เจาะลึก Da Vinci Xi หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด เทคโนโลยีการแพทย์ยุคใหม่
เปิดเทคโนโลยี “หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด Da Vinci Xi” แบบเจาะลึก ตัวช่วยศัลยแพทย์ในการผ่าตัด ที่ละเอียดอ่อน โดยเฉพาะโรคมะเร็ง ลดความเสี่ยงในการรักษา ปลอดภัย ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว และเพิ่มโอกาสหายขาด
โรงพยาบาลกรุงเทพ โดยทีมศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ได้ใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด Da Vinci Xi ซึ่งเป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ทันสมัย ช่วยให้การผ่าตัดมีความแม่นยำ บาดแผลเล็กลง ลดความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อน ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว ปลอดภัย และมีโอกาสหายขาดจากโรคได้สูง ช่วยลดผลข้างเคียง และภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดรักษาได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้ ผู้ป่วยแผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวไว

หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด Da Vinci Xi คืออะไร ?
Da Vinci Xi คือ เทคโนโลยี หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดที่ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ในรูปแบบแขนกล 4 แขน สามารถเคลื่อนไหวอย่างอิสระ หมุนได้รอบทิศทาง เปรียบเสมือนแขนของแพทย์ที่เพิ่มเข้ามาเพื่อช่วยผ่าตัด แต่ละแขนจะมีเครื่องมือผ่าตัดและกล้องส่องอวัยวะภายในที่ช่วยให้เห็นภาพได้ชัดเจนแบบ 3 มิติ โดยศัลยแพทย์จะควบคุมการเคลื่อนไหวของแขนกลตามรูปแบบของการผ่าตัด เหมือนกับซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ช่วยให้เครื่องสามารถแปลการเคลื่อนไหวของศัลยแพทย์ได้แบบเรียลไทม์
ทำให้มีความชัดเจนและถูกต้องมากขึ้น ลดโอกาสการสั่นไหวของภาพและเครื่องมือคล้ายระบบกันสั่นในอุปกรณ์ถ่ายภาพ ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้น อีกทั้งยังถูกออกแบบเพื่อการผ่าตัดผ่านกล้อง ช่วยให้ศัลยแพทย์ทำการผ่าตัดที่ละเอียดอ่อน ในตำแหน่งที่ยากและมีความซับซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดได้เป็นอย่างดี แผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวไว
ส่วนประกอบ หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด Da Vinci Xi
- ส่วนควบคุมการผ่าตัด (Surgeon Console) ศัลยแพทย์ควบคุมการทำงานของแขนกลทั้ง 4 แขนได้เหมือนการผ่าตัดปกติ มีจอภาพ 3 มิติแสดงให้เห็นอวัยวะภายในอย่างละเอียด ระบบจะถ่ายทอดสัญญาณการเคลื่อนไหวจากมือศัลยแพทย์ไปยังแขนกลของหุ่นยนต์ที่ทำการผ่าตัดภายในร่างกายผู้ป่วย
- แขนกลหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด (Patient Cart) ประกอบด้วยแขนกล 4 แขนที่หมุนได้อิสระรอบทิศทาง แขนหนึ่งถือกล้อง 3 มิติ เพื่อส่งภาพมาแสดงผลบนจอแบบ 3 มิติ อีก 3 แขนถืออุปกรณ์การผ่าตัดเข้าไปผ่าตัดในบริเวณที่ซับซ้อนและเข้าถึงยาก
- ระบบประมวลผลและควบคุมภาพ (Vision Cart) อุปกรณ์เสริมที่ช่วยแสดงภาพอวัยวะภายใน มีหน่วยประมวลผลและซอฟต์แวร์ที่ช่วยควบคุมและวิเคราะห์การทำงานของระบบ ทำให้ปรับค่าต่าง ๆ ได้สะดวกและเหมาะกับผู้ป่วย

หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด Da Vinci Xi เหมาะกับการรักษาอะไรบ้าง?
- โรคช่องท้อง เช่น ระบบตับ น้ำดี ตับอ่อน เช่น มะเร็งตับ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งถุงน้ำดี นิ่วในถุงน้ำดี ฯลฯ
- โรคระบบทางเดินอาหาร เช่น มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ฯลฯ
- โรคทรวงอก เช่น มะเร็งปอด เนื้องอกต่อมไทมัส ฯลฯ
- โรคระบบทางเดินปัสสาวะ ได้แก่ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งไต ฯลฯ
- โรคผู้หญิง เช่น เนื้องอกหรือมะเร็งมดลูก เนื้องอกรังไข่ ภาวะอุ้งเชิงกรานหย่อน ฯลฯ
- โรคหู คอ จมูก เช่น เนื้องอกในช่องคอต่าง ๆ ก้อนเนื้อบริเวณลำคอ มะเร็งต่อมทอนซิล มะเร็งโคนลิ้น มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งหลังโพรงจมูก ฯลฯ
ข้อดีของหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด Da Vinci Xi
- แขนกลสามารถหมุนได้อิสระรอบทิศทางจึงเข้าไปผ่าตัดในตำแหน่งที่เข้าถึงยากและซับซ้อน
- ลักษณะการผ่าตัดเป็นไปอย่างนุ่มนวล คล่องแคล่ว จึงช่วยลดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น
- ระบบภาพ 3 มิติ ทำให้ศัลยแพทย์มองเห็นรายละเอียดของอวัยวะได้ชัดเจนถึงเส้นเลือดและเส้นประสาท ช่วยให้การผ่าตัดเป็นไปอย่างถูกต้องตรงตำแหน่ง
- หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดไม่มีข้อจำกัดเรื่องการเคลื่อนไหว จึงหมดกังวลกับปัญหามือสั่นที่อาจพบในศัลยแพทย์
- แผลผ่าตัดเล็ก ผู้ป่วยจึงเจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว ลดระยะเวลาการนอนพักฟื้นในโรงพยาบาล

เตรียมตัวก่อนผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์
แพทย์จะทำการประเมินร่างกายของผู้ป่วยก่อนผ่าตัดอย่างละเอียดเพื่อความพร้อมทางด้านร่างกายและจิตใจ มีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการให้ยาระงับความรู้สึก การดูแลหากเกิดภาวะแทรกซ้อน การดูแลหลังผ่าตัด เมื่อถึงวันผ่าตัดผู้ป่วยจะต้องงดน้ำและอาหาร รวมถึงมีการให้ยาต้านจุลชีพเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อจากการผ่าตัด
โดยการเข้ารับการผ่าตัดกับหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด Da Vinci Xi มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนขณะทำการผ่าตัดเหมือนกับการผ่าตัดแบบอื่น ๆ โดยขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของผู้ป่วยและความรุนแรงของโรคเป็นสำคัญ
ดูแลหลังผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์
หลังผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด Da Vinci Xi ผู้ป่วยควรพักฟื้นตามคำแนะนำของแพทย์ ส่วนใหญ่มักอยู่ที่ 1 – 2 วัน จึงกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ ส่วนในเรื่องการปฏิบัติตัวของผู้ป่วย แพทย์เฉพาะทางจะให้คำแนะนำเป็นกรณีไป
ทั้งนี้การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด Da Vinci Xi ต้องเป็นไปตามการประเมินและคำแนะนำของแพทย์เฉพาะทางเป็นสำคัญ เพราะอาจไม่ได้เหมาะกับการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยทุกราย เพราะระบบหุ่นยนต์ไม่สามารถ คิดได้ด้วยตัวเอง และไม่สามารถทำงานได้โดยปราศจากการควบคุมของศัลยแพทย์ ดังนั้นศัลยแพทย์จะเป็นผู้ควบคุมการเคลื่อนไหวของแขนกลผ่านทางคอนโซลบังคับ โดยหุ่นยนต์ผ่าตัดจะตอบสนองต่อการเคลื่อนไหวของมือและนิ้วของศัลยแพทย์เท่านั้น

