เจาะลึก วิธีช่วยคนถูก ไฟดูด ไฟช็อต ผลกระทบต่อสุขภาพระยะสั้น ระยะยาว
ไฟดูด ไฟช็อต อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แพทย์แนะวิธีปฐมพยาบาลช่วยเหลือผู้ประสบเหตุอย่างทันท่วงทีและถูกต้อง ผลกระทบต่อสุขภาพ หลังกระแสไฟฟ้าจะไหลเข้าสู่ร่างกายผ่านจุดสัมผัสโดยตรง ซึ่งระดับความรุนแรงของอาการจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งที่สัมผัส ระยะเวลาที่ได้รับกระแสไฟฟ้า รวมถึงประเภท และแรงดันของไฟฟ้า
เมื่อร่างกายได้รับกระแสไฟฟ้า หรือที่เรียกว่า ไฟดูด และ ไฟช็อต ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจแตกต่างกันไป หากเป็นกระแสไฟฟ้าต่ำและสัมผัสเพียงช่วงสั้นๆ อาจรู้สึกชา หรือสะดุ้งเล็กน้อยโดยไม่มีอันตรายร้ายแรง แต่หากเป็นกระแสไฟฟ้าแรงสูง หรือถูกไฟดูดเป็นเวลานาน อาจก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรง เช่น กล้ามเนื้อเกร็งจนไม่สามารถปล่อยมือ แผลไหม้ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือหยุดเต้น ระบบประสาทเสียหายจนหมดสติ หรือเกิดภาวะชัก และในกรณีรุนแรงอาจถึงแก่ชีวิต

อวัยวะ และระบบการทำงานในร่างกายที่อาจได้รับผลกระทบรุนแรงจากไฟดูดไฟช็อต
- หัวใจ อาจเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmia) หัวใจสั่นพลิ้ว (Atrial Fibrillation – AF) หัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรง (Ventricular Fibrillation; VF) ทำให้หัวใจหยุดเต้นกะทันหัน หรือหัวใจหยุดเต้นโดยไม่มีสัญญาณไฟฟ้าเลย (Asystole) ซึ่งภาวะหัวใจหยุดเต้น มักเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ที่ถูกไฟดูดเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ
- ระบบประสาท เซลล์ประสาทเสียหาย เกิดการบาดเจ็บที่เซลล์สมอง และไขสันหลังซึ่งอาจทำให้เกิดอาการชา หรือเป็นอัมพาต อาการที่เห็นได้ชัดก่อนอาจเป็นมึนงง คลื่นไส้ ควบคุมร่างกายไม่ได้
- กล้ามเนื้อ เกิดการหดเกร็งของกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง มีอาการเจ็บปวด เกิดรอยฟกช้ำหรือบวม ซึ่งนำไปสู่ภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงในอนาคตได้
- ปอด กล้ามเนื้อปอดเสียหาย อาจส่งผลให้หายใจลำบาก โดยเฉพาะในกรณีที่กระแสไฟฟ้ากระทบโดยตรงกับบริเวณหน้าอกและปอด ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเนื้อเยื่อปอดและกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการหายใจ อาจนำไปสู่ภาวะระบบทางเดินหายใจบกพร่อง หากไม่ได้รับการฟื้นฟูอย่างเหมาะสม อาจทำให้การทำงานของระบบหายใจเสื่อมลงอย่างรุนแรง และเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อชีวิต
- ไต เกิดภาวะกล้ามเนื้อสลายตัว (Rhabdomyolysis) ซึ่งส่งผลกระทบต่อไตอย่างรุนแรง โดยเฉพาะหากมีการปล่อยสารเคมีเข้าสู่กระแสเลือด จะนำไปสู่ภาวะไตวายได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้ไตเสียหายรุนแรง จนจำเป็นต้องใช้การฟอกเลือดเพื่อช่วยให้ไตทำงานต่อไปได้
การช่วยเหลือผู้ถูกไฟดูด และข้อควรระวัง
- ตัดกระแสไฟฟ้าทันที และต้องแน่ใจว่ากระแสไฟฟ้าถูกตัดแล้วก่อนเข้าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ
- หากมีสายไฟพาดอยู่บนตัวผู้บาดเจ็บให้ วัสดุที่ไม่นำไฟฟ้า เช่น ไม้แห้ง ผ้าแห้ง หรือสายยาง เขี่ยสายไฟออก ห้ามสัมผัสผู้บาดเจ็บโดยตรง
- หากผู้บาดเจ็บอยู่ในจุดที่ไม่ปลอดภัย ควรเคลื่อนย้ายออกจากบริเวณเสี่ยงอย่างระมัดระวัง โดยเลี่ยงอุบัติเหตุซ้ำซ้อน ถ้าผู้บาดเจ็บไม่ได้อยู่ในบริเวณที่มีอันตราย ควรหลีกเลี่ยงการเคลื่อนย้ายจนกว่าผู้เชี่ยวชาญจะมาถึง
- โทรแจ้งหน่วยแพทย์ฉุกเฉินทันที และในระหว่างรอคอยตรวจสอบการหายใจ และจังหวะการเต้นของหัวใจ หากผู้บาดเจ็บหยุดหายใจควรทำการปั๊มหัวใจ (CPR)
