รู้จักกลุ่มฮอร์โมนสำคัญรักษาสมดุลร่างกายก่อน“ผิวเครียด”แก่ก่อนวัย
เคยได้ยินประโยคที่ว่า “เครียดมากหน้าแก่” ไหม เรื่องจริงนะคะ เมื่อเราเครียดร่ายกายจะหลังสารหลั่งฮอร์โมนแห่งความเครียดทำให้ร่างกายรวนทั้งระบบ
มารู้จักกับ “โรคผิวเครียด” ที่นับเป็นโรคทางจิตวิทยาผิวหนังที่เรียกว่า Psychodermatology ซึ่งเกิดจากสภาวะจิตใจหรือความเครียด ที่กระตุ้นให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนบางชนิดออกมามากกว่าปกติ จนร่างกายเสียสมดุล ส่งผลกระทบต่อกระบวนการทำงานในร่างกาย รวมถึง "ผิวพรรณ" ด้วย
อาการของผิวเครียด
ผิวหนังระคายเคืองจากการอักเสบภายใน เพราะความเครียดถูกสะสมเป็นเวลานาน จะทำให้ระบบการย่อยอาหารทำงานได้ไม่ดี ส่งผลต่อภายนอกของร่างกาย โดยอาจมาในรูปแบบของสิว โรคสะเก็ดเงิน หรือโรคติดเชื้อทางผิวหนังอื่น ๆ
กินอาหารแบบไม่นับ "แคลอรี" อย่างไร ให้หุ่นดีไปยาวๆ
“เครียด” เสพติดได้โดยไม่รู้ตัว รู้ทันก่อนหมวกไตล้า
- ผิวแห้งกร้านขาดความชุ่มชื้นหมองคล้ำไม่สดใส ความเครียดเรื้อรังส่งผลให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนที่มีชื่อว่า "Cortisol" ซึ่งมีผลกระทบต่อผิวพรรณ เพราะฮอร์โมนตัวนี้จะไปลดความสามารถในการกักเก็บความชุ่มชื้นของผิวหนัง ทำให้ผิวแห้งขาดความชุ่มชื้น
- เกิดสิวจากความเครียด เนื่องจากร่างกายจะผลิตไขมัน เมื่อไขมันไปผสมกับเซลล์ผิวที่ตายแล้ว และแบคทีเรีย จะทำให้เข้าไปอุดตันในรูขุมขน เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดสิว ซึ่งการล้างหน้าบ่อย ๆ ก็อาจจะไม่สามารถช่วยแก้ปัญหานี้ได้ นอกจากสิวขึ้นแล้วความเครียดอาจจะทำให้ ประจำเดือนมาไม่ปกติในผู้หญิงได้อีกด้วย
- ผลเสียต่อหนังศีรษะและเส้นผม หนังศีรษะและเส้นผมของแต่ละคน ตอบสนองต่อภาวะความเครียดของจิตใจแตกต่างกัน บางคนเส้นผมมันมากกว่าปกติ แห้งแตกปลาย เกิดรังแค หรือผมร่วงจนผิดสังเกต ซึ่งทั้งหมดมีสาเหตุมาจากการที่เราจมอยู่กับความเครียดมาก ๆ
อย่างที่บอกในตอนแรกว่า ร่างกายของคนเรา ประกอบด้วย “ฮอร์โมน” ซึ่งเป็นสิ่งที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเพื่อสื่อสารและทำหน้าที่ร่วมกันกับอวัยวะต่างๆ เรามาทำความรู้จักฮอร์โมนกันให้ลึกกว่าเดิม เพื่อรักษาสมดุลร่างกาย ให้มั่นคงทั้งกายและใจ
กลุ่มฮอร์โมนแห่งความสุข
- เอ็นโดรฟิน (Endorphin) เป็นฮอร์โมนที่หลั่งออกมาจากใต้สมองที่รู้จักกันในชื่อ ‘สารสุข’ เปรียบเสมือนมอร์ฟีนธรรมชาติที่ร่างกายหลั่งขึ้นมาก็ต่อเมื่อมนุษย์มีความสุข ความพึงพอใจ ผ่อนคลาย และหลั่งเพื่อกระตุ้นความรู้สึกในแง่บวกเมื่ออยู่ในภาวะเครียดฮอร์โมนชนิดนี้ก็จะลดลง
วิธีการเพิ่มระดับฮอร์โมน ทำสิ่งที่ตัวเองชอบ หรือให้ความสนใจ ออกกำลังกายเพื่อกระตุ้นการหลั่งของเอ็นโดรฟิน ทำให้จิตใจสงบ รวมทั้งการมีเพศสัมพันธ์ที่ถึงจุดสุดยอด
