เกิดได้กับทุกคน! เช็กสัญญาณเตือนเป็น “โรคซึมเศร้า” ไม่รู้ตัว
“ซึมเศร้า” โรคร้ายพรากชีวิตคนทั่วโลกไปอย่างคาดไม่ถึง เพราะเกิดขึ้นได้กับทุกคนและหลายคนมักไม่รู้ตัวว่าเป็น เช็กสัญญาณเตือนป่วยทางจิตก่อนสายเกินแก้
หลายคนที่มีบุคลิกร่าเริง สดใส ยิ้มแย้มมาโดยตลอด ใครจะคาดคิดว่าวันหนึ่งบุคคลเหล่านั้นก็สามารถป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้ ซึ่งส่วนใหญ่มักไม่รู้ตัวว่าเป็น เพราะแค่รู้สึกว่าไม่รู้ว่าเป็นอะไร แต่ข้างในใจนั้นเศร้ามาก ไม่ได้รู้สึกถึงขนาดว่าอยากจะฆ่าตัวตาย แต่แค่รู้สึกว่าชีวิตนั้นแย่ไปหมด
แคทรียา อิงลิช นักแสดงและนักร้องสาวควีนออฟแดนซ์ ยอมรับผ่านการเล่าประสบการณ์ชีวิตด้วยเช่นกันว่า ตัวเองเป็นคนที่สดใสร่าเริง แต่มีช่วงหนึ่งของชีวิตที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าด้วย ซึ่งเกิดจากบทละครที่ต้องเล่น
DO’S & DON’T ควรทำตัวอย่างไร เมื่อคนใกล้ชิดเป็น “โรคซึมเศร้า”
แอปฯ “DMIND” ตัวช่วยคัดกรองตัวเอง-คนใกล้ชิด เสี่ยงภาวะซึมเศร้าหรือไม่
ตอนนั้นต้องเล่นบทร้ายที่มีคาแรกเตอร์เหมือนไบโพลาร์เป็นครั้งแรก แล้วเราเอาตัวเองออกจากบทไม่ได้ ทำให้ป่วยแบบไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ จนทนไม่ไหวตัดสินใจไปพูดคุยกับจิตแพทย์
มีอยู่ตอนนึงร้องไห้ไป 30 กว่าฉาก เหมือนเราเอาตัวเองออกจากบทไม่ได้ เราดึงอารมณ์ตัวเองออกมาไม่ได้ แล้วก็ไม่รู้ตัวด้วย คือกลับบ้านแล้วเราก็ยังนึกถึงฉากนั้น กลับบ้านก็รู้สึกอยากร้องไห้ต่อ เป็นอย่างนั้นประมาณ 5-6 เดือน เราก็คิดว่าฉันเป็นอะไร ชีวิตเหมือนดาวน์ไปเลย ไม่ได้ถึงขนาดอยากจะฆ่าตัวตาย แต่เคยดิ่งมาก ๆ เหมือนจะรู้สึกว่า จะอยู่ไปทำไม เคยแวบนึง ว่าไม่ไหวละ ฉันไม่รู้จะอยู่แล้วมันไม่มีความสุข ทุกอย่างเป็นในทางลบหมด แต่ไม่รู้ว่าเป็นอะไร
โรคซึมเศร้า ถือเป็นภัยเงียบที่น่ากังวลไม่แพ้กับการเจ็บป่วยทางกาย เพราะหลายคนมักไม่รู้ตัวว่าเป็น ทำให้โรคนี้กลายเป็นอีกหนึ่งโรคร้ายที่พรากชีวิตคนทั่วโลกไปอย่างคาดไม่ถึง โดยนพ.อโณทัย สุ่นสวัสดิ์ จิตแพทย์ ศูนย์จิตรักษ์ โรงพยาบาลกรุงเทพ ได้มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าที่น่าสนใจ ดังนี้
รู้จัก “โรคซึมเศร้า”
โรคซึมเศร้า (Depression) คือ โรค ๆ หนึ่งเหมือนกับโรคอื่น ๆ ซึ่งสามารถเกิดได้กับทุกคน ถ้าวัดกันตามสถิติแล้ว สามารถพบได้ประมาณ 20 % ของประชากรทั่วๆไป
อย่างไรก็ตามโรคซึมเศร้าเป็นคนละโรคกับโรคไบโพลาร์ (Bipolar) แม้จะเป็นโรคในกลุ่มอารมณ์เหมือนกัน แต่โรคไบโพลาร์นั้น คือโรคอารมณ์ 2 ขั้ว ระหว่างขั้วซึมเศร้าและขั้วอารมณ์ดีผิดปกติ โดยอาจมีอารมณ์เศร้าซึมลึกจากนั้นก็สลับไปคึกเกินขนาด เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย สลับกันไปเกินที่จะคาดเดาได้ ขณะที่โรคซึมเศร้านั้นจะมีแค่ขั้วเดียว คือ ขั่วของซึมเศร้าเท่านั้น ไม่ได้มีขั้วอารมณ์อื่นสลับกันไปมา
