เรื่องจริง! ที่โตแล้วก็ “แพ้อาหาร” ได้ เช็กเลยเมนูที่ผู้ใหญ่แพ้มากสุด
ตอนเด็กไม่แพ้อาหาร ใช่ว่าตอนโตจะไม่เกิด! ผลการศึกษาพบแพ้อาหารตอนโตก็เป็นได้ พร้อมเผยเมนูที่เป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดอาการแพ้ในวัยผู้ใหญ่มากที่สุด
โตขึ้นแล้วจะแพ้อาหารได้ไหม? คำตอบคือ ได้! แม้จะดูไม่น่าเชื่อก็ตาม เพราะหลายคนคงคุ้นชินว่าถ้าโตแล้ว แต่ไม่เคยแพ้อาหารอะไรเลย ตอนโตก็คงไม่แพ้อะไรแล้ว แต่ถ้าตอนเด็กเคยแพ้อะไรแล้วล่ะก็ ตอนโตก็คงต้องหลีกเลี่ยงอาหารนั้นไปตลอดชีวิต
แนวคิดนี้เอง ที่จริงแล้วก็ไม่ผิด เพราะปกติแล้วเด็กก่อนวัยเรียนจะมีแนวโน้มแพ้อาหารมากกว่าผู้ใหญ่ประมาณ 3-4 เท่า และมีแนวโน้มที่จะแพ้อาหารมากขึ้นเมื่ออายุขยับขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน นั่นหมายความว่า ถ้าตอนเด็กแพ้นม ตอนโตเองก็คงแพ้นมเหมือนกัน แต่ความรุนแรงอาจอัปเกรดขึ้น
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าการแพ้อาหารในวัยผู้ใหญ่ ทั้งที่ตอนเด็กไม่เคยแพ้อะไรมาก่อน จะเกิดขึ้นไม่ได้เพราะล่าสุดมีผลการสำรวจจากสหรัฐอเมริกาพบแล้วว่า ผู้ใหญ่มากถึง 1 ใน 10 คน แพ้อาหารอย่างน้อย 1 ชนิด และบางรายเกิดอาหารแพ้ในช่วงที่โตเป็นผู้ใหญ่แล้ว!
แพ้อาหารคืออะไร
การแพ้อาหาร คือภาวะที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายตอบสนองต่อส่วนประกอบของอาหารที่แพ้ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการแพ้แบบเฉียบพลัน หรือการแพ้อาหารแอบแฝงได้
โดยการแพ้อาหารแบบเฉียบพลัน (IgE-mediated food allergies) มักจะทำให้มีอาการแพ้ทันทีหลังรับประทานอาหาร หรือภายในไม่กี่ชั่วโมง ซึ่งเกิดขึ้นจากแอนติบอดี “อิมมูโนโกลบูลิน อี” (IgE) เข้าไปกระตุ้นทำให้ร่างกายตอบสนองต่ออาการแพ้
ขณะที่การแพ้อาหารแบบแอบแฝง (Food intolerances or hypersensitivity) จะเกิดจากกลไกอื่นๆ ของร่างกายที่ไม่สัมพันธ์กับ “อิมมูโนโกลบูลิน อี” (IgE) ทำให้อาการเกิดขึ้นหลังรับประทานอาหารเป็นเวลาหลายชั่วโมงถึงหลายวัน
อาการแพ้อาหาร
อาการที่เกิดขึ้นจากการแพ้อาหาร อาจเกิดได้หลายรูปแบบดังต่อไปนี้
- ลมพิษ
- บวม
- กลืนลำบาก
- อาเจียน
- แน่นหน้าอก หายใจลำบาก
- หัวใจเต้นเร็ว
- เวียนศีรษะ
- ความดันโลหิตต่ำ
- ภูมิแพ้รุนแรง
อาหารชนิดไหนที่ผู้ใหญ่แพ้มากที่สุด
อาการที่เกิดจากการแพ้อาหารดูแล้วอันตรายไม่น้อย โดยเฉพาะการแพ้อาหารที่เกิดขึ้นจากเจ้า “อิมมูโนโกลบูลิน อี” (IgE) มีผลการศึกษาพบว่าอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้! วันนี้เราจึงจะชวนทุกคนมารู้จัก 4 ประเภทของอาหารที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาหารแพ้อาหารขึ้นในตอนโต และเป็นอาหารที่ผู้ใหญ่แพ้มากที่สุด
อาหารจำพวกถั่ว นม อาหารทะเล
ข้อมูลจากแบบสำรวจในสหรัฐอเมริกา พบอาหารที่ทำให้เจ้าแอนติบอดี IgE ไปกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ตอบสนอง จนเกิดอาการแพ้ได้บ่อยที่สุดในผู้ใหญ่ ได้แก่
- หอย 2.9%
- นมวัว 1.9%
- ถั่วลิสง 1.8%
- ถั่วเปลือกแข็ง 1.2%
- ปลามีครีบ เช่น ปลากะพงขาว ปลาแซลมอน ปลาคอด เป็นต้น 0.9%
โดยผลการสำรวจมีใจความสำคัญระบุว่า การแพ้อาหารของผู้ใหญ่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับจากการสำรวจเก่าๆ ที่ตีพิมพ์ในปี 2546 และ 2547 โดยการแพ้ถั่วลิสง เพิ่มขึ้นประมาณ 3 เท่า (จากเดิม 0.6%) ในขณะที่ถั่วเปลือกแข็งและปลาครีบเพิ่มขึ้น 2 เท่า (จากเดิม 0.5%) โดยมีหอยใกล้เคียงกัน (2.5%)
แม้การแพ้ที่เกิดขึ้นในวัยผู้ใหญ่จะเพิ่มขึ้น แต่อาการแพ้ที่เริ่มขึ้นในเด็กก็มีแนวโน้มที่จะคงอยู่ในวัยผู้ใหญ่ ซึ่งสาเหตุที่เป็นไปได้สำหรับทั้งสองกรณี คือ การขาดวิตามินดีต่ำ ความสะอาดที่มากเกินไป และการใช้ยาปฏิชีวนะบ่อยขึ้น
เนื้อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ปนเปื้อนเชื้อโรคของเห็บ/ไร
อาการแพ้ที่เกิดจากเจ้า “อิมมูโนโกลบูลิน อี” (IgE) สามารถเกิดขึ้นได้หลังจากเราเผลอไปกัดกินเนื้อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ปนเปื้อนเชื้อโรคของเห็บ/ไร เพราะเมื่อไรที่สารปนเปื้อนนี้เข้าสู่ร่างกายผ่านการกัด จะมีการผลิตแอนติบอดี “a-Gal” เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันปกป้องร่างกาย ด้วยเหตุนี้จึงเกิดอาการแพ้ขึ้นมานั่นเอง
อย่างไรก็ตามอาหารที่จะกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ได้ จะมีแค่ เนื้อสัตว์ (เนื้อแกะ เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อกระต่าย เนื้อจิงโจ้), ผลิตภัณฑ์จากนม (โยเกิร์ต ชีส ไอศกรีม ครีม) และ เจลาตินจากสัตว์ที่เติมลงในอาหาร (เยลลี่ อมยิ้ม มาร์ชเมลโล่)
เกสรผลไม้ ผัก สมุนไพร
ในผู้ใหญ่ที่แพ้ง่าย ส่วนมากมักแพ้ละอองเกสรดอกไม้ในอากาศ เพราะเกสรเหล่านี้จะไปกระตุ้นให้เกิดการผลิตแอนติบอดี IgE ต่อแอนติเจนในละอองเกสรดอกไม้ ซึ่งทำให้เกิดอาการแพ้นั่นเอง
อย่างไรก็ตามแอนติเจนเหล่านี้คล้ายคลึงกับที่พบในผลไม้ ผัก และสมุนไพรบางชนิด เมื่อกินพืชเหล่านี้ จึงทำให้เกิดอาการแพ้เช่นเดียวกัน
