ปวดหัวหนักที่ท้ายทอยเฉียบพลัน เสี่ยง "หลอดเลือดโป่งพองในสมอง"
โรคเส้นเลือดสมองโป่งพอง คือ ความผิดปกติที่เกิดจากการบางลงของผนังหลอดเลือดสมอง ทำให้ผนังเส้นเลือดสมองโป่งพองออกคล้ายบอลลูนและแตกออกง่าย
ในบรรดาโรคภัยไข้เจ็บที่เราต้องเผชิญอยู่ทุกวัน โรคหลอดเลือดโป่งพองในสมอง (Cerebral aneurysm) ถือเป็นหนึ่งในโรคอันตรายที่สุด เพราะแทบไม่แสดงอาการ โดยกว่าจะรู้ตัวอีกทีอาการก็หนักแล้ว หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและรวดเร็ว อาจทำให้ผู้ป่วยกลายเป็นอัมพฤกษ์-อัมพาตได้เลย
สาเหตุของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง
เชื่อกันว่า การไหลเวียนของเลือดร่วมกับการเปลี่ยนแปลงของผนังของหลอดเลือดแดงในสมอง เป็นสาเหตุที่ทำให้ผนังของหลอดเลือดแดงนั้นโป่งพอง และอาจแตกได้ถ้าปล่อยไว้นานเกินไป
อาการแบบไหนเสี่ยงเป็น "ลองโควิด" ก่อนไปพบแพทย์
"โรคหลอดเลือดสมอง" อันตรายถึงชีวิต ไม่ว่าวัยใดก็เป็นได้
การแตกของหลอดเลือดโป่งพองนี้มีอันตรายถึงชีวิต เนื่องจากเป็นหลอดเลือดแดงขนาดใหญ่ เลือดจะออกมากและเร็ว ผู้ป่วยกว่า 50% จะเสียชีวิตในระยะเวลาสั้นๆ แต่ส่วนหนึ่งจะไม่เสียชีวิต เนื่องจากกลไกในการหดเกร็งตัวของหลอดเลือดร่วมกับกลไกการจับตัวเป็นลิ่มเลือดจะทำให้เลือดหยุดไหลได้ แต่เป็นการหยุดไหลเพียงชั่วคราว และจะแตกซ้ำในเวลาต่อมา ซึ่งในการแตกแต่ละครั้ง ผู้ป่วยกว่าครึ่งหนึ่งจะเสียชีวิต ดังนั้น จึงต้องรีบรักษาก่อนหลอดเลือดจะแตกจนสายเกินไปที่จะรักษาได้ทัน
จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคหลอดเลือดโป่งพอง
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า อาการของโรคหลอดเลือดโป่งพองในระยะแรกๆ แทบจะไม่แสดงอาการใดๆ และจะแสดงอาการก็เมื่อเส้นเลือดโป่งพองหรือใกล้แตก ดังนั้น กว่าจะรู้ตัว คุณอาจปวดหัวแบบเฉียบพลัน โดยเฉพาะบริเวณท้ายทอยและก้านคอ คล้ายกับการโดนของแข็งฟาดที่ก้านคอแรงๆ บวกกับมีการอาเจียน ในคนป่วยบางรายอาจถึงขั้นหมดสติหรือโคม่าไปเลย
การตรวจโรคหลอดเลือดโป่งพอง
จากอาการที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันร่วมกับการตรวจร่างกายที่พบว่าบริเวณคอแข็งเกร็ง แพทย์จะให้การวินิจฉัยเบื้องต้นของโรคนี้ได้ ด้วยการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (MRI) ซึ่งจะพบลักษณะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองที่กระจายไปทั่วๆ อันเป็นลักษณะเฉพาะตัวของโรคนี้
นอกจากนี้ การฉีดสารทึบแสงผ่านสายสวนหลอดเลือดแดง (Cerebral Angiography) บริเวณขาหนีบ ยังเป็นการวินิจฉัยที่ช่วยยืนยันผล และเป็นประโยชน์ต่อการรักษาอย่างมาก โดยหลังจากการฉีนสารทึบแสง แพทย์จะเอกซเรย์บริเวณศีรษะซึ่งจะทำให้เห็นหลอดเลือดต่างๆ ในสมอง ตลอดจนถึงหลอดเลือดที่โป่งพองพร้อมตำแหน่งหรือร่องรอยที่แตกหรือผิดปกติได้
4 เหตุผลสำคัญ ยิ่งออกกำลังกายหนัก ยิ่งต้องตรวจสุขภาพ
4 อาการ Long Covid พบบ่อย ส่งผลต่อ "ระบบหัวใจและปอด" หลังป่วยโควิด-19
เมื่อมีอาการหลอดเลือดสมองโป่งพอ ต้องรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาให้เร็วที่สุด
วิธีการรักษาโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์ ดังนี้
- การผ่าตัด ประสาทศัลยแพทย์ผู้ผ่าตัดจะวินิจฉัยจากการตรวจหลอดเลือดสมองแล้วทำการผ่าตัดเข้าไปถึงจุดที่หลอดเลือดโป่งพอง จากนั้นจะใช้ตัวหนีบ หนีบลงบนส่วนที่โป่งพองเพื่อไม่ให้แตกซ้ำ การผ่าตัดแบบนี้ต้องอาศัยกล้อง Microscope ขยายภาพ เนื่องจากบริเวณที่หลอดเลือดโป่งพองมักอยู่ลึกจากผิวสมอง ซึ่งยากแก่การมองเห็น การหนีบจึงต้องระมัดระวังอย่างมาก มิฉะนั้นจะเกิดภาวะสมองขาดเลือดและสมองบวมตามมา นอกจากนั้น การที่เส้นเลือดโป่งแตกซ้ำขณะผ่าตัดก็จะส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด
- การตรวจหาสารเรืองแสงในหลอดเลือด (Vascular Fluorescence) ขณะทำผ่าตัดเป็นมองผ่านกล้องผ่าตัดชนิดพิเศษจึงช่วยให้การผ่าตัดมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น หลักการคือ การฉีดสาร ICG (Indocyanine Green) เข้าไปตามกระแสเลือด ซึ่ง Indocyanine Green มีคุณสมบัติเรืองแสง (Fluorescence) มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่จะสามารถเห็นได้ด้วยกล้องชนิดพิเศษ (Near infrared camera) เท่านั้น และยังสามารถใช้อุปกรณ์บันทึกภาพไว้ตรวจสอบความสมบูรณ์ของการใช้คลิปหนีบ (clipping) ได้ โดยจะเห็นว่าไม่มีสารเรืองแสงในส่วนของหลอดเลือดที่โป่ง เป็นการแสดงว่าแพทย์สามารถหนีบหลอดเลือดที่โป่งได้อย่างสมบูรณ์
- การใส่ขดลวด (Coiling) เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษา การรักษาวิธีนี้คือการใช้เส้นลวดขนาดเล็กสอดผ่านไปตามหลอดเลือดสมอง (คล้ายกับการตรวจหลอดเลือดสมอง) แล้วปล่อยเส้นลวดเล็กๆ นี้ทิ้งไว้ในส่วนที่โป่งของหลอดเลือด ถ้าหลอดเลือดโป่งมีขนาดใหญ่ก็ต้องใช้เส้นลวดเป็นจำนวนมาก เส้นลวดนี้จะช่วยกระตุ้นการแข็งตัว และก่อให้เกิดลิ่มเลือดในบริเวณที่โป่งทำให้ไม่แตกซ้ำ แต่การรักษาโดยวิธีนี้จะต้องมีข้อบ่งชี้อื่นๆ ร่วมด้วย
ผลการผ่าตัดรักษาโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง
โดยมากผลการผ่าตัดมักจะขึ้นอยู่กับสภาพของผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยที่มีอาการปวดศีรษะแต่ไม่หมดสติ ผลการผ่าตัดจะดีกว่าผู้ป่วยที่หมดสติก่อนผ่าตัด
อีกหนึ่งอาการที่มักพบหลังการผ่าตัดคือ ภาวะหลอดเลือดในสมองตีบ มักเกิดประมาณวันที่ 5-9 หลังหลอดเลือดโป่งพองแตก ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาของสารที่อยู่ในเลือด ทำให้เกิดหลอดเลือดตีบตามมา บางรายรุนแรงมาก บางรายรุนแรงน้อย แต่ปัจจุบันมียาขยายหลอดเลือดช่วยลดความรุนแรงของหลอดเลือดตีบ แต่ในบางรายที่รุนแรงมากจะทำให้สมองบวม ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต
ในผู้ป่วยบางรายอาจเกิดภาวะน้ำคั่งในสมอง เนื่องจากหลังจากหลอดเลือดแตกอาจมีลิ่มเลือดบางส่วนไปอุดตันทางเดินของน้ำที่หล่อเลี้ยงสมอง ทำให้ความดันในสมองสูงขึ้น และเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย จึงจำเป็นที่ต้องผ่าตัดเพื่อฝังอุปกรณ์พร้อมท่อช่วยระบายน้ำที่หล่อเลี้ยงสมองเพื่อลดความดันลง
หลังการรักษา ผู้ป่วยจำนวนมากจะกลับสู่ สภาพปกติ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการไม่มาก แต่ผู้ป่วยบางรายที่อยู่ในอาการหนักระยะเวลาฟื้นตัวจะนานกว่า และในบางรายไม่กลับสู่สภาวะเดิม ต้องมีการฟื้นฟูโดยกายภาพบำบัดต่อไป
การป้องกัน
- รักษาภาวะความดันโลหิตสูง
- หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มจัดหรือมีไขมันสูง
- เน้นรับประทานผัก ผลไม้
- งดสูบบุหรี่
- งดสารเสพติดต่างๆ
- ตรวจหาโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง และตรวจสุขภาพประจำปี
หากมีอาการปวดหัวตามที่กล่าวไปข้างต้น ให้รีบพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ เพื่อทำการตรวจรักษาก่อนจะสายเกินไป เพราะสุขภาพแข็งแรงไร้โรคภัยเป็นสิ่งที่มีค่ามากที่สุด
ขอบคุณข้อมูลสุขภาพจาก โรงพยาบาลพญาไท