สัญญาณบ่งบอกโรคซึมเศร้า
ปัจจุบันเรามีความเข้าใจว่าโรคซึมเศร้า เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสมองบางอย่าง ซึ่งสาเหตุบางทีก็มาจากการเผชิญกับความเครียดในระยะเวลานาน ๆ จนกระทั่งสมองของเราสูญเสียความสมดุลไป แต่ในบางคนอาจเกิดจากภาวะพันธุกรรมบางอย่าง ซึ่งถ่ายทอดกันมาได้
การสังเกตอาการตัวเองง่าย ๆ ว่าเราเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ ข้อแรกคือหากเรารู้สึกว่าระกับพลังของเรากำลังลดลง ตรงนี้อาจเป็นสัญญาณเตือนแรก ๆ ว่าเรากำลังเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้าแล้ว นอกจากนี้หากใครมีอาการดังต่อไปนี้ก็อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกโรคซึมเศร้าได้เหมือนกัน มีดังนี้
- เศร้า หดหู่
- ไม่อยากพบใคร
- ไม่อยากทำอะไร
- เบื่ออาหาร
- ไม่หลับ หรือหลับมากจนเกินไป
- อ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรงจะทำอะไร
- มีความคิดอยากทำร้ายหรือจบชีวิตตัวเอง
ส่วนคนรอบข้าง การสังเกตว่าคนใกล้ชิดของเราเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ แนะนำว่าอาจดูเป็นภาพรวมได้ว่า ตอนนี้เขาเริ่มมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปไหม เช่น เดิมเขาอาจเป็นคนสนุกสนาน ร่าเริง คุยสนุกสนานตลอดเวลา กลับกลายเป็นคนเงียบ ไม่อยากพูดคุย ไม่อยากทำอะไร เป็นต้น หากมีอาการเหล่านี้ การเข้าไปพูดคุย เข้าไปถามไถ่สักนิดว่าเป็นอย่างไรบ้าง โอเคหรือเปล่า ทำไมช่วงนี้เงียบ ๆ ไป วิธีนี้ก็อาจเป็นการประเมินที่ง่ายที่สุดสำหรับคนรอบข้าง
อาการซึมเศร้าแตกต่างกันตามช่วงวัย
เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากว่าในแต่ละช่วงวัยของมนุษย์ บางครั้งอาการแสดงหรือความเครียดหรืออาการของโรคซึมเศร้าแตกต่างกันออกไป ดังนี้
- ในช่วงวัยรุ่น
เป็นช่วงที่ฮอร์โมนกำลังพลุ่งพล่าน อาการแสดงของโรคซึมเศร้า อาจจะเป็นลักษณะของอารมณ์ที่ร้อนขึ้น รู้สึกอารมณ์เสียตลอดเวลา อันนั้นก็อาจจะเป็นอาการแสดงของซึมเศร้าในช่วงแรก ๆ ได้เหมือนกัน
- ในคนวัยทำงาน
จะมีพฤติกรรม ลักษณะการแสดงของโรคซึมเศร้าที่เกี่ยวข้องกับงานมากขึ้น อาจจะเป็นเรื่องของความเครียดในงาน
- ในผู้สูงอายุ
จะเกี่ยวข้องกับความเสื่อมของสมองด้วยเสมอ อาการแสดงของภาวะสมองเสื่อม หรืออัลไซเมอร์ในช่วงแรก ๆ บางครั้งก็แสดงออกมาในลักษณะของซึมเศร้า หรือวิตกกังวลได้เหมือนกัน
โดยมากอาการซึมเศร้าในผู้สูงอายุ มักจะแสดงออกมาในรูปแบบของการวิตกกังวลในเรื่องสุขภาพร่างกาย เจ็บตรงนั้น ไม่สบายตรงนี้ ต้องไปพบแพทย์ อาการเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้เป็นอาการแสดงเริ่มต้นของอาการซึมเศร้าในผู้สูงอายุ
- ในหญิงหลังคลอด