นพ.เอกกิตติ์ สุรการ รองผู้อำนวยการ โรงพยาบาลกรุงเทพ เปิดเผยภายในงานประชุมวิชาการ “BDMS Advanced Robotic Surgery Conference 2025” ว่า ปัจจุบันยังมีศัลยแพทย์จำนวนน้อยที่สามารถใช้เทคโนโลยีนี้ได้อย่างคล่องแคล่ว ทั้งที่ความจำเป็นในการใช้มีอยู่จริง จึงต้องการสร้าง “คอมมูนิตี้ศัลยแพทย์หุ่นยนต์” เพื่อเพิ่มจำนวนบุคลากรที่เชี่ยวชาญ และเปิดโอกาสให้ศัลยแพทย์รุ่นใหม่เข้าถึงทักษะนี้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย
โดยโรงพยาบาลได้ดำเนินการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์มาราว 1 ปีครึ่ง และมีผู้ป่วยเกือบ 600 ราย ผลการรักษาปลอดภัยและประสิทธิภาพเทียบเท่าหรือดีกว่าวิธีปกติ โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ป่วยต้องรักษาต่อเนื่อง เช่น การให้เคมีบำบัดหรือฉายแสง หากผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว ก็สามารถเข้าสู่กระบวนการรักษาต่อได้เร็วขึ้น เป็นผลดีโดยรวมต่อการหายจากโรค
นพ.เอกกิตติ์ กล่าวว่า แนวโน้มต่อไปคือเพิ่มจำนวนแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านนี้เพื่อลดระยะเวลารอผ่าตัดของผู้ป่วย พร้อมผลักดันให้เกิด “แพ็กเกจค่ารักษา” ที่เข้าถึงได้ในวงกว้าง เนื่องจากเมื่อจำนวนเคสเพิ่ม การบริหารต้นทุนก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมเผยว่า เทคโนโลยีรุ่นถัดไป หุ่นยนต์ผ่าตัดในอนาคตจะสามารถ “รู้สึกสัมผัส” ได้จริง ไม่ใช่แค่มองเห็น เช่น การรับรู้ความนิ่มหรือแข็งของเนื้อเยื่อ การตัดหรือเย็บจะละเอียดแม่นยำกว่าเดิม ซึ่งจะทำให้การผ่าตัดที่ซับซ้อนมีความปลอดภัยสูงขึ้น

โรงพยาบาลกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ ได้รับการรับรองมาตรฐาน JCI มาตรฐานสูงสุดระดับโลกในการกำกับดูแลคุณภาพและความปลอดภัยขององค์กรที่พร้อมให้บริการสุขภาพ Joint Commission International, Gold Seal of Approval® เป็นครั้งที่ 6 (18 กุมภาพันธ์ 2023 – 17 กุมภาพันธ์ 2026) นับเป็นสัญลักษณ์แห่งความสำเร็จและความภาคภูมิใจที่เกิดจากความมุ่งมั่นของพวกเราทุกคน พร้อมให้บริการด้วยมาตรฐานการรักษา กระบวนการจัดการที่มีประสิทธิภาพสูงของทีมแพทย์ พยาบาล ผสานเทคโนโลยีการแพทย์ที่ทันสมัย เพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างมีมาตรฐานและมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น
อีกทั้งยังได้รับการรับรองมาตรฐานการรักษาระดับสากล “การดูแลรักษาพยาบาลเฉพาะโรค” ใน 4 โรคเฉพาะทาง ตั้งแต่ปี 2024-2027 ดังต่อไปนี้
- โรคหลอดเลือดสมอง (Primary Stroke Program)
- โรคมะเร็งปอด (Lung Cancer Program)
- การดูแลรักษาผู้ป่วยหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (Acute Coronary Syndrome Program)
- โรคกระดูกในผู้สูงอายุ (Orthogeriatric Program)
ข้อมูลจาก : โรงพยาบาลกรุงเทพ สำนักงานใหญ่