวะมีฟองมากผิดปกติ ปัสสาวะเป็นเลือด หรือปัสสาวะบ่อยขึ้น โดยเฉพาะในช่วงกลางคืน
- มีอาการบวมตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เช่น หน้าบวม ตาบวม หรือเท้าบวม สังเกตได้โดยเอานิ้วกดค้างลงไปบริเวณที่บวม หากมีรอยบุ๋มโดยที่ผิวหนังไม่คืนตัว แสดงว่าอาจเป็นสัญญาณของโรคไต
- บางรายอาจซูบผอมลง เนื่องจากน้ำหนักที่ลดลงจากอาการเบื่ออาหาร
- รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย มีผิวหนังซีด หรือมีจ้ำเลือดขึ้นง่าย
- ปวดหลัง หรือปวดเอวข้างใดข้างหนึ่งผิดปกติ
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ความดันโลหิตสูงผิดปกติ
อาการเหล่านี้บางอาการอาจเป็นอาการที่ไม่จำเพาะเจาะจงต่อโรคไตทั้งหมด แต่ผู้ที่ป่วยเป็นโรคไตจะทำให้มีอาการเหล่านี้ได้เช่นกัน หากสังเกตเห็นถึงความผิดปกติที่เข้าข่ายการเป็นโรคไต ควรรีบเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาโดยแพทย์อย่างถูกต้อง เนื่องจากอาการที่แสดงออกมาบ่งบอกถึงโรคไตที่เข้าสู่ระยะรุนแรงแล้ว
นอกจากนี้ การตรวจสุขภาพประจำปี เป็นวิธีป้องกันการเกิดโรคไตได้ดีที่สุดอีกด้วย เพราะสามารถทำให้เราทราบถึงประสิทธิภาพการทำงานของไตได้ละเอียดที่สุด หากตรวจพบและทำการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ก็สามารถหายจากโรคไตได้
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ และ โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน