"ไขมันทรานส์" พิษร้ายใกล้ตัว ก่อสารพัดโรคทำลายสุขภาพ
ไขมันทรานส์ภัยเงียบที่แฝงอยู่ในอาหารทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ
ไขมันมันทรานส์ หรือเรียกอีกชื่อว่า transfat เป็นไขมันที่มีในธรรมชาติน้อยมากแต่เกิดจากการดัดแปลงโครงสร้างของน้ำมันพืชหรือไขมันไม่อิ่มตัวด้วยกระบวนการ hydrogenation หรือ การเติมหมู่ไฮโดรเจน ทำให้น้ำมันพืชมีลักษณะคงตัวที่อุณหภูมิห้อง ทนความร้อนได้สูง ไม่เหม็นหืน
โดยได้มีการนำไขมันทรานส์มาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารเป็นอย่างแพร่หลายในช่วงประมาณ 50-60 ปีมานี้เนื่องจากมีราคาถูก มีกลิ่นหอมและทอดอาหารได้กรอบ
"อ้วน" เมื่อไรเสี่ยง "เบาหวาน" เมื่อนั้น แนะ 3 อ. ไกลโรค
รู้จักโรค NCDs โรคที่คุณสร้างมันขึ้นมาเองทุกวันๆ
แต่หลังจากนั้นในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาก็มีรายงานจากการศึกษาหลายชิ้นพบว่าการบริโภคไขมันทรานส์ปริมาณมากทำให้ไขมันดีในเลือด (HDL cholesterol) ต่ำลง และไขมันเลวในเลือด (LDL cholesterol) สูงขึ้น
ไขมันทรานส์แบ่งเป็น
1. ไขมันทรานส์จากธรรมชาติ เช่น เนย นม ชีส เนื้อสัตว์ ซึ่งพบได้ในปริมาณเพียงเล็กน้อย
2. ไขมันทรานส์จากกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (Partially Hydrogenation) ลงในน้ำมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง พบใน เนยเทียม (margarine) เนยขาว (shortening)
อาหารที่มีไขมันทรานส์สูง ได้แก่ คุกกี้ แคร๊กเกอร์ ขนมขบเคี้ยว เค้ก โดนัท เฟรนซ์ฟรายส์ แฮมเบอร์เกอร์ คุกกี้ ครีมเทียม เป็นต้น
ปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนไปใช้กระบวนการอื่นแทนกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนแล้ว ดังนั้นแนวโน้มของผลิตภัณฑ์ภายในประเทศจะมีไขมันทรานส์ปนเปื้อนในปริมาณที่น้อยลง
ผลเสียของไขมันชนิดทรานส์
1. เพิ่มระดับโคเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL-Cholesterol)
2. ลดระดับโคเลสเตอรอลชนิดดี (HDL-Cholesterol)
3. เพิ่มระดับโคเลสเตอรอลรวม (Total Cholesterol)
4. เพิ่มระดับไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride)
ซึ่งทั้งหมดมีผลเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง โรคเบาหวานชนิดที่ 2 และการเกิดมะเร็งบางชนิดด้วย
ต่อมาจึงมีการตระหนักเรื่องการบริโภคไขมันทรานส์มากขึ้น โดยองค์การอนามัยโลกได้กำหนดไม่ให้บริโภคไขมันทรานส์เกิน 1% ของปริมาณแคลอรี่ที่ได้รับต่อวันหรือประมาณ 2 กรัมต่อวัน ซึ่งอาหารบางชนิดต่อหนึ่งหน่วยบริโภคก็มีไขมันทรานส์เกินปริมาณนี้แล้ว ยกตัวอย่างเช่น โดนัทบางยี่ห้อมีไขมันทรานส์ถึง 2.7 กรัมต่อหนึ่งชิ้น
ผู้บริโภคควรทำอย่างไร
- อ่านฉลากอาหารและฉลากโภชนาการว่ามีไขมันทรานส์หรือไม่ก่อนซื้อผลิตภัณฑ์
- เลือกรับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ แต่มีกากใยสูง อาทิ ผัก ผลไม้ ธัญพืชขัดสีน้อย
- เลือกรับประทานอาหารให้หลากหลายและในปริมาณที่เหมาะสม
- เลือกใช้น้ำมันให้ถูกประเภทและตรงตามวัตถุประสงค์การใช้
- หลีกเลี่ยงการทานอาหารมัน อาหารทอด หันมากินอาหารจำพวกอบ นึ่ง ต้ม
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยครั้งละ 30 นาที อาทิตย์ละ 3 วัน
ขอบคุณข้อมูลสุขภาพจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.), โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย