ทำความรู้จัก "Broken Heart Syndrome" เครียดเกินไปอาจทำร้ายหัวใจคุณ
“ความเครียด” ส่งผลให้การทำงานของหัวใจผิดปกติและตกอยู่ในภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง ส่วนใหญ่มีอาการกะทันหันและอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
Broken Heart Syndrome หรือ Stress Cardiomyopathy เป็นภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงจากความเครียด ซึ่งค้นพบครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่นในชื่อเรียกว่า Takotsubo Cardiomyopathy พบมากในหญิงวัยกลางคน มีความสัมพันธ์กับความเครียดจากโรคทางกาย (Physical Stress) หรือความเครียดด้านจิตใจ (Mental Stress) ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจไม่บีบตัวและอ่อนกำลังลงชั่วคราว หัวใจด้านล่างซ้ายผิดปกติโป่งออกรูปร่างคล้ายไหจับปลาหมึกของญี่ปุ่น อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันและเสียชีวิตได้
อย่าชะล่าใจ ! โรคหลอดเลือดสมองไม่ว่าวัยใดก็เป็นได้
Broken Heart Syndrome ไม่ทราบสาเหตุชัดเจน แต่มีความสัมพันธ์กับปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ ความเครียดจากปัญหาต่าง ๆ อาทิ ความเจ็บป่วยทางการแพทย์ การสูญเสียคนรัก ปัญหาการงาน การเงิน ความผิดหวังอย่างรุนแรง ทั้งนี้ความเครียดทั้งในระยะสั้นและระยะยาวสะสม ทำให้หลอดเลือดหดตัว หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ เกิดภาวะหัวใจขาดเลือดและล้มเหลวได้
อาการ Broken Heart Syndrome
แน่นหน้าอก
เจ็บหน้าอก
หอบเหนื่อย
หายใจลำบาก
หน้ามืด
ความดันเลือดต่ำ
การตรวจวินิจฉัย Broken Heart Syndrome อายุรแพทย์หัวใจจะพิจารณาจากอาการ ประวัติความเครียด และการตรวจทางห้องปฏิบัติการเป็นสำคัญ ประกอบไปด้วย
ซักประวัติ
ตรวจเลือด
ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ Electrocardiogram (ECG/EKG) ในผู้ป่วย Broken Heart Syndrome ลักษณะคลื่นหัวใจไฟฟ้าผิดปกติเหมือนกราฟไฟฟ้าหัวใจของผู้ป่วยหลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลัน
ตรวจหัวใจด้วยเครื่องสะท้อนเสียงความถี่สูง (Echocardiogram) ในผู้ป่วย Broken Heart Syndrome ลักษณะการบีบตัวของหัวใจห้องล่างซ้ายผิดปกติ ความแรงในการบีบตัวของหัวใจจะลดลง หัวใจห้องล่างซ้ายอ่อนกำลัง
การฉีดสีตรวจหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Angiography : CAG)
ภาวะ Broken Heart Syndrome ส่วนใหญ่ต้องรับไว้รักษาเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาล มีอาการตั้งแต่น้อยจนถึงมากและรุนแรงได้เช่นกัน วิธีการรักษาหากไม่รุนแรงอายุรแพทย์โรคหัวใจจะให้การรักษาด้วยยา สำหรับกรณีที่รุนแรงและมีภาวะหัวใจล้มเหลวร่วมด้วยอาจต้องมีการใส่ท่อและเครื่องช่วยหายใจ และต้องรักษาภาวะเครียดที่เป็นปัจจัยกระตุ้นร่วมด้วย จากรายงานวารสารต่างประเทศส่วนใหญ่หัวใจจะกลับมาปกติ มีโอกาสเสียชีวิตน้อยประมาณ 1% โอกาสเป็นซ้ำได้ 2 – 5%
การป้องกัน Broken Heart Syndrome
ทำใจให้สบาย ไม่เครียด ปรับมุมมอง เปลี่ยนความคิด นั่งสมาธิ
พูดคุยกับคนในครอบครัวและเพื่อน เพื่อแบ่งปันเรื่องราวและปัญหา อย่าแบกความเครียดไว้คนเดียว
ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
สนุกกับชีวิต ด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งการท่องเที่ยว ทำอาหาร เดินป่า ปลูกต้นไม้ เลี้ยงสัตว์ ฯลฯ
ตรวจเช็กสุขภาพหัวใจ นอกจากตรวจเช็กสุขภาพทุกปี ควรต้องตรวจเช็กสุขภาพหัวใจตามคำแนะนำของแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจ
อย่างไรก็ตาม Broken Heart Syndrome สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้จากความเครียด ทางที่ดีที่สุดคือการดูแลหัวใจ และอารมณ์ ให้เข้มแข็ง ตั้งรับกับทุกปัญหาด้วยความเข้าใจ มีวิธีจัดการความเครียดอย่างถูกวิธี และที่สำคัญหากมีอาการผิดปกติควรเข้าพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อรักษาในทันที
ขอขอบคุณข้อมูลสุขภาพจาก : โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