วิธีรับมือปัญหาการบูลลี่(Bully)ที่ไม่ควรมองเป็นเรื่องปกติ
สถิติล่าสุดปี 2566 พบว่า เด็กและเยาวชน 86.9% ถูกกลั่นแกล้งรังแกในโรงเรียนกว่า76% ถูกล้อเลียนหน้าตาและบุคลิก รวมทั้งการตอกย้ำปมด้อยและการทำร้ายร่างกาย ซึ่งไม่ควรมีใครถูกบูลลี่และไม่ควรมองว่าเป็นเรื่องปกติ แนะวิธีรับมือที่เซฟใจตัวเองมากที่สุด
จากกรณีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดยกองสุขศึกษา ได้ดำเนินการเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพ ประเด็นพฤติกรรมการถูกกลั่นแกล้งรังแก (บูลลี่) ด้วยการเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 21 กรกฎาคม– 10 สิงหาคม2566 จำนวน 37,271 คน พบว่าเด็กและเยาวชนเคยถูกกลั่นแกล้งรังแกร้อยละ 44.2 โดยถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียนสูงถึงร้อยละ 86.9 และเรื่องที่มักถูกกลั่นแกล้งรังแก
- ล้อเลียนหน้าตา หรือบุคลิก ร้อยละ 76.6
- ตอกย้ำปมด้อย ด่าทอ ร้อยละ 63.3
- ทำร้ายร่างกาย ร้อยละ 55.1
ผลสำรวจพบเด็ก-เยาวชนเคยถูกบูลลี่ถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียนสูง!
โรคขาดความเมตตา ภาวะเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ดาบ 2 คม ยุคไซเบอร์
รู้จักคำว่าบูลลี่ คืออะไร ?
บูลลี่ “Bully” คือ พฤติกรรมรุนแรง กลั่นแกล้ง รังแกผู้อื่นทั้งทางวาจาและร่างกาย ซึ่งหลายครั้งสร้างผลกระทบทางด้านความรู้สึกมากมายจนอาจเกิดเป็นแผลทางใจฝังลึกจนยากเยียวยา หรืออาจลุกลามไปจนเกิดการปะทะและสร้างบาดแผลทางกายได้
พฤติกรรมข่มขู่กับการบูลลี่ อาจแยกกันไม่ได้เด็ดขาด ด้วยส่วนใหญ่มักเกิดจากการกระทำของผู้ที่คิดว่าตนมีอำนาจมากกว่ารังแกผู้ที่ด้อยกว่าหรือคนตัวใหญ่ชอบรังแกคนตัวเล็ก พฤติกรรมเหล่านั้นอาจเกิดซ้ำ ๆ ซึ่งหากต้องเผชิญการทำร้ายครั้งแรก ผู้ถูกกระทำอาจให้อภัยได้ แต่ถ้าเกิดขึ้นบ่อยๆ ซ้ำๆ อาจกลายเป็นความเครียดหรือความแค้นในที่สุด นอกจากนี้ผู้กระทำส่วนใหญ่มีเป้าหมายชัดเจนว่าต้องการให้ผู้อื่นอับอาย เจ็บตัว เสื่อมเสีย หรือด้อยค่าลง
สามารถจำแนกการบูลลี่ได้
- บูลลี่ทางร่างกาย เป็นการทำร้ายร่างกายอีกฝ่ายให้เกิดการบาดเจ็บ มีบาดแผล ซึ่งสามารถมองเห็นได้จากภายนอก บางกรณีอาจส่งผลต่อจิตใจอีกด้วย
- บูลลี่ทางวาจา การพูดส่อเสียด ล้อเลียน ใส่ร้าย การประจานด้วยคำพูดให้ผู้อื่นได้ยิน นอกจากจะสร้างความอับอาย วิตกกังวล อาจสร้างความเครียด เก็บกด ส่งผลถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้า หรือหวาดกลัวสังคม ถือเป็นบาดแผลทางใจที่เจ็บปวดไม่น้อย
- บูลลี่ทางสังคม เป็นการสร้างกระแสสังคมรอบข้างให้โหมกระหน่ำมายังเหยื่อของการ บูลลี่ เสมือนการยืมมือคนรอบข้างให้ร่วมกันทำร้ายบุคคลเพียงคนเดียว เช่น การปล่อยคลิปของเหยื่อ หรือการสร้างข่าวลือ จนผู้เสพหลงเชื่อและพร้อมจะแชร์และกระพือข่าวให้ไปในวงกว้างขึ้น จนกว่าผู้ถูกกระทำไม่มีที่ยืนทางสังคม