โดยละอองเกสรของต้นไม้ที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้มากที่สุดมาจาก ไม้เบิร์ช ไซเปรส ต้นซีดาร์ญี่ปุ่น น้ำยาง หญ้า และหญ้าแร็กวีด รวมถึงผักและผลไม้ อย่าง กีวี กล้วย มะม่วง อะโวคาโด องุ่น ขึ้นฉ่าย แครอท และมันฝรั่ง และสมุนไพรบางชนิด เช่น ยี่หร่า ผักชี ยี่หร่า พริกไทย และปาปริก้า
ทั้งนี้การแพ้เกสรผลไม้ ผัก และสมุนไพรอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้นหากใครกินผัก สมุนไพรเหล่านี้ แล้วเกิดอาการคันหรือรู้สึกเสียวซ่าที่ริมฝีปาก ลิ้น และลำคอ รวมถึงเกิดลมพิษและภูมิแพ้ ควรรีบพบแพทย์จะดีที่สุด
การแพ้อาหารที่เกิดจากการออกกำลังกาย
ในระหว่างการออกกำลังกายหนัก กระเพาะอาหารจะผลิตกรดน้อยกว่าปกติ ซึ่งหมายความว่าโมเลกุลเล็กๆ ในลำไส้ของเราจะมีแนวโน้มที่จะหลุดผ่านเยื่อมหุ้มเซลล์ไปสู่กระแสเลือด ทำให้เกิดปฏิกิริยา IgE และเกิดอาการแพ้ตามมาได้
ดังนั้นยิ่งคนนั้นมีแอนติบอดี IgE ต่ออาหารที่รับประทานก่อนออกกำลังกายอยู่แล้ว ความเสี่ยงที่จะกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้จะเพิ่มขึ้น อาการแพ้อาหารนี้ จึงเรียกว่า “การแพ้อาหารที่เกิดจากการออกกำลังกาย” ซึ่งจะมีอาการตั้งแต่ ลมพิษ บวม หายใจลำบาก และเกิดอาการภูมิแพ้ขึ้น
โดยอาหารที่จะกระตุ้นให้เกิดการแพ้ระหว่างออกกำลังกาย ได้แก่
- ข้าวสาลี
- อาหารทะเล
- เนื้อสัตว์
- เนื้อสัตว์ปีก
- ไข่
- นม
- ถั่ว
- องุ่น
- ขึ้นฉ่าย
อย่างไรก็ตามการแพ้กรณีนี้พบได้น้อยมาก จากการสำรวจพบเพียง 1- 17 คน ต่อประชากร 1,000 คนเท่านั้น โดยส่วนมากจะอยู่ในช่วงอายุ 35 ปี และผู้ที่มีอาการแพ้อื่นๆ ร่วมด้วย เช่น หอบหืด, เยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ และผื่นแพ้โรคผิวหนัง
“แพ้อาหาร” ทำสหรัฐสูญเสียถึง 24 พันล้านดอลลาร์ต่อปี
การแพ้อาหาร เป็นทั้งภาระด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต และค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ซึ่งน่าทึ่งว่าด้วยปริมาณคนแพ้อาหารที่มีมากขึ้นในสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้พวกเขาสูญเสียถึง 24 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี
เรื่อง “การแพ้อาหาร” จึงควรได้รับการดูแลอย่างจริงจัง และหากใครเริ่มไม่สบายตัวจากการกินอาหาร หรือเริ่มรู้สึกไม่ดีหลังออกกำลัง นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนว่าคุณต้องรีบพบแพทย์ ไม่เช่นนั้นการแพ้อาหารอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
ขอบคุณข้อมูลจาก : The Conversation