บางครั้งเป็นช่วงเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน จากเดิมที่มีทารกอยู่ในครรภ์ มีระดับฮอร์โมนแบบหนึ่ว พอหลังคลอดก็จะมีการเปลี่ยนแปลงของระดับของฮอร์โมนวูบลงมาอย่างรวดเร็ว บางครั้งการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเหล่านั้น ก็สามารถทำให้เกิดอาการซึมเศร้าหลังคลอดได้เหมือนกัน ซึ่งส่วนใหญ่คุณแม่อาจมีท่าทางซึม ๆ ดูร้องไห้ง่าย ๆ หรือดูเซนซิทีฟมากขึ้น
การรักษารักษาโรคซึมเศร้า
ในปัจจุบันมีแนวทางในการรักษาโรคซึมเศร้าเยอะมาก ดังนี้
- การรักษาด้วยการใช้ยา
เป็นแนวทางการรักษาที่เรามักจะได้ยินเสมอ ซึ่งในปัจจุบันยาที่เราใช้ในการรักษาโรคซึมเศร้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีผลข้างเคียงลดน้อยลงไปมากเมื่อเทียบกับหลาย ๆ ทศวรรษที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นการใช้ยาจึงเป็นอีกทางเลือกที่สามารถใช้ได้ในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
- การรักษาแบบจิตบำบัด
ในปัจจุบันเรามีหลากหลายเครื่องมือในการทำจิตบำบัด เรียกได้ว่าแต่ละคนที่มีความต้องการแตกต่างกัน แพทย์ก็จะใช้วิธีการทำจิตบำบัดที่แตกต่างกันออกไป เพื่อให้สามารถเข้าใจคน ๆ นั้น และช่วยเขาได้จริง ๆ
- การรักษาแบบอื่น
มีเทคโนโลยีบางอย่างที่ใช้รักษาโรคซึมเศร้าได้เช่นเดียวกัน ได้แก่ การรักษาด้วยคลื่นแม่เหล็ก และการรักษาด้วยไฟฟ้า ซึ่งเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมาก และก็มีมาตั้งนานแล้ว
“บาลานซ์ชีวิต” ป้องกันโรคซึมเศร้า
สำหรับหลายคนที่ถามว่ามีวิธีป้องกันโรคซึมเศร้าไหม คำตอบของคำถามนี้เป็นสิ่งที่พูดได้ยากมาก แต่สิ่งที่อยากจะบอกอยู่เสมอคือ “การบาลานซ์ชีวิตตัวเองให้ดี”
ชีวิตของคนเรามีหลายแง่มุม หลาย ๆ ด้าน งานก็เป็นแค่ด้านหนึ่งของคนรุ่นใหม่ มันยังมีเรื่องของครอบครัว งานอดิเรก และยังมีเรื่องของสิ่งที่เราสนใจ และเราอยากจะทำ ปัจจัยหลาย ๆ อย่างเหล่านั้น เรามีความจำเป็นที่จะต้องทำทุกอย่างให้รอบด้าน เพื่อให้ชีวิตของเรามีความสมดุลมากที่สุด แล้วถ้าเราสามารถบาลานซ์ชีวิตของเราได้ในลักษณะนี้ มันก็จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดโรคซึมเศร้าได้
ปัจจุบันเรามีความเข้าใจเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า แล้วก็เรื่องของความเครียดเยอะขึ้นมาก ไม่อยากให้ทุกคนกลัวการเข้ามาพูดกับจิตแพทย์ว่าจะถูกตีตราว่าเราเป็นคนบ้า หรือเป็นโรคร้ายแรงเสมอไป ดังนั้นอย่ารอจนถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้า ถ้ารู้สึกไม่โอเค ชีวิตเครียด จัดการไม่ได้ อยากให้ลองเข้ามาพูดคุยกัน เพราะสุขภาพดีเริ่มต้นด้วยสุขภาพใจ
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลกรุงเทพ
โรคซึมเศร้า โรคที่ต้องการยาและคนเข้าใจ มากกว่าผู้ตัดสิน
แยกให้ออกระหว่าง "ซึมเศร้า" กับ "ไบโพลาร์" เหมือนหรือต่างอย่างไร