รับมืออย่างไรกับการถูกบูลลี่
หลายครั้งที่การบูลลี่เกิดขึ้นเพียงเพราะความสนุกชั่ววูบ ความโกรธชั่วคราว หรือเป็นเพียงการตัดสินใจชั่วขณะ แต่ผลที่ตามมาอาจมากมายและส่งผลยาวนานสำหรับผู้ถูกกระทำ ดังนั้นการรู้จักรับมือกับการบูลลี่อาจช่วยหลีกเลี่ยงบาดแผลทั้งทางกาย ใจ และสังคม
- ใช้ความนิ่งสยบการบูลลี่ การนิ่งเฉยต่อการบูลลี่ช่วยให้เรื่องราวการบูลลี่หายไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากผู้กระทำมักมีเจตนาให้เหยื่อตอบโต้ เพื่อสร้างกระแสความรุนแรง หรือเพิ่มความสะใจ แต่เมื่อผู้ถูกกระทำเลือกที่จะนิ่งเฉย ผู้ลงมือบูลลี่อาจรู้สึกเบื่อและถอยทัพไปเองในที่สุด
- ตอบโต้อย่างสุภาพ ด้วยคำพูดและการแสดงออกว่าไม่ได้รู้สึกสนุก หรือไม่ชอบการกระทำรวมถึงวาจาต่างๆ ที่ถูกกล่าวถึงด้วยคำพูดและท่าทีสุภาพ ไม่ตะโกน ขึ้นเสียง หรือใช้คำหยาบคาย รวมถึงชี้แจงอย่างชัดเจนหากเรื่องที่ถูกกล่าวหาไม่เป็นจริง
- พูดคุยกับเพื่อนร่วมชะตากรรมเพื่อช่วยกันแก้ไข บางครั้งการถูกบูลลี่ไม่ได้เกิดขึ้นกับบุคคลเพียงคนเดียว การหาผู้ร่วมถูกกระทำจะเป็นการเพิ่มหลักฐานและพยานว่า ผู้บูลลี่สร้างเรื่องขึ้นทำร้ายเหยื่อมากกว่าจะเป็นเรื่องจริง นอกจากนี้เพื่อนร่วมชะตากรรมอาจเป็นที่ปรึกษาคลายทุกข์ได้เป็นอย่างดี
- เปลี่ยนสิ่งแวดล้อม หากการบูลลี่นั้นทำร้ายร่างกายหรือจิตใจจนยากยอมรับ การเปลี่ยนที่ทำงาน กลุ่มเพื่อน ก็อาจช่วยฟื้นฟูภาวะบอบช้ำจากการถูกบูลลี่ได้เร็วขึ้น
- ปรึกษานักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ หลายครั้งที่การบูลลี่ล้ำเส้นเหยื่อจนกัดกินจิตใจ สร้างบาดแผล จนผู้ถูกกระทำไม่สามารถอยู่ในสังคมต่อไป บางกรณีอาจกลายเป็นความเครียด ปลีกตัวจากสังคม ไปจนถึงขั้นเก็บกด เป็นโรคซึมเศร้า และจบลงด้วยการฆ่าตัวตาย ดังนั้นทางออกที่ดีคือการพบผู้เชี่ยวชาญไม่ว่าจะเป็นนักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์ เพื่อปรึกษา ทำการรักษาอย่างถูกวิธีและมีประสิทธิภาพ
สอนลูกติดเกราะป้องกันบูลลี่และไซเบอร์บูลลี่ลดปัญหาแผลใจระยะยาว
หากรู้ตัวว่าเป็นผู้เริ่มบูลลี่ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ ให้คำนึงไว้ว่าไม่ว่าการกระทำใดๆ ที่ก่อให้บุคคลอื่นรู้สึกด้อยค่า ย่ำแย่ อับอาย เสื่อมเสีย ลองถอยออกมาสักก้าว หายใจเข้าออกอีกหลายๆ ครั้ง ก่อนลงมือแชร์ กดไลค์ หรือเขียน พูดออกไป เพราะสิ่งเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว แม้เราจะลบออกสักกี่ครั้ง ก็ยังฝังในจิตใจของผู้ถูกกระทำและไม่ใช่เรื่องที่ดีไม่ว่าจะกับใครก็ตาม
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลสมิติเวช
ภาพจาก : shutterstock
“ซึมเศร้า” สัญญาณ-ประเภท ส่งต่อผ่านทางพันธุกรรมได้หรือไม่?
ลิสต์ 11 อาหารช่วยความเครียด-จิตใจสงบช่วยให้มีความสุขขึ้น