- หากผู้ได้รับบาดเจ็บยังมีสติ และมีแผลไหม้ ควรทำให้แผลเย็นลงทันทีโดยใช้น้ำประปาที่สะอาด ล้างแผลเป็นเวลา 10-20 นาที
- ใช้ผ้าสะอาด หรือผ้าก๊อซพันแผล เพื่อป้องกันการติดเชื้อ และลดความเสียหายเพิ่มเติมและรอการช่วยเหลือจากแพทย์ โดยไม่ควรดึงเสื้อผ้า หรือวัสดุที่ติดอยู่กับแผลออก เพราะอาจทำให้เกิดความเสียหายกับผิวหนังมากขึ้น
การประเมิน และตรวจร่างกายหลังถูกไฟดูดหรือไฟช็อต
หลังจากถูกไฟดูดหรือไฟช็อต ควรได้รับการตรวจร่างกายโดยเร็วที่สุด เพื่อประเมินอาการและความเสียหายของอวัยวะต่างๆ เพื่อวางแผนการรักษาและติดตามอาการ โดยแพทย์จะทำการตรวจในหลายด้าน ได้แก่
- ตรวจสัญญาณชีพ และอาการต่างๆ เช่น หน้าซีด ตัวเย็น เหงื่อออกมาก หรือหมดสติ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของภาวะช็อกจากไฟฟ้า พร้อมตรวจระบบหายใจ และไหลเวียนโลหิต รวมถึงประเมินภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน และทำ CPR หากจำเป็น
- ตรวจแผล และรอยไหม้ โดยเฉพาะจุดที่กระแสไฟฟ้าเข้าจากร่างกาย
- ประเมินระบบประสาท การตอบสนองของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ รวมถึงการเคลื่อนไหวและการรับรู้ เพื่อตรวจหาความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง และไขสันหลัง เช่น อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรืออัมพาต
- การตรวจเพิ่มเติม เพื่อวินิจฉัยภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น เช่น
- ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) ประเมินความผิดปกติของจังหวะการเต้นของหัวใจ
- ตรวจเอนไซม์หัวใจ (Cardiac Enzyme Test) ตรวจหาความเสียหายของกล้ามเนื้อหัวใจ
- เอกซเรย์ หรือซีทีสแกน (X-ray / CT Scan) ตรวจหาความผิดปกติของกระดูกหรืออวัยวะภายใน
- ตรวจการทำงานของไต (Renal Function Test, RFT) เนื่องจากกระแสไฟฟ้าอาจทำลายกล้ามเนื้อ และปล่อยสารพิษที่ส่งผลต่อไต
- ตรวจระบบประสาท (Nerve Conduction Study, NCS / Electromyography, EMG) และทดสอบปฏิกิริยาตอบสนองของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ
ผลกระทบในระยะยาวหลังถูกไฟดูดอาจปรากฏขึ้นภายหลังได้ โดยเฉพาะความเสียหายที่เกิดกับอวัยวะต่างๆ เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลวจากการเปลี่ยนแปลงของคลื่นหัวใจ หรือภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ และหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ อาการชัก หรืออัมพาตจากความเสียหายของระบบประสาท การหดเกร็งของกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ภาวะไตวาย การติดเชื้อจากแผล รวมถึงความเสียหายของเนื้อเยื่อและอวัยวะภายใน การดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่อง และเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำจะช่วยป้องกันและได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
ไฟดูดเบาๆ จำเป็นต้องพบแพทย์หรือไม่?
หากถูกไฟดูดเพียงเล็กน้อย และไม่มีอาการผิดปกติ อาจไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ทันที แต่ควรเฝ้าระวังอาการภายใน 24-48 ชั่วโมง เนื่องจากไฟฟ้าอาจส่งผลต่อระบบหัวใจ และระบบประสาทในภายหลัง โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ที่มีโรคหัวใจ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งควรได้รับการตรวจจากแพทย์แม้ไม่มีอาการผิดปกติ หรือหากมีอาการเวียนศีรษะ เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นผิดจังหวะ หายใจลำบาก กล้ามเนื้อกระตุก อ่อนแรง หรือชา รวมถึงมีแผลบริเวณสัมผัสไฟฟ้า ควรรีบพบแพทย์ทันที เพราะไฟฟ้าอาจส่งผลกระทบต่ออวัยวะภายใน แม้อาการเบื้องต้นจะดูไม่รุนแรงก็ตาม
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลพญาไท พหลโยธิน