- โดพามีน (Dopamine) เป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวกับความพึงพอใจ รักใคร่ และยินดี เป็นสารที่หลั่งออกจากสมองกับเซลล์ประสาทในร่างกาย โดพามีนจะเกี่ยวเนื่องกับระบบประสาทหลายๆ ส่วน เช่น การทำงานของระบบประสาทสมอง การเคลื่อนไหว ความจำ และการเรียนรู้ ถ้าโดพามีนในร่างกายของเราต่ำเกินไปจะทำให้มีความรู้สึกหดหู่และซึมเศร้าได้ ซึ่งนับว่าเป็นโรคทางจิตเวชอย่างหนึ่ง ยาที่รักษาโรคทางจิตเวชในปัจจุบันจึงมีการพัฒนาเอาโดพามีนมาใช้ในการรักษา นอกจากนี้ยังพบว่าในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีโดพามีนต่ำเกินไปทำให้เป็นโรคพาร์กินสันได้ เพราะฮอร์โมนที่ลดลงทำให้ระบบการทำงานของประสาทและกล้ามเนื้อไม่สัมพันธ์กัน ทำให้มีการสั่น และก้าวขาไม่ออก
วิธีการเพิ่มระดับฮอร์โมน การออกกำลังกายอย่างเหมาะสม และการรับประทานอาหารที่มีกรดอะมิโนและโปรตีนอย่างเพียงพอ เพราะโดพามีนสังเคราะห์มาจากกรดอะมิโนที่ชื่อ Tyrosin ซึ่งจะได้จากอาหารประเภทโปรตีนที่เรารับประทานอยู่ทุกวัน เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ นม ถั่ว ฯลฯ
- เซโรโทนิน (Serotonin) เป็นสารต้านความเครียดที่หลั่งจากสมองและหลั่งจากทางเดินอาหารที่มีผลกับการทำงานของกล้ามเนื้อ อารมณ์ และพฤติกรรม และการนอนหลับ ถ้าระดับฮอร์โมนต่ำเกินไปจะทำให้เราหงุดหงิด นอนไม่ค่อยหลับ ไม่มีสมาธิ มีภาวะปวดศีรษะ เป็นไมเกรน หรืออาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้
วิธีการเพิ่มระดับฮอร์โมน ออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อกระตุ้นการหลั่งของฮอร์โมน กินอาหารที่มีโปรตีน เพราะเซโรโทนินสร้างมาจากทริปโตเฟน (Tryptophan) ซึ่งเป็นกรดอะมิโนเอซิตตัวหนึ่งที่สามารถสังเคราะห์ฮอร์โมนได้
ไขข้อสงสัยสุขภาพ ทำไม "เครียด" แล้วความดันสูง
กลุ่มฮอร์โมนความเครียด
- คอร์ติซอล (Cortisol) เป็นฮอร์โมนที่สร้างจากต่อมหมวกไตและถือเป็นสเตียรอยด์ชนิดหนึ่งที่ร่างกายสามารถสังเคราะห์ได้เอง คอร์ติซอลเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวกับความเครียด เมื่อมีภาวะเครียด มีเหตุการณ์คับขัน มีเรื่องวิตกกังวล หรือมีความป่วยไข้ของร่างกาย ฮอร์โมนตัวนี้จะถูกกระตุ้นให้หลั่งมากขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมต่อการฟื้นฟูร่างกาย คอร์ติซอลจะกระตุ้นการตอบสนองของเซลล์ในร่างกายต่อภาวะการอักเสบ ความเจ็บปวด ภาวะติดเชื้อ และกระตุ้นให้ตับสร้างน้ำตาลมากขึ้น เนื่องจากร่างกายต้องการพลังงานมากกว่าปกติในภาวะเครียด ทำให้กินเยอะขึ้น หิวบ่อยขึ้น และน้ำหนักขึ้นได้เร็วกว่าปกติ นอกจากนี้ยังช่วยควบคุมระดับน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย เพื่อรักษาระดับความดันให้ทำงานได้อย่างปกติด้วย
วิธีการรักษาฮอร์โมนให้สมดุล คือ พักผ่อนให้เพียงพอ เนื่องจากคอร์ติซอลจะหลั่งสูงในช่วงเช้า และจะลดลงในช่วงบ่าย ถ้าเรานอนเป็นเวลาระดับการทำงานของคอร์ติซอลจะเพิ่มและลดตามปกติ แต่สำหรับคนที่นอนไม่พอหรือนอนไม่เป็นเวลาจะมีการหลั่งของฮอร์โมนที่ผิดปกติและผิดช่วงเวลาทำให้ร่างกายไม่สดชื่น และนอนไม่หลับ
- อะดรีนาลีน (Adrenaline) หรือ อิพิเนฟริน (Epinephrine) เป็นฮอร์โมนที่หลั่งจากต่อมหมวกไตเช่นกัน และเป็นสารแห่งความโกรธ และเกี่ยวเนื่องกับการป้องกันตัว ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนนี้เพื่อให้มีภาวะเตรียมพร้อมให้ร่างกายเข้าสู่การตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินและการใช้พลังงาน ทำให้กล้ามเนื้อหลอดเลือดหัวใจทำงานอย่างเต็มที่ หัวใจบีบตัวมากขึ้น อัตราการเต้นของหัวใจสูงขึ้น ความดันเลือดสูงขึ้น และทำในสิ่งที่เมื่อก่อนไม่สามารถทำได้ เช่น เมื่อเกิดเหตุไฟไหม้จะรีบวิ่งเข้าไปยกของหนักในบ้านออกมาได้ โดยปกติแล้วอะดรีนาลินจะหลั่งช่วงที่เราตื่นเต้นหรือมีภาวะฉุกเฉินแล้วจะลดลงมาอยู่ในระดับปกติ แต่ถ้าหลั่งมากผิดปกติอาจเกิดจากเนื้องอกที่ต่อมหมวกไต ซึ่งทำให้มีอาการหัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูงเรื้อรัง ควบคุมได้ยาก
นอกจากนี้ยังมี ฮอร์โมนเพื่อการนอนหลับ อย่าง “เมลาโทนิน”ที่ส่งผลต่อการพักผ่อนนอนหลับ ทำให้ผ่อนคลาย ช่วยลดอุณหภูมิในร่างกาย ทำให้สามารถนอนหลับได้ดี แต่เมื่อร่างกายขาดเมลาโทนิน จะทำให้หลับยากขึ้น หลับได้ไม่ลึก ทำให้ตื่นนอนแล้วไม่สดชื่น
โดยการเพิ่มฮอร์โมนคือการปรับอุณหภูมิที่พอเหมาะแก่การนอนหลับจะอยู่ประมาณ 18-25 องศาเซลเซียสหลับก่อน4 ทุ่ม เพราะร่างกายจะเริ่มผลิตเมลาโทนิน ตั้งแต่เวลาประมาณ 21.00 น. – 22.00 น. โดยจะมีอัตราการสร้างมากที่สุดช่วง 2.00 น. – 4.00 น. จึงควรนอนหลับให้สนิทในเวลาดังกล่าวนอนในห้องที่มืดที่สุด กระบวนการสร้างเมลาโทนินถูกกระตุ้นโดยความมืด และจะถูกยับยั้งโดยแสงสว่าง ดังนั้นการนอนในห้องที่มืดสนิท ไม่มีแสงสว่างรบกวนจะช่วยให้ร่างกายผลิตเมลาโทนินอย่างต่อเนื่องได้เต็มประสิทธิภาพ
เมื่อความเครียดมาเยื่อนใครก็ห้ามไม่ได้แต่เราต้องรู้จักรับมือเพื่อที่จะอยู่กับมันให้ได้อย่างมีสติ ลองหากิจกรรมอื่นทำออกไปเที่ยวไปสังสรรค์กับเพื่อนเป็นงานอดิเรก อย่างเช่น การออกกำลังกาย ฟังเพลงอ่านหนังสือเล่มโปรด แต่ถ้าหากวันนั้นเหนื่อยเกินไปแล้วที่จะทำอะไร ลองหลับตาในห้องเงียบๆ พักสมอง พักร่างกาย หลุดพ้นจากเรื่องวุ่นวายอยู่กับตนเองให้มากขึ้นหาอะไรอร่อยๆรับประทาน อย่าหาสูตรทรีทเมนต์ผิวหน้าและผิวตัวเพื่อปรนิบัติผิวไม่ให้เกิดความเครียดจนเกินไปด้วยนะคะ และหากอาการเป็นสิวหรือความผิดปกติของร่างกายไม่หายไปควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง
ข้อมูลสุขภาพ : โรงพยาบาลพญาไท
8 ฮอร์โมนสำคัญของร่างกาย ที่ต้องทำความรู้จักและรับมือให้เป็น
LOVE HORMONE รู้จักฮอร์โมนความรัก ตัวสร้างสายใยผูกพัน