เช็ก 5 สัญญาณ “โรคเก็บสะสมของ” บ้านรก-ตัดสินใจทิ้งของไม่ได้!
หลายต่อหลายครั้งที่เราเห็นข่าวผู้เช่าบ้านหรือคอนโด ทำห้องรกจนขยะล้นออกมาส่งกลิ่นเหม็น รู้หรือไม่?นั้นอาจเป็นพฤติกรรมของโรคเก็บสะสมของที่อาจเป็นร่วมกับโรคซึมเศร้า โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคจิตเวชที่ควรพบแพทย์
โรคเก็บสะสมของ หรือ Hoarding Disorder คืออาการทางจิตเวชชนิดหนึ่งของคนที่ชอบเก็บสะสมของไว้มาก เสียดาย ไม่กล้าทิ้ง ยึดติดว่าทุกชิ้นเป็นของสำคัญ จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน หรือถึงขั้นอาจทำให้เกิดอันตราย เช่น หกล้มเพราะสะดุดข้าวของ ข้าวของล้มทับ หรือป่วยเป็นภูมิแพ้จากห้องรก โรคอันตรายจากหนู แมลงสาปหรือสัตว์เลื้อนคลานอื่นๆ ซึ่งโรคนี้เป็นโรคที่ถูกเพิ่มเข้ามาในเกณฑ์วินิจฉัยโรคทางจิตเวช (DSM 5) เมื่อ พ.ศ. 2556
สัญญาณโรคแพนิค เกิดจากอะไร? วิธีรักษาและดูแลตัวเองเบื้องต้น
5 โรควิตกกังวล จิตเวชที่คนวัยทำงานมักเป็นแต่ไม่รู้ตัว
อาการโรคเก็บสะสมของ เริ่มสั่งสมมาตั้งแต่การมีพฤติกรรมเก็บสะสมของตั้งแต่ตอนที่ยังเป็นวัยรุ่น แต่อาการจะแสดงชัดเจนเมื่ออายุ 30 ปีขึ้นไป เพราะในช่วงวัย 30 ปี ข้าวของเครื่องใช้จะเยอะขึ้น และเริ่มแสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยไม่ยอมทิ้งอะไรเลย โดยจะเก็บเอาไว้จนรกบ้าน ตรงข้ามกับคนทั่วไปที่ส่วนใหญ่ในวัยนี้จะเริ่มแยกแยะของเพื่อทิ้งและเพื่อเก็บ แต่ผู้ที่ป่วยจะตัดใจทิ้งสิ่งของได้ยาก และเมื่ออายุมากขึ้นสิ่งของที่เก็บสะสมไว้ก็ยิ่งมีมากขึ้น และอาการของโรคก็จะรุนแรงขึ้นถึงขั้นเริ่มเก็บของที่ไม่สำคัญแล้ว โดยกลับคิดว่ามันยังสำคัญหรือยังมีประโยชน์ต่อตนเองอยู่
โรคเก็บสะสมของเกิดจากอะไร?
โรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่จากการศึกษาพบว่ามีอยู่หลายสาเหตุ
- พันธุกรรม สำหรับคนที่มีสมาชิกครอบครัว โดยเฉพาะญาติสายตรง เช่น พ่อหรือแม่ ที่เป็นโรคชอบสะสมของก็มีสิทธิ์ป่วยเป็นโรคชอบสะสมของ โดยพบว่ากว่า 80% ของผู้ป่วยจะมีญาติที่มีพฤติกรรมชอบสะสมของเช่นเดียวกัน
- สมองได้รับการบาดเจ็บ จากการศึกษากลุ่มบุคคลที่ได้รับบาดเจ็บที่สมองส่วนหน้าจนถึงสมองส่วนกลาง พบว่า ก่อนหน้านั้นพวกเขาไม่เคยมีพฤติกรรมสะสมสิ่งของที่ไร้ประโยชน์เลย จนกระทั่งได้รับบาดเจ็บที่สมอง และผู้ที่สมองบางส่วนทำงานลดลง
สิ่งของที่พบได้บ่อย
โรคนี้มักจะสะสมสิ่งของดังต่อไปนี้ สื่อสิ่งพิมพ์ ถุงพลาสติก เสื้อผ้า ขวดน้ำ ในบางรายอาจสะสมถึงขั้นขยะ เศษอาหาร ซึ่งของเหล่านี้เป็นแหล่งกำเนิดของเชื้อโรคต่างๆ อีกด้วย
อาการของโรคเก็บสะสมของ
- ไม่กล้าตัดสินใจทิ้งข้าวของเลยและมีความกังวลใจมากเมื่อต้องทิ้งข้าวของ
- รู้สึกยากลำบากในการจัดเรียงข้าวของให้เป็นหมวดหมู่
- รู้สึกทนทุกข์กับการเป็นเจ้าข้าวเจ้าของอย่างมาก หรือรู้สึกละอายใจเพราะข้าวของที่ตัวเองเก็บ
- ไม่ไว้ใจ กลัวคนอื่นจะมาแตะต้องข้าวของตัวเอง และไม่ยอมให้ใครมาหยิบยืมไปด้วย
- มีความคิดและการกระทำที่หมกมุ่น เช่น กลัวว่าถ้าทิ้งสิ่งใดไปแล้ว ในอนาคตจะไม่มีใช้
- ไม่สามารถดำเนินชีวิตโดยปกติได้ เช่น ไม่มีพื้นที่อยู่อาศัย แยกตัวออกจากสังคม ทะเลาะกับสมาชิกในครอบครัวหรือคู่สมรส มีปัญหาทางการเงิน มีปัญหาด้านสุขภาพ
เช็กสัญญาณซึมเศร้า พบอย่างน้อย 5 อาการรีบพบจิตแพทย์
5 สัญญาณเข้าข่ายโรคสะสมของ
- เก็บสิ่งของที่ไม่จำเป็นเอามาไว้ในบ้าน และยังเอามาเพิ่มเรื่อยๆทั้งที่ไม่มีที่เก็บ
- ไม่สามารถตัดสินใจที่จะทิ้งของได้ หรือรู้สึกลำบากใจที่จะทิ้ง แม้ว่าสิ่งของนั้นจะไม่จำเป็นและไม่มีค่าก็ตาม
- รู้สึกหงุดหงิดใจ ไม่สบายใจเมื่อต้องทำการทิ้งของ มีความคิดและการกระทำที่หมกมุ่น เช่น กลัวว่าถ้าทิ้งสิ่งใดไปแล้ว ในอนาคตจะไม่มีใช้ เมื่อเผลอทิ้งสิ่งใดไปก็จะรีบไปเช็กดูที่ถังขยะแล้วเอากลับคืนมาทันที
- ไม่ไว้ใจ หวาดระแวงคนอื่นจะมายุ่งกับสมบัติของตน
- ไม่สามารถดำเนินชีวิตอย่างปกติได้ เช่น แยกตัวออกจากสังคม, มีปัญหากับคนภายในครอบครัว เรื่องการจัดเก็บสิ่งของ
ข้อมูลโดย ผศ.พญ.ทานตะวัน อวิรุทธ์วรกุล ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความรู้ว่า คนที่ชอบเก็บสะสมสิ่งของถือเป็นโรคทางจิตที่ควรรักษา เพราะการเก็บหมักหมมสิ่งของเอาไว้ อาจก่อให้เกิดการสะสมของเชื้อโรคได้ ต่อมาก็ยังส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุภายในบ้านได้ง่ายอีกด้วย อาจเกิดร่วมกับอาการทางจิตอื่นๆ ได้แก่ โรคซึมเศร้า โรคย้ำคิดย้ำทำ โรควิตกกังวล หรือโรคกลัวการเข้าสังคม เป็นต้น
สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ระบุโรคเก็บสะสมของจะมีลักษณะเรื้อรัง ไม่หายขาด แต่สามารถรักษาให้อาการดีขึ้นได้ โดยในปัจจุบันวิธีรักษาโรคเก็บสะสมของนั้นนิยมรักษาอยู่ 2 แนวทางคือ
- ใช้ยาต้านเศร้า (antidepressant) เพื่อลดความเครียดและความหมกมุ่นในการสะสมของ อย่างไรก็ตามวิธีนี้ได้ผลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
- พฤติกรรมบำบัด เป็นหนึ่งในวิธีรักษาอาการทางจิตที่ค่อนข้างเป็นที่นิยมและค่อนข้างได้ผลพอสมควร โดยเป็นวิธีที่มุ่งเน้นฝึกทักษะการตัดสินใจให้ผู้ป่วยสามารถจัดการเก็บหรือทิ้งสิ่งของในครอบครองได้อย่างมีเหตุผลยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตามหากพบคนใกล้ตัวมีพฤติกรรมดังกล่าวอย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจว่าเขาเป็นคนสกปรกหรือผิดแปลก เพราะนั้นอาจเป็นโรคทางจิตเวชที่ควรได้รับการรักษา หรือหากรู้ตัวว่าเข้าข่ายการหาตัวช่วยอย่างปรึกษาคนใกล้ตัว หรือจิตแพทย์ก็ไม่ใช่เรื่องผิดเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ขอบคุณข้อมูล : กรมสุขภาพจิต
ภาพจาก : freepik
ป่วยจิตเวชห้ามขาดยาโดยเด็ดขาด ย้ำอาการดีขึ้น ยังไม่ได้แปลว่าหายขาด!
เช็ค 7 สัญญาณโรคทางจิตเวช พบ 1 ข้อควรปรึกษาจิตแพทย์